ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ปี 2567 “มาพบกับท่านผู้อ่านในชุดสกู๊ปพิเศษ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นครั้งที่ห้า เพื่อการก้าวเข้าสู่โลกปี พ.ศ. 2567 อย่างมีความคาดหวัง มีความหมายและไม่ประมาท โดยแบ่งเป็นสองตอนเช่นเคย ตอนละ 5 เรื่อง สำหรับลำดับความสำคัญของเรื่องทั้ง 10 ผู้เขียนไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญทัดเทียมกัน

(1.) เวลาใหม่ปี 2567 ของนาฬิกาวันสิ้นโลก

หนึ่งในข่าวหรือเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2567 คือ การปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday clock)

เมื่อปี พ.ศ. 2566 ข่าวใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 คือ การปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลกเป็น 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน เร็วกว่าเวลาเข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุดที่ 100 วินาที ที่ยืนยงคงที่อยู่นานถึงสามปีในปีพ.ศ. 2563, 2564 และ 2565 และหวังกันว่า นาฬิกาวันสิ้นโลกจะไม่เข้าใกล้เที่ยงคืนมากกว่านั้น

แต่นาฬิกาวันสิ้นโลกปี พ.ศ. 2566 ก็เตือนว่า ภัยที่คุกคามโลกและมนุษยชาติ ได้เข้ามาใกล้มากที่สุดตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลก เมื่อปี พ.ศ. 2490 ที่เวลา 7 นาทีก่อนเที่ยงคืน จากภัยนิวเคลียร์ ที่ประเทศมหาอำนาจแข่งขันกันสร้างระเบิดนิวเคลียร์

เมื่อแรกเริ่ม การตั้งนาฬิกาวันสิ้นโลก ขึ้นอยู่กับปัจจัยใหญ่เพียงอย่างเดียว คือ ภัยนิวเคลียร์
มาในปัจจุบัน ปัจจัยต่อการปรับตั้งเวลาใหม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เพิ่มจากภัยนิวเคลียร์อีก 3 อย่าง คือ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภัยโลกร้อน (2) การคุกคามทางชีวภาพ และ (3) เทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน หรือ disruptive technology

...

สำหรับปี พ.ศ. 2567 ก็ต้องจับตาดูกันว่านาฬิกาวันสิ้นโลก ที่จะปรับตั้งใหม่ในเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็นอย่างไร ?

แนวโน้มเป็นได้ 3 อย่างคือ (1) คงที่อยู่ที่ 90 วินาทีถึงเที่ยงคืน (2) ปรับตั้งเวลาใหม่เข้าใกล้เที่ยงคืนมากกว่า 90 วินาทีเข้าไปอีก และ (3) ปรับตั้งเวลาใหม่ถอยห่างจากเที่ยงคืนกว่า 90 วินาที

เมื่อพิจารณาดูปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก ก็น่ากังวลทีเดียวว่าการปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก จะแสดงผลออกมาที่มิใช่ข่าวดีนัก เพราะภัยสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มจะไม่ยุติลงง่ายๆ
แล้วก็มีปัจจัยความรุนแรงใหม่ในปีพ.ศ. 2566 จากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

สำหรับปัจจัยเกี่ยวกับโลกร้อน ผลการประชุมโลกร้อนคอป 28 (COP 28) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผลออกมาก็ไม่เอื้อการแก้ปัญหาโลกร้อนนัก และจึงไม่เอื้อต่อการปรับตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลกให้ถอยห่างจากเที่ยงคืนมากขึ้น

(2.) มิชชันอาร์เทมิส 2 พร้อมผู้โดยสารสู่ดวงจันทร์

ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ก็จะได้เห็นการเดินทางของยานอาร์เทมิส 2 (Artemis 2) ของนาซา พร้อมผู้โดยสาร 4 คนสู่ดวงจันทร์ ซึ่งก็จะเป็นครั้งแรกของนาซาที่นำมนุษย์กลับไปถึงดวงจันทร์ หลังจากครั้งล่าสุดที่นาซาได้ส่งมนุษย์ไปลงสู่ดวงจันทร์ กับอะพอลโล 17 เมื่อ 51 ปีก่อนในปีพ.ศ. 2515

หลังความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของโครงการอะพอลโล ที่นำมนุษย์ลงสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ 6 ครั้ง (กับ อะพอลโล 11, อะพอลโล 12, อะพอลโล 14, อะพอลโล 15, อะพอลโล 16 และอะพอลโล 17) นาซาก็มิได้ส่งยานหรือมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์โดยตรงอีกเลย จนกระทั่งล่าสุดมาถึงโครงการอาร์เทมิส ที่ได้เริ่มทดลองส่ง อาร์เทมิส 1 ไปถึงดวงจันทร์ และกลับคืนมายังโลกได้สำเร็จ ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 กับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า นาซาไม่มีแผนจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีก หลังอะพอลโล 17 เพราะจริงๆ แล้ว นาซายังมีโครงการอะพอลโลตามหลังอะพอลโล 17 อีกสามโครงการ คือ อะพอลโล 18, อะพอลโล 19 และ อะพอลโล 20

...

แต่ทั้งสามโครงการถูกระงับหมด หลังการเกิดอุบัติเหตุกับ อะพอลโล 13 (ถังออกซิเจนระเบิด) เมื่อปีพ.ศ. 2513 รวมทั้งปัญหาจากการถูกตัดงบประมาณของนาซา

จนกระทั่งล่าสุดถึงโครงการอาร์เทมิสที่มีเป้าหมาย...ใหญ่กว่าเดิมของนาซา... คือ เตรียมการเพื่อส่งมนุษย์ไปปักหลักอยู่อย่างถาวรบนดวงจันทร์

สำหรับอาร์เทมิส 2 นาซาได้คัดเลือกมนุษย์อวกาศแล้ว 4 คน ที่จะเดินทางไปกับอาร์เทมิส 2 คือ (1) รีด ไวส์แมน (Reid Wiseman) (2) วิกเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover) (3) คริสตินา คอกซ์ (Christina Coch) และ (4) เจเรมี แฮนเซน (Jeremy Hansen)

การเดินทางของอาร์เทมิส 2 ถึงแม้จะยังไม่มีมนุษย์ลงสู่ดวงจันทร์ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่มีมนุษย์เป็นผู้หญิงคนแรก คือ คริสตินา และคนผิวสีคนแรก คือ วิกเตอร์ ที่จะได้เดินทางไปถึงดวงจันทร์

(3.) จับตาสถานการณ์เจนเนอเรทีฟเอไอ

ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีที่เจนเนอเรทีฟเอไอเป็นศูนย์กลาง-เป้า-ความหวัง-ความกังวล ของบทบาทและผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์แบบเจนเนอเรทีฟ (generative artificial intelligence หรือ generative AI หรือ Gen-AI) ต่อวงการต่างๆ ทั้งธุรกิจ, สังคม, การศึกษา, ศิลปะ แล้วปีพ.ศ. 2567 ล่ะ ?

อย่างสั้นๆ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอโดยทั่วไป เป็นเทคโนโลยีเลียนแบบกระบวนการคิดของมนุษย์ได้ แต่เจนเนอเรทีฟเอไอเป็นปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสร้าง “สิ่งใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่เดิมได้ ดังเช่น ข้อความ, บทความ, ภาพ, เสียง, บทกวี, บทเพลง และนวนิยาย

ปี พ.ศ. 2566 บริษัทสตาร์ตอัปใหม่และผลิตผลใหม่ทางด้านเจนเนอเรทีฟเอไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Open AI ที่เปิดตัว ChatGPT ปลายปีพ.ศ. 2565 แล้วก็สร้างประวัติการณ์มีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านคนภายใน 5 วัน และ 100 ล้านคนภายในสองเดือน

...

แต่ก็เกิดกระแสการเตือนถึง ภัยคุกคามจากเจนเนอเรทีฟเอไอต่องานอาชีพเป็นจำนวนมาก และความเคลื่อนไหวของบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง อีลอน มัสก์ ผู้ร่วมก่อตั้งโอเพนเอไอบริษัทแม่ของ ChatGTP ก็ลาออก และเคลื่อนไหวถึงขั้นร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมายควบคุมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นอันตราย รวมถึงรายงานผลการศึกษาของ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) เตือนว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้คนทำงานทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนเสี่ยงต่อการตกงาน

สำหรับแนวโน้มในปี พ.ศ. 2567 ความคึกคักหรือไม่ของการ “รับ” และ “ใช้” เทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีแบบเดียวกัน แต่ไม่ “แปลกใหม่” ดังเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป กับเจนเนอเรทีฟปัญญาประดิษฐ์ขึ้นอยู่กับประโยชน์ต่อผู้ใช้ ซึ่งในกรณีของปัญญาประดิษฐ์ จะมีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์โดยทั่วไปของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปกับสิ่ง “ใหม่” ที่เทคโนโลยีดังเช่น เจนเนอเรทีฟเอไอจะให้

...

ดังนั้น สถานการณ์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยทั่วไป คาดได้ว่า จะเป็นเทคโนโลยีที่ “ใช้กันมากขึ้น” ทั้งองค์กรธุรกิจ, หน่วยงานทั่วไปทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงประชาชนทั่วไป

แต่สำหรับเทคโนโลยีแปลกใหม่ดังเช่น เจนเนอเรทีฟเอไอ คาดว่า สถานการณ์ในปีพ.ศ. 2567จะยัง “ฝุ่นตลบ” นั่นคือ จะมีทั้งที่ “เดินหน้าเต็มที่” ต่อไปตามเป้าหมายเดิม ดังเช่น ChatGTP รุ่นต่อๆ ไป

แล้วก็ยังมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบเจนเนอเรทีฟแบบใหม่ ที่มีเป้าหมายลดประเด็นที่ถูกจับตามองว่า “อันตราย” ดังเช่น บริษัทสตาร์ตอัป Anthropic ที่กำเนิดเมื่อปีพ.ศ. 2564 จากผู้เคยอยู่กับ OpenAI แล้วมาเปิด Anthropic โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการ “ไม่เป็นภัยหรืออันตราย” ต่อมนุษย์

แล้วก็มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ชนิดใหม่ของ อีลอน มัสก์ ที่ประกาศจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตามแบบที่เขาคิด

(4.) ดาวเทียมธีออส-2 ครบ 6 เดือนเพื่อเริ่มเปิดใช้บริการเต็มตัว

ดาวเทียม ธีออส-2 (Theos-2) เป็นดาวเทียมสำรวจโลกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566

หลังความสำเร็จในการส่งดาวเทียมธีออส-2 ขึ้นสู่อวกาศ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISDA) ผู้รับผิดชอบโครงการดาวเทียมธีออสของไทยกล่าวว่า :-

หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงานรวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดิน เพื่อความเสถียรภาพและความแม่นยำของข้อมูล โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จิสด้าจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศ ในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป

นับจากวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ที่ดาวเทียมธีออส-2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ก็จะครบ 6 เดือนของการปรับตัวของดาวเทียมธีออส-2 เพื่อการใช้ประโยชน์ของธีออส-2 ได้อย่างเต็มที่ต่อไป

ดาวเทียมธีออส-2 เป็นดาวเทียมดวงที่สองของโครงการดาวเทียมไทยธีออส (THEOS : Thailand Earth Observation Satellite) โดยที่ Theos เป็นคำกรีก หมายถึง God หรือ พระเจ้า

