ติดตามอีก 5 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ปี พ.ศ. 2567 ต่อจาก ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ปี 2567 (EP.1)” เช่นเดียวกับในตอนที่แล้ว เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์อีก 5 เรื่องนี้ ไม่มีการจัดอันดับความสำคัญ เพราะทุกเรื่องมีความสำคัญทัดเทียมกันหมด

(6) ควอนตัมคอมพิวเตอร์ : คิวบิต VS ผลอย่างเป็นรูปธรรม

ควอนตัมคอมพิวเตอร์สร้างกระแสความตื่นเต้นกับการเปิดตัวของควอนตัมคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ ของ Google คือ Sycamore เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่อ้างว่าสามารถแก้โจทย์ปัญหาโดยใช้เวลาเพียง 200 วินาที ในขณะที่คอมพิวเตอร์เร็วที่สุดในโลกที่มีอยู่ จะต้องใช้เวลา 10,000 ปี ตามมาด้วยการเปิดตัวควอนตัมคอมพิวเตอร์ของหลายบริษัทหรือห้องแล็บและหลายประเทศ

ความแตกต่างสำคัญของควอนตัมคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์แบบเก่าทั้งหมดที่มักเรียกรวมๆ เป็นคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิก (แม้แต่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีใช้กันอยู่) คือ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำงานโดยใช้ฟิสิกส์ควอนตัมของอะตอม ส่วนคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิกทำงานโดยใช้ทรานซิสเตอร์ตามคลาสสิกฟิสิกส์

ในขณะที่คอมพิวเตอร์แบบคลาสสิกทำงานด้วยระบบบนฐานเลข 2 ตัว คือ 0 กับ 1 ควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำงานด้วยระบบบนฐาน quantum bit หรือคิวบิต (qubit) ที่นอกเหนือไปจากการใช้รหัสบนฐานเลข 0 กับ 1 แล้ว ก็ยังใช้สมบัติเชิงควอนตัม คือ ใช้รหัส 0 กับ 1 พร้อมๆ กันได้ตามหลักของการทับซ้อน (superposition) ของอนุภาค และการพัวพันหรือการเอนแทงเกิลเมนต์ (entanglement) ของอะตอมหรืออนุภาคตามหลักของฟิสิกส์ควอนตัม ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วหลายการคำนวณพร้อมกัน มิใช่ทำงานตามลำดับเชิงเส้นของคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิก

...

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีกระแสความตื่นตัวอย่างมากมายในการลงทุนและพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งตลอดปี พ.ศ. 2566 ด้วย

สำหรับแนวโน้มใหญ่ในปี พ.ศ. 2567 คาดว่า กระแสการเร่งระดมทุนและการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ก็จะยังเป็น “ข่าวใหญ่” ต่อไปอีก แต่จะมีกระแสที่เริ่มส่งเสียงดังและชัดเจนขึ้น คือ การเรียกหา “ผลงานอย่างเป็นรูปธรรม” จากควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่มีขนาด (คิวบิต) ใหญ่ขึ้นอีก และศักยภาพน่าตื่นเต้นขึ้นอีก

ผลงานอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อยตอบสนองเป้าหมายหลักเร่งด่วนอย่างเป็นรูปธรรมของควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมี 4 ด้านใหญ่ๆ คือ :

(1) Cryptocraphy การเข้าและถอดรหัสลับ เพื่อรักษาความลับของระบบธนาคารและความมั่นคงของประเทศ
(2) Optimization problem การตัดสินใจกับปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อให้ได้คำตอบดีที่สุดสำหรับธุรกิจหรือโครงการที่ใหญ่และซับซ้อน
(3) Artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์
(4) Drug Discovery การค้นพบยาชนิดใหม่ๆ

(7) จีนส่งยานฉางเอ๋อ 6 เก็บตัวอย่างดินหินดวงจันทร์ด้านมืด

จีนเดินหน้าเตรียมการส่งยานฉางเอ๋อ 6 (Chang’e 6) ไปเก็บตัวอย่างดินหินดวงจันทร์ด้านมืดหรือด้านไกลในปี พ.ศ. 2567 สู่เป้าหมายใหญ่ที่สุด คือ การส่งมนุษย์ไปปักหลักตั้งถิ่นฐานถาวรบนดวงจันทร์ ในทศวรรษ 2530 (ทศวรรษเริ่มต้น พ.ศ. 2573)

จีนนับเป็นประเทศน้องใหม่ในการสำรวจและบุกเบิกระบบสุริยะ แต่ประสบความสำเร็จในภารกิจสำรวจและบุกเบิกดวงจันทร์ และดาวอังคาร เร็วกว่าแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสำรวจและบุกเบิกดวงจันทร์

โครงการสำรวจดวงจันทร์จีน (ซีแอลอีพี : CLEP : Chinese Lunar Exploration) หรือ โครงการฉางเอ๋อ (Chang’e Project) ภายใต้การดำเนินงานขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน ซีเอ็นเอสเอ (CNSA : Chinese National Space Administration) เริ่มต้นกับฉางเอ๋อ 1 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 เป็นการส่งยานฉางเอ๋อ 1 ไปโคจรรอบดวงจันทร์

ตามมาด้วยฉางเอ๋อ 2 ในปี พ.ศ. 2553 

ยานฉางเอ๋อ 3 และ รถโรเวอร์ยูทู 1 (Yutu 1) ลงสำรวจดวงจันทร์ พ.ศ. 2556-2557

ยานฉางเอ๋อ 4 และ รถโรเวอร์ยูทู 2 ลงสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ พ.ศ. 2561-2562

ยานฉางเอ๋อ 5 ลงสำรวจและเก็บตัวอย่างดินหินดวงจันทร์เกือบ 2 กิโลกรัม กลับมายังโลก พ.ศ. 2563

สำหรับปี พ.ศ. 2567 องค์การอวกาศแห่งชาติจีนมีแผนจะส่งยานฉางเอ๋อ 6 เพื่อสำรวจดวงจันทร์ และเก็บตัวอย่างดินหินดวงจันทร์กลับมายังโลกเป็นครั้งที่สอง โดยจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของทุกประเทศ ที่ไปลงสำรวจและเก็บตัวอย่างดินหินดวงจันทร์จากทางด้านมืดหรือด้านไกลของดวงจันทร์

...

ตามแผนขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน ยานฉางเอ๋อ 6 จะเดินทางไปลงสำรวจดวงจันทร์ด้านมืดใกล้หลุมอุกกาบาตอะพอลโลที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เก็บตัวอย่างดินหินจากดวงจันทร์บริเวณด้านใต้ของหลุมอุกกาบาตกลับมายังโลกประมาณสองกิโลกรัม โดยคาดหวังจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของดวงจันทร์ หรือประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์ จากดินหินใกล้หลุมอุกกาบาต ที่กระเด็นจากระดับความลึกประมาณสองเมตร แล้วส่งกลับมายังโลก

ยานฉางเอ๋อ 6 จะปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์เป็นเวลาประมาณ 53 วัน

หลังฉางเอ๋อ 6 องค์การอวกาศจีนมีแผนกับภารกิจบุกเบิกดวงจันทร์ กับฉางเอ๋อ 7 ในปี พ.ศ. 2569 และฉางเอ๋อ 8 ในปี พ.ศ. 2571 สู่เป้าหมายการส่งมนุษย์อวกาศชุดแรกของจีน ลงสู่ดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ. 2572 (ค.ศ. 2029) หรือ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

ฉางเอ๋อเป็นชื่อของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ตามเทพปกรณัมของจีน

...

(8) ผลงานการค้นพบใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ไทย

ปลายปี พ.ศ. 2566 ข่าวสำคัญข่าวหนึ่งในวงการดาราศาสตร์โลก คือ การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ครั้งแรกของนักดาราศาสตร์ไทย แห่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ของไทยและของเครือข่ายหอดูดาวหลายแห่งทั่วโลก

ผลงานของนักดาราศาสตร์ไทยดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบัน ที่สามารถทำงานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกได้

นอกเหนือไปจากศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยแล้ว นักวิทยาศาสตร์ไทยทางด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านการแพทย์ ก็มีผลงานสำคัญระดับแนวหน้าและของโลกออกมาเป็นประจำ

สำหรับทางด้านฟิสิกส์ โดยโครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทำให้นักฟิสิกส์ไทยได้มีโอกาสทำงานการวิจัยทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูงที่เซิร์น (CERN) ซึ่งเป็นศูนย์การวิจัยนิวเคลียร์พลังงานสูงใหญ่ที่สุดของยุโรปและของโลก อยู่ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และซึ่งมีเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC : Large Hadron Collider) เพื่อศึกษาการชนกันของลำอนุภาคโปรตอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบเท่าแสง

นอกเหนือไปจากฟิสิกส์ทดลองดังเช่นที่เซิร์นแล้ว ก็ยังมีนักฟิสิกส์ทฤษฎีไทย ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ที่กำลังทำงานการวิจัยทางด้านฟิสิกส์ทฤษฎีระดับแนวหน้าจำนวนมาก

ชีวเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นอีกด้านของวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยมีทั้งศักยภาพและผลงานสำคัญระดับแนวหน้า

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและจับตากันว่า จะมีการค้นพบหรือผลการวิจัยใหม่ๆ ที่สำคัญอะไรบ้าง จากนักวิทยาศาสตร์ไทยในปี พ.ศ. 2567

...

(9) 5 แนวโน้มใหญ่การบริการสุขภาพ

ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ องค์กรและผู้บริหารองค์กรเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องพยายามตั้งหลักปรับตัวและวางแผนต่อไป หลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 แล้วสำหรับปี พ.ศ. 2567 ล่ะ?

ตามบทวิเคราะห์แนวโน้มปี 2567 โดยผู้บริหารฝ่ายการบริการด้านสุขภาพของ ดีลอยท์ (Deloitte) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เสนอ 5 แนวโน้มใหญ่ที่ต้องจับตากันสำหรับปี พ.ศ. 2567

ดีลอยท์ เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งใหญ่ที่สุดในโลก ให้บริการด้านการบัญชีและที่ปรึกษา การสอบบัญชี การวางแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและอื่นๆ แก่รัฐบาล, เอกชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมีฐานประกอบการอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานประมาณ 750 แห่งในประมาณ 150 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ตามบทวิเคราะห์ของดีลอยท์ สถานการณ์ในปี พ.ศ. 2567 จะยังคล้ายคลึงกับในปี พ.ศ. 2566 ที่องค์กรด้านบริการสุขภาพต้องพยายามตั้งหลัก เพื่อเดินหน้าต่อ หลังวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โดยก็มีทั้งส่วนเป็นแนวโน้มที่ดี และส่วนที่ยังกังวลกันอยู่

ในขั้นต้น ความเชื่อมั่นของผู้บริหารระบบสุขภาพ (health system executive) และผู้บริหารแผนสุขภาพ (health plan executive) ที่มองแนวโน้มสำหรับปี พ.ศ. 2567 ในด้านบวก มีเพียง 3% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งลดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมาไปมาก

สำหรับแนวโน้มใหญ่ในปี พ.ศ. 2567 มี 5 ปัจจัยต้องจับตากัน คือ :

หนึ่ง : การควบรวมโรงพยาบาลและระบบสุขภาพ ในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 การควบรวมโรงพยาบาลและระบบสุขภาพ ได้ลดลงอย่างมาก หลังโควิด-19 การควบรวมก็ได้กลับมาคึกคักขึ้นใหม่และคาดว่า จะยิ่งคึกคักมากขึ้นในปี พ.ศ. 2567 แต่ปัญหาใหญ่ที่ยังต้องเฝ้าระวังก็คือ การบริหารจัดการการควบรวมที่เกิดขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพ

สอง : บทบาทของเจเนอเรทีฟเอไอและดิจิทัลเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นไปอีก (จากที่มากขึ้นแล้วในช่วงปีที่ผ่านไป) สำหรับการทำงานของระบบสุขภาพโดยภาพรวม โดยมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบเจเนอเรทีฟ (เจเนอเรทีฟเอไอ) ที่จะต้องถูกจับตามอง ทั้งในด้านบวก (ประสิทธิภาพในการใช้รหัสลับ) และผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์

สาม : ความท้าทายด้านบุคลากร ความท้าทายใหญ่ คือ ผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยประเด็นใหญ่ที่ต้องเผชิญปัญหาสำหรับผู้บริหาร คือ การรักษาบุคลากรเก่าที่มีคุณค่า การสรรหาบุคลากรใหม่ที่มีทักษะสำคัญและเป็นประโยชน์ แล้วก็การจัดการกับบุคลากรซึ่งถูกมองเป็น “ส่วนเกิน” หรือ “ไม่จำเป็น”

สี่ : “การจ้างงานจากภายนอก” และ “การย้ายถิ่น” ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี, แหล่งรับงานจากภายนอกที่เพิ่มมากขึ้น, ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในการบริหารจัดการและดำเนินงานของระบบ, ความแตกต่างของ “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการดำเนินงานระบบในประเทศต่างๆ จะเป็นปัจจัยที่ต้องจับตากันมากขึ้นในปี พ.ศ. 2567 สำหรับการใช้บริการของระบบสุขภาพจากภายนอก (outsourcing) และการย้ายสำนักงานหรือศูนย์กลางของระบบไปประเทศอื่น

ห้า : “กำลังจ่าย” และ “ความสะดวก” ของผู้ใช้บริการสุขภาพ ปัจจัยใหญ่ที่สุดสำหรับการใช้บริการสุขภาพของ “ลูกค้า” คือ “กำลังจ่าย” และ “ความสะดวก” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้บริหารระบบสุขภาพและผู้บริหารแผนสุขภาพจะต้องคำนึง เป็นโจทย์ที่ “ยาก” และมีผลต่อการเติบโตหรือไม่ของระบบสุขภาพ

(10) เปิดตัวรถ BMW ขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ BMW ประกาศเปิดตัวรถระบบขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ ระดับ 3 เพิ่มความคึกคักสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ

ตามประกาศของบริษัทผู้ผลิต รถยนต์ BMW ในเยอรมนี บริษัทจะเริ่มเปิดให้มีการสั่งจองรถยนต์ล่วงหน้า (pre-order) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และผู้สั่งจองจะได้รับรถตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

รถ BMW รุ่นเปิดจองนี้ จะติดระบบการขับเคลื่อนอย่างอัตโนมัติด้านรถเองในระดับ 3 จากระดับ 1 ต่ำสุดถึงระดับ 5 สูงสุด โดยระดับหมายถึง ขีดความสามารถของรถยนต์ที่ระดับสูงสุดคือ 5 หมายถึงระบบรถควบคุมการทำงานทั้งหมดของรถเองอย่างเต็มร้อย โดยเจ้าของรถไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการควบคุมรถเลย แม้แต่อยากจะหลับ ก็ทำได้

สำหรับระดับ 3 หมายถึง ระดับกึ่งอัตโนมัติ ที่ในสภาพปกติ เจ้าของรถก็ไม่ต้องเอาใจใส่กับการขับรถ สามารถทำงานอย่างอื่นๆ แต่เมื่อจำเป็น ก็สามารถจะควบคุมรถได้เอง

แต่รถ BMW ที่จะได้ใช้กัน ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ก็ยังมีขีดจำกัดสำหรับการใช้งานอยู่มาก เช่น จะมีความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ขับเคลื่อนได้เฉพาะบนถนนมอเตอร์เวย์ มิใช่ถนนในเมืองทั่วไป ที่เจ้าของรถก็จะต้องขับรถเอง

ที่มารูป https://www.bmw.co.th
ที่มารูป https://www.bmw.co.th

ระดับ 3 ที่ BMW ใช้ เป็นระดับตามข้อกำหนด เป็นมาตรฐานของเอสเออี (SAE : Society of Automobile Engineers) สำหรับรถขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 รถ Mercedez Benz ของเยอรมนี ก็เปิดตัวเป็นรถขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติแรกของเยอรมนี เป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 เช่นเดียวกับของ BMW แต่จากการทดลองตลาด พบว่า ยังมีขีดจำกัดในการใช้งานที่จะต้องปรับปรุงต่อไปอีก

ถึงแม้รถขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ จะมิใช่รถสำหรับคนทั่วไปหรือตลาดรถส่วนใหญ่ แต่ได้รับความสนใจในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้าของรถยนต์สู่อนาคต

บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ทั่วโลก ล้วนมีโครงการพัฒนาและผลิตรถขับเคลื่อนเองอย่างอัตโนมัติ ดังเช่น TESLA ของ อีลอน มัสก์ ก็มีรถขับเคลื่อนเองในระดับ 2 และถึงแม้ อีลอน มัสก์ จะประกาศว่า กำลังจะถึงระดับ 4 หรือ 5 แล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีจำเป็นสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนเอง คือ ระบบ GPS ที่แม่นยำ, การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 5G, กล้อง, เซนเซอร์อัลตราโซนิก และไลดาร์ (lidar) เซนเซอร์บอกระยะทางด้วยเลเซอร์