นอสตราดามุสพยากรณ์อนาคตปี พ.ศ. 2566

* สงครามโลกครั้งที่สามและสงครามนิวเคลียร์
* ความต่ำทรามของมนุษย์ต้องกินเนื้อมนุษย์กันเองจากความตกต่ำรุนแรงของเศรษฐกิจ
* การสั่นคลอนของคริสตจักร
* เหตุใหญ่ที่ดาวอังคาร

นอสตราดามุส (Nostradamus) เป็นใคร?
นอสตราดามุสพยากรณ์อนาคตอย่างไร?
นอสตราดามุสเห็นอนาคตจริงไหม?

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปค้นหาข้อเท็จจริง -ข้อเท็จ- ข้อจริงบางส่วน เกี่ยวกับตัวตนของนอสตราดามุส วิธีการที่เขาใช้ในการพยากรณ์อนาคต และความแม่นยำของคำพยากรณ์

นอสตราดามุสได้ชื่อเป็นนักพยากรณ์มีชื่อเสียงที่สุดในโลกเป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษ

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของ นอสตราดามุส มีมากมาย ในหนังสือกว่าหนึ่งร้อยเล่มเกี่ยวกับเขา แต่เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา ก็ดูจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่แยกกันยากระหว่างข้อเท็จและข้อจริง

เริ่มจากวันเกิดของนอสตราดามุส บนป้ายชื่อหลุมฝังศพของเขาระบุเป็น วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2046 แต่ตามบุคคลใกล้ชิดที่สุดคือลูกชายกล่าวว่า นอสตราดามุส เกิดวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2046 ซึ่งถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปวันเกิดที่แท้จริงของนอสตราดามุส

ผู้ถูกกล่าวถึงระบุวันเกิดของนอสตราดามุสเป็นวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2046 คือเลขานุการของนอสตราดามุสเอง ชื่อ ฌ็อง เดอ ชาวีญี (Jean de chavigny)

ส่วนวันจากโลกไปของนอสตราดามุส คือ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2109 ขณะมีอายุ 62 ปี

ชื่อจริงของนอสตราดามุสเป็นภาษาฝรั่งเศส คือ มิแชล เดอ นอสตร์ดาม (Michel de Nostredame) แต่เขาเปลี่ยนชื่อเป็น นอสตราดามุส ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของเขา

...

เปลี่ยนชื่อเมื่อไหร่? ทำไม?

มีข้อมูลขัดแย้งกันว่า นอสตราดามุส เปลี่ยนมาใช้ชื่อภาษาละติน หลังจากที่เขาเริ่มต้นเขียน “คำพยากรณ์”

ที่ต่อมาโด่งดัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2093 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในศาสตร์การพยากรณ์ของเขา

แต่ก็มีแหล่งข้อมูลอื่นระบุว่า เขาเปลี่ยนชื่อมาเป็นภาษาละติน หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมงเปอลิเย (University of Montepellier) เมื่อปี พ.ศ. 2065 ตามประเพณีนิยมของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในยุคสมัยนั้น

นอสตราดามุสเป็นแพทย์หรือเป็นหมอดู?

คำตอบดูจะถูกหมด

แต่มีประเด็นขัดแย้งกัน ในรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งนำมาสู่อาชีพและชื่อเสียงของนอสตราดามุส

ข้อมูลที่ตรงกัน คือ นอสตราดามุส เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยมงเปอลิเย โดยศึกษาทั้งแพทยศาสตร์และโหราศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับหลักฐานการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนั้น

แต่ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน คือ ปีที่นอสตราดามุส เข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษา รวมไปถึงการถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา

ตามแหล่งข้อมูลส่วนหนึ่ง นอสตราดามุส สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2072 ขณะมีอายุ 26 ปี จากมหาวิทยาลัยมงเปอลิเย เขาจึงเป็นแพทย์ตามคุณวุฒิเต็มตัว

และเขายังทำงานสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นเวลาสามปี ก่อนจะลาออก เพราะปัญหาหลักคิดเกี่ยวกับเชื้อโรคและวิธีการรักษาของเขา ที่แตกต่างไปจากหลักคิดที่ยึดคือกันในยุคสมัยนั้น

แต่ตามแหล่งข้อมูลอื่นระบุว่า นอสตราดามุส ได้เข้าศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาลัยมงเปอลิเยจริงในปี พ.ศ. 2072 แล้วก็ถูกไล่ออกโดยยังไม่สำเร็จการศึกษา เพราะถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมผิดจริยธรรมด้านการแพทย์

มีหลักฐานการถูกไล่ออก ของนอสตราดามุสจากมหาวิทยาลัยมงเปอลิเย ลงนามโดย กีโยม รงเดเล (Guillaume Rondelet) ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยช่วงเวลานั้น หลักฐานที่ยังถูกเก็บอยู่ที่มหาวิทยาลัยถึงขณะนี้

อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงนอสตราดามุสหลังถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยว่า ต่อมา เขาก็ได้กลับเข้าศึกษาแพทยศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยเดิม จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

ทว่า หลักฐานการกลับเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยของนอสตราดามุส ไม่มีปรากฏให้เห็นชัดเจนเท่าหลักฐานการถูกไล่ออก

ดังนั้น สิ่งที่กล่าวได้อย่างไม่มีปัญหา คือนอสตราดามุสได้เข้าศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นเพราะสำเร็จการศึกษา หรือถูกไล่ออก หรือได้กลับเข้าศึกษาแพทยศาสตร์อีกครั้งหลังถูกไล่ออก นอสตราดามุส ก็มีความรู้ด้านการแพทย์ และก็ได้ทำงานประกอบอาชีพทางการแพทย์เป็นหลัก

...

“ยาเม็ดกุหลาบ” หรือ “Rose Pill” ของนอสตราดามุส

หลังสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ หรือ ได้รับการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ นอสตราดามุส ก็ออกประกอบอาชีพเป็นทั้งแพทย์และเภสัชกร และมีบทบาทสำคัญในการรักษาและป้องกันกาฬโรคที่เกิดระบาดในฝรั่งเศส

ผลงานที่รู้จักกันดีที่สุดและเล่าขานต่อมาถึงวันนี้ คือ เขาได้คิดค้นสูตรยาจาก เม็ดกุหลาบ หรือโรสฮิป (rose hip) เป็นยาเม็ดเรียกว่า “rose pill” (ยาเม็ดกุหลาบ) มีสรรพคุณในการต่อสู้กับโรคระบาดได้ดี ทำให้ นอสตราดามุส มีชื่อเสียงเป็น “หมอนอสตราดามุส”

วิธีการรักษาโรคของนอสตราดามุสก็แตกต่างไปจากวิธีเก่าๆ เช่น การทำให้เลือดคนป่วยไหล่ออก โดยเชื่อว่า จะนำเชื้อโรคออกไปจากผู้ป่วยด้วย

แต่นอสตราดามุสไม่เห็นด้วย เขาพัฒนาวิธีการของเขาเอง ใช้ยาจำพวกสมุนไพรและอื่นๆ รวมไปถึงการดูแลคนป่วย ให้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งก็เป็นแนวทางปฏิบัติของการแพทย์ต่อๆ มา

และในปัจจุบัน ก็เป็นความรู้ที่ประจักษ์ว่า โรสฮิป ที่นอสตราดามุสใช้ มีคุณค่าเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายชนิดจริง เพราะอุดมด้วยวิตามินซี

...

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ จากแพทย์สู่โหราศาสตร์!

ปี พ.ศ. 2074 ขณะมีอายุ 28 ปี นอสตราดามุสแต่งงานกับภรรยาคนแรก ชื่อไม่ปรากฏชัดเจน แต่เข้าใจกันว่าเธอชื่อ อ็องรีแยต ด็องโกส (Henriette D’encause) ที่เมือง อาฌ็อง (Acan) มีบุตรสองคน

สามปีต่อมา นอสตราดามุสเสียภรรยาและบุตรทั้งสองคน จากการระบาดของกาฬโรค

การสูญเสียมีผลอย่างสำคัญต่อนอสตราดามุส เขาเสียใจ ผิดหวัง กับการไม่สามารถใช้วิทยาศาสตร์รักษาชีวิตภรรยาและลูกไว้ได้ ทั้งๆ ที่ได้ช่วยคนอื่นจำนวนมาก ให้ปลอดภัยจากโรคระบาด

นอสตราดามุสจึงเริ่มสนใจโหราศาสตร์อย่างจริงจังขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังประกอบอาชีพเป็นแพทย์เป็นเภสัชกรไปด้วย

หลังการสูญเสียภรรยาและลูกสองคน นอสตราดามุสก็ออกเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสและยุโรปใต้เป็นเวลาประมาณสิบปี จึงปักหลักในในปี พ.ศ. 2090 ที่เมืองซาลง (Salon) แต่งงานใหม่กับ อาน ปอซาร์ค ( Ann Ponsard ) มีลูกชายลูกสาวรวม 6 คน

ในที่สุด นอสตราดามุสก็เริ่มกับ “งานใหม่” คือการพยากรณ์อนาคต โดยเริ่มกับการบันทึกเหตุการณ์เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ล่วงหน้ารายปี เรียกว่า ออลมาแนค (Almanc) เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2493 และ ทำต่อเนื่องเป็นรายปี รวม 5 ปี ถึงปี พ.ศ. 2498

