สำรวจสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ "ฉนวนกาซา" หลังถูกปิดล้อม และการถล่มทางอากาศอย่างไม่หยุดยั้ง...
"ฉนวนกาซา" ซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 360 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันมากถึง 2,098,389 คน หลังมีการเปิดฉากใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกันระหว่าง "อิสราเอล" และ "กลุ่มติดอาวุธฮามาส" ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 23 จนถึงปัจจุบัน (23 ต.ค. 23)
ความเลวร้ายของ “สงคราม” ส่งผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่ฉนวนกาซา และพลเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาทแล้วบ้าง? รวมถึง “คุณ” ทราบหรือไม่ว่า...พื้นที่ขนาดเล็กๆ นี้ มีประเด็นสำคัญอะไรที่ถูกซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานบ้างหรือไม่?
วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่ง ณ ปัจจุบัน แทบไม่ต่างอะไรกับ พื้นที่ประสบภัยสงครามกันดู
อัปเดตล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ :
...
อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. - 23 ต.ค. 23
ฝ่ายปาเลสไตน์ : เสียชีวิตสะสมแล้ว 5,087 ศพ ในจำนวนนี้แยกเป็นเด็ก 2,055 ศพ สตรี 1,119 ศพ หรือคิดเป็น 62% ของจำนวนผู้เสียชีวิต ด้านผู้ได้รับบาดเจ็บสะสมอยู่ที่ 15,273 คน
ฝ่ายอิสราเอลและชาวต่างชาติ : เสียชีวิตสะสมแล้ว 1,400 ศพ บาดเจ็บสะสม 5,431 คน (ส่วนใหญ่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 23)
จำนวนผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน : 220 คน (รวมชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ)
อะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ฉนวนกาซา :
จำนวนประชากรต่อพื้นที่ :
อ้างอิงจากข้อมูลของ "สำนักการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา" (United States Census Bureau) ระบุว่า ณ ปี 2023 “พื้นที่ฉนวนกาซา” มีประชากรอาศัยอยู่รวมกัน 2,098,389 คน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 5,828.9 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร
อัตราการเกิดและเสียชีวิตของประชากร :
อัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรต่อปีอยู่ที่ 2.1% ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์รวม อยู่ที่สตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 คน ให้กำเนิดบุตร 3.38 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีต่อจำนวนเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน ต่อปี อยู่ที่ 18.9 คน ด้านอายุคาดเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 74.8 ปี
สถิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทุกๆ 20 ปี :
ปี 1960 : มีจำนวนประชากร 308,158 คน
ปี 1980 : มีจำนวนประชากร 455,360 คน (เพิ่มขึ้น 47.77%)
ปี 2000 : มีจำนวนประชากร 1,127,829 คน (เพิ่มขึ้น 147.68%)
ปี 2020 : มีจำนวนประชากร 1,972,024 คน (เพิ่มขึ้น 74.85%)
และคาดการณ์ว่าในปี 2040 พื้นที่ฉนวนกาซา จะมีประชากรรวม 2,815,033 คน (เพิ่มขึ้น 42.75%)
ช่วงวัยของประชาชนที่มีจำนวนสูงสุดในพื้นที่ :
อายุระหว่าง 5-9 ปี แยกเป็นเพศชาย 143,583 คน : เพศหญิง 135,464 คน
...
ผลกระทบจากสงครามในพื้นที่ฉนวนกาซา :
จากรายงาน การสู้รบในพื้นที่ฉนวนกาซาและอิสราเอล ฉบับที่ 17 ขององค์การสหประชาชาติ (สิ้นสุดวันที่ 23 ต.ค. 23) ระบุว่า การโจมตีทางอากาศ (รวมถึงการยิงปืนใหญ่และจรวด) ของอิสราเอลยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรง โดยจากการโจมตีเป้าหมายมากกว่า 320 จุด ในพื้นที่ฉนวนกาซาในห้วง 24 ชั่วโมง (สิ้นสุดเวลา 17.00 น. ของวันที่ 23 ต.ค. 23) ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตรวมถึง 436 ศพ
ขณะที่จำนวนผู้สูญหายสะสมอยู่ที่ประมาณ 1,500 คน (ในจำนวนนี้เป็นเด็กอย่างน้อย 800 คน) อย่างไรก็ดีสันนิษฐานว่าในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อาจจะติดอยู่ในซากปรักหักพังหรือเสียชีวิตไปแล้ว อันเป็นผลจากการขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และกำลังคนในการให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งยังต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายอิสราเอลด้วย
...
จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและการรักษาพยาบาล :
ก่อนเกิดความขัดแย้งล่าสุด หากอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA ได้มีการระบุเอาไว้ว่า จำนวนแพทย์ต่อหัวประชากรในพื้นที่ฉนวนกาซา อยู่ที่ แพทย์ 2.71 คน ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลสำหรับรองรับผู้ป่วยอยู่ที่อัตราส่วน 1.3 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน หรือ หากจะพูดง่ายๆ ก็คือ....“แม้ในยามสถานการณ์ปกติระบบสาธารณสุขก็แทบจะไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ป่วยอยู่แล้ว”
หากแต่เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุด หากอ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า อัปเดตวันที่ 23 ต.ค. 23 โรงพยาบาล 5 แห่งในพื้นที่ฉนวนกาซา ต้องขยายการรับผู้ป่วยออกมานอกพื้นที่โรงพยาบาลแล้ว ขณะที่โรงพยาบาล Shifa ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา กำลังต้องให้การรักษาผู้ป่วยมากถึง 5,000 คน ซึ่งเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 700 คนเท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาล 12 แห่ง และคลินิกอีก 46 แห่งทั่วพื้นที่ฉนวนกาซา จำเป็นต้องปิดการให้บริการลง เนื่องจากได้รับความเสียหาย หรือขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ด้วย
...
จำนวนผู้พลัดถิ่นจากพิษสงคราม :
อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นจากภัยสงครามในฉนวนกาซารวมกันมากกว่า 1.4 ล้านคน เป็นเหตุให้สถานที่พักพิงแต่ละแห่งต้องแบกรับจำนวนผู้พลัดถิ่นเกินกำลังมากกว่า 2.5 เท่า! ของจำนวนปกติที่สามารถรองรับได้ หรือหมายถึง สถานที่พักพิงแต่ละแห่งต้องแบกรับผู้พลัดถิ่นฐานมากถึง 4,400 คน จากระดับปกติที่สามารถรองรับได้เพียงไม่เกิน 1,500-2,000 คนเท่านั้น!
หากแต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ สถานที่พักพิงแต่ละแห่งยังขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำดื่มสะอาด รวมถึงเชื้อเพลิงและไฟฟ้าใช้อีกด้วย!
จำนวนที่พักอาศัยที่ถูกทำลายจากสงคราม :
อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน (23 ต.ค. 23) จำนวนที่พักอาศัยในฉนวนกาซาถูกทำลายจากพิษภัยสงครามไปแล้วมากกว่า 15,749 ยูนิต ในจำนวนนี้มากกว่า 10,935 ยูนิต ไม่สามารถใช้เป็นที่พักอาศัยได้อีกต่อไป ส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 142,500 ยูนิต ได้รับความเสียหายเล็กน้อยถึงระดับปานกลาง
ทั้งนี้ อาคารที่พักอาศัยทั้งหมดทั้งที่ถูกทำลายและได้รับความเสียหายคิดเป็นสัดส่วนถึง 43% ของจำนวนที่พักอาศัยทั้งหมดในพื้นที่ฉนวนกาซาแล้ว
การปิดล้อมพื้นที่ฉนวนกาซา :
พื้นที่ฉนวนกาซาขนาด 360 ตารางกิโลเมตร นั้น มีพรมแดนด้านเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอลยาว 59 กิโลเมตร ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับประเทศอียิปต์มีความยาว 13 กิโลเมตร ส่วนทางด้านตะวันตกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีความยาว 40 กิโลเมตร
โดยพรมแดนด้านที่ติดกับประเทศอิสราเอล นั้น มีความพิเศษตรงที่มีการก่อสร้างกำแพงที่เรียกว่า “Smart Iron Wall” ซึ่งมีความสูงถึง 6 เมตร และยาวเหยียดถึง 65 กิโลเมตร ที่คลอบคลุมแม้กระทั่งพื้นที่ทางทะเลบางส่วนเอาไว้เพื่อป้องกันการถูกลอบโจมตีจากพื้นที่ฉนวนกาซา
โดยกำแพงยักษ์ที่ใช้เหล็กในการก่อสร้างรวมกันถึง 140,000 ตัน และใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 3 ปีครึ่ง (ปี 2014-2016) นี้ นอกจากมีความแข็งแกร่งแล้ว
ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้องวงจรปิด, เรดาร์ และระบบเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวทั้งใต้ดิน บนบก และทางทะเลเอาไว้ เพื่อคอยตรวจสอบบุคคลที่พยายามรุกล้ำ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่เข้าและออกจากพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างเข้มงวดด้วย!
สำหรับ สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า อิสราเอลยอมผ่อนปรนให้ ขบวนรถลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ (จำนวนจำกัด) สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาได้จากพรมแดนเมืองราฟาห์ (Rafah) ประเทศอียิปต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนอิสราเอลเท่านั้น และจะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุญาตจากทหารอิสราเอลเท่านั้น
ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอล ยังปิดกั้นพื้นที่ทางทะเลด้านที่ติดกับฉนวนกาซาด้วย และห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมประมงทั้งหมด นอกจากนี้ ยังขยายระยะห้ามเข้าใกล้พื้นที่ “Smart Iron Wall” จากเดิม 300 เมตร เป็น 1,000 เมตร ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 23 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ขององค์การสหประชาชาติ หรือ WFP ระบุว่า การขาดแคลนเชื้อเพลิงในพื้นที่ฉนวนกาซา จากการถูกปิดล้อม นอกจากทำให้การขนส่งอาหารไปยังพื้นที่ต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบากแล้ว การโจมตีทางอากาศยังทำให้ร้านขายอาหารต่างๆ ต้องปิดให้บริการมากกว่า 202 แห่งแล้ว เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด (21 ต.ค. 23) WFP ระบุว่า สต๊อกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความจำเป็นในพื้นที่ฉนวนกาซา มีเหลือเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคเพียงไม่เกิน 13 วันเท่านั้น! ท่ามกลางการถูกปิดล้อมอันตรายจากภัยของสงคราม และพื้นที่ทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่ถูกทำลายจนทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง