กูรูด้านสภาพอากาศ แนะนำ เกษตรกร รับมือร้อนและแล้งในปี 2567 ให้เตรียมแผนรับมือโดยเฉพาะเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ห่วงในพื้นที่ภาคใต้

ทุกๆ วันจันทร์ ไทยรัฐออนไลน์ โดยทีมข่าวเฉพาะกิจ จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกพืช ตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เทคนิค เคล็ดลับต่างๆ แต่สำหรับปีใหม่ 2567 นี้ ขอนำเสนอ “ภาพรวม” การเพาะปลูก รวมถึงแนวทาง และการคาดการณ์สภาพอากาศ ซึ่งถือเป็น “คำแนะนำ” สำหรับการปลูกพืชในปีนี้ ที่ “อาจจะ” ต้องเจอสภาพอากาศที่ร้อน หรือ แล้ง กว่าปีที่ผ่านมา แม้จะมีการคาดการณ์ว่า อาจจะไม่หนักหนา ดังที่คาด

การวางแผนการปลูกพืช 2567

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ข้อมูลว่า ช่วงครึ่งปีแรก คือ ตั้งแต่ มกราคม-มิถุนายน ซึ่งหลังจากผ่านต้นปีไปแล้ว อากาศในบ้านเราจะร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า จะเป็นช่วงที่ “ท้าทาย” สำหรับการปลูกพืช และผลิตสินค้าการเกษตร รวมไปถึงปศุสัตว์และประมงด้วย จะเกิดภาวะ “แล้ง” ในหลายพื้นที่ แปลว่าจะมีฝนลดน้อยลง กว่าค่าเฉลี่ยปกติ หมายความว่า มีโอกาสจะลากยาว จากเมษายน ไปถึงมิถุนายน

การกักเก็บน้ำ : สิ่งที่เกษตรกรทุกภาคต้องเตรียมรับมือ คือ การจัดหาแหล่งน้ำ หรือหากเวลานี้ยังมีฝนตกอยู่ก็ต้องเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด  

“คนไทย จำนวนมาก เป็นประเภท ที่ปล่อยให้ฝนตกแล้ว ปล่อยทิ้งขว้าง ไม่สามารถจัดเก็บได้ นี่คือเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องลดความผันผวน คือ ต้องเก็บให้ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว

...

ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ : นอกจากเก็บน้ำให้ได้แล้ว ต้องรู้จัก “การใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยเฉพาะการปลูกข้าว เราต้องเรียนรู้จักการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งการปลูกแบบนี้ นอกจากจะใช้น้ำน้อยแล้ว ยังลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะมีการปล่อยก๊าซมีเทน

คัดเลือกสายพันธุ์พืชที่ทนร้อนได้ : ที่สำคัญ คือ การเลือกปลูกพืช เช่น เลือกปลูกพืชที่สามารถทนร้อนได้ ยกตัวอย่าง ข้าวบางสายพันธุ์ จะทนร้อนได้ดีกว่า

คลุมดิน : การรักษาความชื้นให้กับดิน ถึงแม้ว่าเราจะมีน้ำน้อย แต่สามารถรักษาความชื้นได้นานก็ช่วยได้ เช่น การนำฟาง หรือ เศษหญ้า มาช่วยคลุมไว้ เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนจัด หรือ เข้าขั้นแล้ง แต่เราใช้หญ้าคลุมไว้ มันจะช่วยได้

อาจารย์วิษณุ กล่าวสรุปว่า ประเด็นหลักของปีหน้า คือ เรื่องน้ำ ฉะนั้น อุปทาน คือ การจัดหา การใช้ให้ถูกอย่างรู้คุณค่า

เกษตรเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กูรูด้านสภาพอากาศ จาก ม.เกษตรฯ แนะนำว่า เกษตรกรยุคนี้ต้องรู้จักใช้เครื่องมือที่มีให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ “แนวทางเกษตรเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศ” ตอนนี้ถือเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งการใช้แนวคิดดังกล่าว จะมีประโยชน์ 3 อย่าง

1. ใช้แล้วจะทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น

2. ลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หากเข้าข้อใดข้อหนึ่งนี้ ก็ถือว่าเป็นการเกษตรเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ทำให้รายได้เพิ่ม เพราะได้ข้าวเพิ่มขึ้น, ใช้น้ำน้อยลง แปลว่า ลดความเสียหายได้ หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกรมการข้าวบอกแล้วว่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงๆ

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การให้ปุ๋ย ตามการวิเคราะห์ค่าดิน หมายความว่า ในที่ดินของคุณเป็นแบบไหน แล้วให้ตามความต้องการ ก็จะเป็นการประหยัดค่าปุ๋ย.... ที่ผ่านมา คนไทยมักให้ปุ๋ย “เกินความจำเป็น” ซึ่งการให้น้อยลง แปลว่า ประหยัดเงิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย เพราะ ปุ๋ย คือ ส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“การให้ปุ๋ยเยอะไปไม่มีประโยชน์ และการให้ในช่วงหน้าแล้ง ก็จบ...เพราะมันละลายลงดินไม่ได้”

...

แอปพลิเคชันอากาศ : การตรวจสอบสภาพอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกพืช เท่าที่มีการลงพื้นที่พบว่า เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ใช้ ดังนั้น แค่ปรับใช้ก็ทำให้เรารู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งการตรวจสอบสภาพอากาศ สามารถทำได้หลายแหล่ง ทั้งกรมอุตุฯ หรือแม้แต่ แอปฯ ของต่างประเทศ

“การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตร เช่น การตรวจโรคและแมลง จาก ไลน์ “บอตโรคข้าว” (Rice Disease Bot) แค่ถ่ายรูปข้าว ไลน์ก็จะเด้งบอกเลยว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งถือเป็นการใช้ AI เข้ามาช่วย แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ทุกพืชก็ตาม แต่มันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้”

หน้าร้อน มักถูกโจมตีด้วยแมลงศัตรูพืช

อาจารย์วิษณุ เตือนว่า อากาศร้อน พืชของเรามักจะอ่อนแอเป็นทุนเดิม บวกกับมีโอกาสเจอแมลงเข้าโจมตีได้มากกว่าปกติ สิ่งที่ตามมา คือ เกษตรกรจะเลือกใช้ยาฆ่าแมลง  

ภาคใต้น่าห่วง ต้องระวังมากกว่าภาคอื่น

ปีหน้าร้อนแน่ ร้อนกว่าปีที่ผ่านมา แบบฟันธง! เพราะปีที่ผ่านมา คือร้อนมากที่สุดในรอบ 174 ปี แต่...จะถึงขั้น “แล้ง” หรือไม่ แยกเป็น 2 ส่วน

...

1. การเกษตรในพื้นที่ชลประทาน อาจจะรอด ไม่ถึงขั้นแล้ง (26% ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ)

2. การเกษตรนอกชลประทาน มีโอกาสเจอแล้ง (74% ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ )

ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังได้ คือ น้ำฝน, บ่อน้ำ (ส่วนมากขนาดเล็ก) ถึงแล้งนาน บ่อน้ำก็ไม่พอ

สิ่งที่เป็นห่วง คือ เหล่าเกษตรกรมือใหม่ ที่เลือกจะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ก็มักที่จะฝืนปลูก สินค้าเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ก็ปลูกนอกเขตชลประทานจำนวนมาก

“ในพื้นที่ภาคใต้ มีพื้นที่ชลประทานน้อยมาก และโดยมากมักปลูกพืชมูลค่าเพิ่มสูง หมายถึงพืชที่มีราคาสูง เช่น ทุเรียน ที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี คือ เบอร์ 2-3 ของการปลูกทุเรียน รองจากจันทบุรี นอกจากนี้ ยังเลือกปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะให้ผลผลิต หากเจอสภาพอากาศร้อนแล้วตาย มันจะส่งผลหนักกว่า พืชอื่นๆ โดยจากแบบจำลองของผม ก็คาดว่าภาคใต้อาจได้รับผลกระทบเยอะ แต่ถ้าให้ดูระยะสั้น ก็อาจจะไม่แล้งหนัก เพราะคาดว่า ฝนอาจจะมาดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ดังนั้น เมื่อถามว่า แล้งไหม อาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่ร้อน...แน่นอน!”

เมื่ออากาศร้อน จะส่งผลต่อ ทุเรียน มันทำให้ดอกร่วง ดอกร่วงแปลว่า ผลผลิตจะน้อยลง ส่วนปาล์มน้ำมัน มีโอกาสที่จะสุกเร็วขึ้น และสุกไม่ทั่ว มันส่งผลต่อคุณภาพของผลปาล์ม และมีปัญหาเรื่องระยะเวลา การสุกเร็ว อาจจะทำให้ผลผลิตมีมากส่งผลต่อราคา

...

13 พืชเศรษฐกิจ ปลูกในพื้นที่เหมาะสมน้อย สูงถึง 39%

อาจารย์วิษณุ กล่าวว่า เชื่อไหม...ว่าพืชเศรษฐกิจของไทย 13 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว และกาแฟ ปลูกในพื้นที่เหมาะสมน้อยถึง 39%  

“การปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมทั้งดินและน้ำ หากเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จะมีโอกาสได้รับความเสียหายมากกว่า กลับกัน หากปลูกในพื้นที่เหมาะสม มันจะสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชได้มากกว่า...”

ความล้มเหลวนโยบายภาครัฐในการแก้ปัญหาเกษตร

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะการช่วยเหลือของภาครัฐ แปลว่า เกษตรกรจะปลูกพืชแบบไหน ก็มีเงินให้

นโยบายนี้ ถือเป็นนโยบายที่ไม่ควรนำมาใช้แบบถาวร เพราะการทำแบบนี้เกษตรกรจะไม่ปรับตัว การช่วยเหลือ ควรช่วยแบบมีเงื่อนไข เช่น นำเงินไป ปีหน้าต้องปลูกพืชอื่น หรือ ทำอะไรสักอย่างเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการปลูกพืช หากไม่ทำอะไร ภาครัฐจะต้องเสียเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ เกษตรกรบ้านเรา ชอบปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งถือเป็นเรื่องผิด เพราะจากงานวิจัยค้นพบแล้วว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู้การปลูกพืชหมุนเวียน หรือ ผสมผสานไม่ได้ เพราะการปลูกพืชชนิดเดียว มันจะทำให้ดินเสื่อม

ฉะนั้น การปลูกพืชหมุนเวียน หรือ ผสมผสาน นอกจากจะทำให้แก้ปัญหาเรื่องดินได้ ยังเพิ่มเงินในกระเป๋าเกษตรกรด้วย 92% กับจากการปลูกข้าว และพืชอื่นๆ ผสม ได้เงินมากกว่า การปลูกข้าวอย่างเดียว

“เกษตรกร ควรจะปลูกพืชหมุนเวียน หรือ ผสมผสานให้มากขึ้น ถึงจะอยู่รอดได้ เพราะทำแล้วดินจะดี เมื่อดินดี แม้จะเจอสภาพอากาศเลวร้ายก็อาจทำให้รอดได้”

อาจารย์วิษณุ กล่าวว่า รูปแบบนโยบาย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย เนื่องจากหนี้สินเกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการปรับนโยบายในการช่วยเหลือ ส่งเสริมในการใช้นวัตกรรมเกษตร ผ่านการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ให้เงินแล้วเพื่อปรับตัว

ส่วนเทคโนโลยีเกษตรฯ ที่มีราคาแพง เช่น โดรน หรือรถเกี่ยวข้าว ก็ตาม เกษตรกร ที่มีฐานะจะเอาตัวรอดไปได้ แต่สำหรับเกษตรที่ยากจน มีที่ดินน้อย จะไปต่อลำบาก รัฐจึงเข้าช่วยการเข้าถึงเกษตรดิจิทัล เรื่องนี้ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ให้พื้นที่นั้นๆ มีผู้ให้บริการสิ่งเหล่านี้ ถ้าเอกชนลงทุน และมีการเช่าใช้ แบบนี้เกษตรกรจะเข้าถึง แต่ในความเป็นจริง คือ ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรซื้อเอง แล้วเขาจะเอาเงินจากไหนมาซื้อ สุดท้ายก็จบลงที่แรงงานเช่นเดิม...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