ปรากฏว่า ออลมาแนค ของนอสตราดามุส เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมิใช่ เฉพาะในฝรั่งเศส

ต่อมาออลมาแนค ก็พัฒนาเป็นหนังสือภาษาฝรั่งเศส “เล พรอเฟชี” (Les Propheties) แปลว่า “คำพยากรณ์” หรือเป็นภาษาอังกฤษ “The Prophesies” ซึ่งมีการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมากมาถึงทุกวันนี้

หนังสือ “The Prophesies” รวมคำพยากรณ์ของนอสดามุสในรูปแบบของ บทกวีสี่บรรทัด (quadtraint) จำนวน 1,000 บท แบ่งเป็น 10 ตอน ตอนละ 100 บท อันเป็นที่มาของชื่อ “Centuries” ซึ่งหมายถึงบทกวี 100 บท มิได้หมายถึง “ศตวรรษ” (100 ปี) ของปฏิทินเวลา

...

หนังสือ “Les Propheties” เล่มแรกตีพิมพ์ พ.ศ. 2098 มีคำพยากรณ์ “สามเซนจูรี” ปรับปรุงและตีพิมพ์ใหม่หลายครั้ง และมีคำพยากรณ์ครบ “สิบเซนจูรี” ในฉบับปรับปรุงตีพิม พ.ศ. 2111 หลังจากการจากไปของนอสตราดามุส เป็นเวลาสองปี

คำพยากรณ์ที่ต้องตีความ!

ผู้อ่านหนังสือ “The prophesies” ของนอสตราดามุส วันนี้ อาจแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ชอบ กลับกลุ่มที่ไม่ชอบ

กลุ่มที่ชอบ จะเป็นกลุ่มที่ชอบอ่านหนังสือประเภทที่ต้องตีความ ส่วนกลุ่มที่ไม่ชอบ จะเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือ “เอาเรื่อง” ตรงๆ

นอสตราดามุสเขียนคำพยากรณ์ในรูปแบบที่ต้องมีการตีความ

คำพยากรณ์ของนอสตราดามุสส่วนใหญ่ เกี่ยวกับ ความหายนะ หรือ ภัยพิบัติใหญ่จากธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์ ดังเช่น อุทกภัย ความแห้งแล้ง ทุพภิกขภัย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สงคราม ฆาตกรรม บุคคลสำคัญและความเปลี่ยนแปลงในสวรรค์ (ดาราศาสตร์)

ตัวอย่างคำพยากรณ์ของ นอสตราดามุส

“สงครามใหญ่เจ็ดเดือนผู้คนล้มตายจากปิศาจร้าย”

คำพยากรณ์นี้ถูกตีความเป็นสงครามโลกครั้งที่สามและสงครามนิวเคลียร์ ที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566 และก็เป็นตัวอย่างลักษณะการพยากรณ์ของนอสตราดามุสที่เขียนบอกข่าวสารอย่างคลุมเครือ สามารถตีความได้มากมาย และจริงๆ แล้ว นอสตราดามุสก็มิได้ระบุปีที่จะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ตีความคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสที่ตีความออกมาเป็นปี พ.ศ. 2566 ของสงครามใหญ่เจ็ดเดือน และขยายความต่อไปอีกเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม และสงครามนิวเคลียร์
อีกตัวอย่างหนึ่งของคำพยากรณ์ที่แพร่หลายทั่วโลกขณะนี้ (จากปลายปี พ.ศ. 2565 และ ต้นปี พ.ศ. 2566) คือ

“ราคาข้าวสาลีจะขึ้นสูงมาก จนกระทั่งมนุษย์หันมากินเนื้อคนด้วยกัน”

เป็นคำพยากรณ์ดูสยดสยองและแสดงถึงความต่ำทรามของมนุษย์ ที่กลายเป็นมนุษย์กินคนด้วยกันเอง จากความตกต่ำรุนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็เช่นเดียวกับคำพยากรณ์อื่นๆ ของ นอสตราดามุส ที่ถึงแม้จะระบุคำมนุษย์กินเนื้อคนด้วยกันจริง แต่ก็มิได้ระบุปีที่จะเกิดขึ้น

ทำไมนอสตราดามุสจึงเขียนคำพยากรณ์ที่ต้องตีความ?

เหตุผลหนึ่ง เชื่อกันว่าเพื่อป้องกันตนเองจากถูกจับขึ้นศาลพระ หรือ “Inquisition” ในข้อหาลบหลู่ศาสนา เพราะคำพยากรณ์ (แทบ) ทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับวงการต่างๆ รวมทั้งคริสตจักร

อีกเหตุผลหนึ่ง เชื่อกันว่า เป็นความชาญฉลาดของนอสตราดามุส ที่เขียนคำพยากรณ์ให้เป็นแบบต้องตีความ ทำให้คำพยากรณ์ของเขา ไม่มี “วันตาย” เพราะจะตีความได้ตลอดไป

ถึงแม้จะมีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นว่า คำพยากรณ์ของนอสตราดามุส เป็นคำพยากรณ์ที่ “ไม่มีความหมาย” เพราะจะตีความว่า “ถูก” ได้เสมอ จากเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกนำมาแสดงความแม่นยำของคำพยากรณ์ดังเช่น

*คำพยากรณ์เกี่ยวกับจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต
*ฮิตเลอร์
*ระเบิดอะตอม
*การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์นเอฟ เคนเนดี
*วินาศกรรมเครื่องบินชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) หรือ เหตุร้าย 9/11
*การแพร่ระบาดของ โควิด-19

อย่างแน่นอน ความคิดเห็นของนักวิชาการก็ได้รับความสนใจ รับฟัง แต่ก็ดูจะต้านกระแสความนิยมในคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสไม่ได้

นอสตราดามุสพยากรณ์อนาคตอย่างไร?

มีการกล่าวอ้างถึงคำกล่าวของนอสตราดามุสเองว่า เขาพยากรณอนาคตโดยการจ้องมองดูน้ำในขันน้ำทองเหลือง ใส่ใบสมุนไพร หรือจ้องมองดูเปลวไฟ เป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมงในเวลาค่ำคืน ทำให้เกิดสมาธิและเห็นภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้น

แต่ตัวนอสตราดามุสเอง กล่าวถึงการพยากรณ์อนาคตของเขาว่า เป็นการพยากรณ์โดยการคำนวณโหราศาสตร์ เชื่อมโยงสภาพความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของดวงดาวในท้องฟ้ากับเหตุการณ์บนโลก

อีกทั้งนอสตราดามุสเอง ก็เขียนในคำนำหนังสือมอบแก่บุตรชายของเขาชื่อ ซีซาร์ (C’esar) เมื่อปี พ.ศ. 2498 ว่า เขาไม่ชอบคำ “Prophet” และตัวเขาก็ไม่ใช่ “Prophet” หรือ “ผู้พยากรณ์” ซึ่งก็ดูเป็นการประกาศตนเป็น “นักวิชาการทางโหราศาสตร์” ที่ใช้วิธีแห่งศาสตร์การพยากรณ์

ซึ่งก็เป็นการเปิดเผยตัวของนอสตราดามุสว่า เขามิใช่ “ผู้วิเศษ” ที่ “มองเห็นอนาคต” อย่างไรก็ตามถึงแม้นอสตราดามุสจะพยายามแสดงว่า ตนเองมิใช่เป็นผู้มีญาณวิเศษเห็นอนาคต แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเรียกหนังสือพยากรณ์อนาคตของเขาว่า “The prophesies” โดยมีชื่อของเขาเป็นผู้เขียนชัดเจน นอสตราดามุสจึงดูจะยอมรับว่า ตนเองอยู่กับสถานภาพที่แฝงอยู่กับความคลุมเครือ เช่นเดียวกับคำพยากรณ์ที่ล้วนเขียนเป็นแบบคลุมเครือ

หรือว่า นอสตราดามุสตระหนักแก่ใจตีถึง “พลังของความคลุมเครือ” และ “คิดถูก” ว่า “ความคลุมเครือ” เป็นพลังวิเศษที่จะทำให้ชื่อของเขา และคำพยากรณ์ของเขาอยู่คู่กับมนุษยชาติไปนานแสนนาน หลังจากที่เขาได้จากโลกไปแล้ว

ซึ่งก็ดูจะเป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยคำพยากรณ์ของนอสตราดามุส ก็อยู่กับมนุษย์มานานกว่าสี่ร้อยปีแล้ว และมีแนวโน้มจะอยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกนาน

สำหรับผู้เขียนมองนอสตราดามุสเป็นมนุษย์ธรรมดาคนเก่งคนหนึ่ง ที่พยายามดำรงชีวิตดังเช่นคนธรรมดาทั่วไป และได้ค้นพบวิธีการเตือนเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ให้ตระหนักถึงมหันตภัยที่อาจกำลัง “ดักรอ” มนุษย์อยู่ข้างหน้า ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นในอดีต เพราะ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์” เสมอ

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ มองนอสตราดามุสและคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสอย่างไร? เห็นคุณค่าอะไรบ้างหรือไม่?