วิเคราะห์ 3 ผลกระทบเศรษฐกิจไทย กับ ผอ.สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า น้ำมันแพง-เงินเฟ้อ-ส่งออกชะงัก หากความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ฮามาส' ขยายวง...

หลังสงครามระหว่าง 'อิสราเอล' และ 'ฮามาส' เปิดฉากขึ้น จนนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชากรชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำให้ตอนนี้ทั่วโลกต่างจับจ้องอย่างจดจ่อ ว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร เพราะหากสงครามขยายวงมากขึ้น ความสูญเสียก็จะเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจของโลกก็อาจจะต้องระส่ำระส่าย

หากพูดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก 'ไทย' ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบแน่นอน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ติดต่อไปถึง 'นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์' ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง รวมถึงวิเคราะห์-คาดการณ์ ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับไทย หากสงครามขยายตัว...

...

จากสถานการณ์ความขัดแย้งของ 2 ฝ่าย นายพูนพงษ์ ให้ความเห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน และสงครามแห่งความขัดแย้งขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น...

แม้ตอนนี้ความขัดแย้งยังคงอยู่ในพื้นที่จำกัด ในพื้นที่ของฉนวนกาซา และประเทศอิสราเอล แต่หากในอนาคตมีการแบ่งขั้วพันธมิตร และประเทศมหาอำนาจลงมาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน กระทั่งความขัดแย้งลุกลามจนเกิดความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อนั้นความไม่มั่นคงจะเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างแน่นอน เนื่องจากตะวันออกกลาง เป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และปุ๋ย การชะงักของห่วงโซ่อุปทานอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมไปทั่วโลก และไทยเองก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย...

‘นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์’ ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
‘นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์’ ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น :

นายพูนพงษ์ ทำความเข้าใจกับทุกคนว่า แม้อิสราเอลและปาเลสไตน์ จะไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของตลาดโลก แต่ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนเส้นทางคมนาคมสำคัญ อย่าง ช่องแคบฮอร์มุซ ที่เป็น 'จุดกักเก็บน้ำมัน' ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก

ซึ่งประเทศไทยนำเข้าพลังงานในสัดส่วนที่สูง โดยสินค้าหมวดพลังงานคิดเป็น 18.8% ของการนำเข้ารวม หากความขัดแย้งขยายวงกว้างสู่ 'สงครามระดับภูมิภาค' จนกระทั่งสหรัฐอเมริกา อิหร่าน และผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีท่าทีจะแทรกแซง-คว่ำบาตร จะทำให้แนวโน้มของราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและเกี่ยวเนื่อง อาจปรับราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้ประเทศไทยมีแนวโน้มขาดดุลการค้า

เงินเฟ้อ-อัตราดอกเบี้ยสูง คงอยู่ยาวนานขึ้น :

ความขัดแย้งที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น อาจทำให้ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเช่นกัน และหากเรื่องราวกลายเป็นแบบนั้น ก็อาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากราคา 'น้ำมัน' มีความเสี่ยงเพิ่มระดับสูงขึ้น ประกอบกับอัตราผลตอบแทนธนบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย อาจทำให้ธนาคารทั่วโลกต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

...

จากความเสี่ยงเดิม ทั้งความไม่สงบในยูเครน, การคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน, หนี้สาธารณะที่ขยายตัว หรือการขาดดุลการคลังที่มหาศาล ต่างก็ทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ดังนั้น นายพูนพงษ์ จึงกังวลว่า ผลจากความขัดแย้งที่อาจขยายตัว จะส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค และความสามารถในการกู้ยืมชำระหนี้ในระยะยาว ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงใหม่ต่อบรรยากาศที่น่ากดดันของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะถัดไป 

และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดพลังงาน ตลาดอาหาร การค้าโลก และความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นว่า จะทําให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงต่อไป สอดคล้องกับการคาดเดาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ที่มองว่าหากเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อ จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การส่งออกไทยไปตะวันออกกลางชะลอตัว : 

หากสงครามยืดเยื้อและขยายวงกว้าง สู่สงครามระดับภูมิภาคดั่งการคาดหมาย ผู้อำนวยการฯ มองว่า จะฉุดรั้ง GDP ภายในภูมิภาคให้ลดลง และอาจทำให้ประเทศทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, อิสราเอล, อิรัก, อิหร่าน, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, ตุรกี, เยเมน และรัฐปาเลสไตน์ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ 

...