ดาวเทียมธีออสดวงแรก ได้รับพระราชทานชื่อโดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่า “ไทยโชต” (Thaichote) และดาวเทียมธีออสดวงแรก หรือไทยโชต ซึ่งได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีพ.ศ. 2556 ก็ยังปฏิบัติงานได้อยู่ถึงปัจจุบัน

การสร้างดาวเทียมไทยโชตและธีออส-2 เป็นการสร้างในต่างประเทศ โดยสำหรับไทยโชตทีมวิศวกรไทยเป็นผู้ร่วมสังเกตและศึกษา ส่วนธีออส-2 เป็นผลงานการสร้างโดยวิศวกรไทย

นอกเหนือไปจากดาวเทียมไทยโชตและธีออส-2 จิสด้ามีโครงการสร้างดาวเทียม ธีออส-2 เอ (Theos-2A) และ ธีออส-3 (Theos-3) โดยธีออส-2 เอ เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก สร้างในต่างประเทศโดยวิศวกรไทยและจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อร่วมทำงานกับดาวเทียมธีออส-2 ต่อไป

ส่วนธีออส-3 เป็นโครงการใหม่ ซึ่งจะสร้างโดยวิศวกรไทยล้วนๆ ในประเทศไทย และมีแผนจะส่งขึ้นสู่อวกาศได้ในปีพ.ศ. 2569 หรือ 2570

โครงการดาวเทียมธีออสเป็นโครงการแสดงถึงศักยภาพของวิศวกรไทย ในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ

(5.) จากประชุมโลกร้อนคอป 28 ที่ดูไบ สู่คอป 29 ที่กาบู ประเทศอาเซอร์ไบจาน

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 18 หรือ คอป 18 ที่ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ยุติลงโดยต้องขยายวันสุดท้ายจาก 12 ธันวาคม เป็นวันที่ 13 ธันวาคม เพราะการโต้เถียงกันอย่างหนักสำหรับการลงมติข้อตกลงสุดท้ายของ คอป 28 จากปัญหาการใช้คำเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งของโลก จึงไม่ต้องการให้มีคำว่า “เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ตามการเรียกร้องของประเทศ ดังเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศที่อยู่ชายฝั่งทะเลมหาสมุทร ซึ่งกำลังจะจมอยู่ใต้น้ำ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อนขึ้น และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

ในที่สุด ที่ประชุมจึงยอมผ่านข้อตกลง คอป 28 โดยมีคำสำคัญคือ “แผนการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” แทน “การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”

ถึงแม้เลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายไซมอน สตีลล์ (Simon Stiell) ผู้จัดการประชุม คอป 28 จะกล่าวในการปิดการประชุมว่า ข้อตกลง คอป 28 เป็น “beginning of the end of fossil fuel era” (“การเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล”) แต่ก็ดูจะไม่ทำให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจาก COP สำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อน

ความกังวลและความไม่แน่ใจนี้ จะยังคงอยู่ต่อไป และเป็นประเด็นสำหรับการประชุมคอปครั้งต่อไป คือ คอป 29 ที่ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นที่เมืองกาบู ประเทศสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานเป็นประเทศอยู่ที่ชายแดนยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตก มีชายแดนติดกับประเทศรัสเซีย ประเทศจอร์เจีย ประเทศอาร์เมเนีย ประเทศตุรกี และประเทศอิหร่าน มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศมีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก สินค้าส่งออกหลักของประเทศ คือ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งทำให้อาเซอร์ไบจานมีสภาพคล้ายกับอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับการประชุม คอป

ประเด็นเรื่องโลกร้อน เรื่องความพยายามที่จะปฏิบัติหรือไล่ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) จาก คอป 21 เมื่อปีพ.ศ. 2558 ที่กำหนดเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลก ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายอยู่แล้ว ก็จะเป็นประเด็นร้อนตลอดทั้งปี 2567 และเป็นประเด็นที่อาเซอร์ไบจานจะต้องเตรียมการรับมือสำหรับการประชุม คอป 29