นอกจากนั้น การใช้จ่ายด้านการทหารที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องลดการลงทุน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อีกทั้งภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งอาจทำให้ความต้องการซื้อ และการนำเข้าสินค้าต่างๆ ชะลอตัว 

อีกเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ก็คือ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ค้าน้ำมันสำคัญ อาจมีการพิจารณาปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นภายในประเทศ ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง 

ที่ผู้อำนวยการฯ ของเรากล่าวความกังวลเช่นนั้น เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554-2556 นั่นก็คือ เหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่เกิดจากการลุกฮือของประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง และเหตุการณ์ได้ลุกลามขยายวงกว้าง สร้างความวุ่นวายและผลกระทบทางการเมือง ทั้งในอียิปต์ ลิเบีย, เยเมน, และบาห์เรน รวมถึงทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ํามันดิบโลกพุ่งขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการค้ากับตะวันออกกลาง ทําให้การส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางก็ต้องชะลอตัวลง

...

การค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง :

ประเทศไทยและตะวันออกกลาง กำลังเจริญความสัมพันธ์ไปได้ค่อนข้างดี อีกทั้งภูมิภาคนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและเม็ดเงินของชาติ โดย นายพูนพงษ์ ระบุว่า 8 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) ประเทศไทยส่งออกไปยังตะวันออกกลาง มูลค่า 7,294.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของการส่งออกรวม 

มีสินค้าส่งออกสําคัญ คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยสัดส่วนถึง 33.0% นอกจากนั้นยังมีสินค้าส่งออกอื่นๆ ได้แก่ ข้าว, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง และมีการนำเข้าสินค้ามูลค่ารวม 19,576.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10.0% การนำเข้ารวมของไทย

ในส่วนของ การค้าระหว่างประเทศไทย-อิสราเอล และไทย-ปาเลสไตน์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย เนื่องจากทั้งสองต่างก็ไม่ใช่ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยหากนำสถิติสัดส่วนการค้ากับต่างประเทศมาเทียบ ยังคงถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ นายพูนพงษ์ เปิดเผยข้อมูลสถิติการค้าระหว่างไทยอิสราเอลและปาเลสไตน์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 

การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล :

ภาพรวมการค้าทั้งหมด ถือว่า 'อิสราเอล' เป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 856.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของการค้าโดยรวม 

สำหรับตลาดการส่งออก อยู่อันดับที่ 37 ของไทย และขยายตัว 12.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารทะเลและสินค้าแปรรูป, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และข้าว รวมมูลค่าส่งออกทั้งหมด 545.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.3% ของการส่งออกโดยรวม 

และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 49 ของไทย โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย, อัญมณี, เงินแท่งและทองคำ, ปุ๋ย, ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ผัก-ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก-ผลไม้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 311.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของการนำเข้ารวม ซึ่งถือว่าอัตราการขยายตัว (YoY) ลดลง 14.2%  

การค้าระหว่างไทย-ปาเลสไตน์ :

สำหรับการค้าของไทยกับปาเลสไตน์ ถือว่า 'น้อยมาก' ทั้ง การค้า, การส่งออก และการนำเข้า แต่ละสัดส่วนไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ จากข้อมูลพบว่า ปาเลสไตน์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 214 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกระหว่างกัน 143,718 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.0002% ของการค้ารวม 

ไทยส่งออกสินค้าสู่ปาเลสไตน์ เป็นอันดับที่ 206 มูลค่า 140,825 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.0004% ของการส่งออกรวม โดยมีสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องดื่ม, กระดาษและผลิตภัณฑ์, กระดาษ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และมีสัดส่วนเพียง 0.000002% ของการนำเข้ารวม อยู่อันดับที่ 221 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 2,893 เหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ คือ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น ทำให้ นายพูนพงษ์ ประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ไว้ว่า จากความไม่สงบครั้งนี้ 'คาดว่า' จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก...

โดยสรุปแล้ว แม้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ จะยังส่งผลกับเศรษฐกิจไทยน้อย แต่หากมองภาพให้กว้างขึ้น ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นอีกตลาดสำคัญของไทย ทั้งยังมีส่วนสําคัญช่วยผลักดันการส่งออกในภาพรวมของไทย เป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และไทยเองก็กําลังเร่งขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในปัจจุบัน 

ตอนนี้ทำได้เพียงขอให้ 'ความไม่สงบ' จบลงโดยเร็ว และไม่ขยายตัวสู่วงกว้างมากกว่านี้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นเมื่อไร ก็มีแต่จะ 'สูญเสีย' และ 'สูญเสีย' ไม่ใช่แค่กับประเทศไทย แต่เชื่อมโยงไปทั่วทั้งโลก....

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :