โรคโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรคติดต่อที่เปลี่ยนโลกและคุกคามมนุษยชาติแบบรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งยังนำมาซึ่งวิกฤติและโอกาสต่อชีวิตผู้คนในเวลาเดียวกัน

กว่า 3 ปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับมหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 นับตั้งแต่โรคร้ายนี้อุบัติขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปี 2562 และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ จากนั้นโลกของเราก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีกต่อไป

ไวรัสร้ายนี้ได้สร้างความสูญเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกตลอด 3 ปีไปแล้วกว่า 6.66 ล้านชีวิต (ข้อมูลวันที่ 28 ธ.ค.2565) ผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 662 ล้านคน เกิดการล็อกดาวน์ทั่วโลก เศรษฐกิจยุติชะงัก ธุรกิจ สถานประกอบการต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ลดขนาดองค์กร ปลดคนงานออกเพราะธุรกิจเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หลายภาคส่วนได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อต่อลมหายใจให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้

...

ขณะที่แวดวงวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ก็ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการพัฒนาวัคซีนป้องกัน โรคโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งเป็นวัคซีน ชนิดใหม่ของโลก รวมทั้งชนิดไวรัลเวคเตอร์ และชนิดเชื้อตาย ก็ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการช่วยกันคิดนวัตกรรมและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันและรักษาเยียวยาโรคโควิด-19

ประเทศไทยเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักหน่วงตั้งแต่ปี 2563 โดยรัฐบาลประกาศให้เป็น โรคติดต่ออันตราย มีการจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด-19 หรือ ศบค. เพื่อวางมาตรการป้องกันควบคุมและรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งชนิดเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA เพื่อฉีดให้กับคนไทยทุกกลุ่มอายุ จนถึงขณะนี้ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยยอดการฉีดวัคซีนสะสมของไทยจนถึงปลายปี 2565 อยู่ที่ 144 ล้านโดส

ขณะที่ความรุนแรงของโรคก็ค่อยๆลดลง เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา เดลตา จนล่าสุดสายพันธุ์ที่มีสัดส่วนการระบาดมากที่สุดทั่วโลก ในปี พ.ศ.2565 คือ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆออกไปมากกว่า 540 สายพันธุ์ และมีลูกผสมข้ามสายพันธุ์ย่อยอีกกว่า 61 สายพันธุ์ย่อย โดยมีความสามารถด้านการระบาดเร็วขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แต่เรื่องความรุนแรงที่จะทำให้คนอาการหนักหรือเสียชีวิตเพิ่ม ยังไม่แตกต่างจากสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม โดยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่องค์การอนามัยโลกจับตาดูเป็นพิเศษ 5 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2565, BA.5, BQ.1, XBB และ BA.2.30.2

และเมื่อสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น โรคโควิด-19 ลดความรุนแรงลง ประชาชนก็สามารถเดินทางไปมาติดต่อถึงกันได้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ไทยได้ประกาศให้โรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆให้คนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เป็นชีวิตปกติในแบบวิถีใหม่ โดยเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน มีการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชนหรือสถานที่ที่อากาศปิด ไม่ถ่ายเท ทุกคนรู้จักดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น หากรู้สึกไม่สบาย มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ก็ตรวจ ATK หากมีผลเป็นบวก จะเข้ารับการรักษาตามสิทธิ รับยาและกลับมารักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นยังต้องป้องกันตนเอง แยกตัวจากคนอื่นในการทำกิจกรรมต่างๆอีก 5 วัน

...

ทั้งนี้ นักวิชาการทางการแพทย์ มีการคาดการณ์ว่า ทิศทางการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่แตกต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะระบาดเป็นฤดูกาล เริ่มจากช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ พ.ย.-ม.ค. และค่อยๆลดลง จากนั้นจะมาระบาดอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน มิ.ย.-ก.ย. จะเป็นช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง และมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโดยคาดว่าจะฉีดปีละ 1 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีการพัฒนาวัคซีนที่ป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ในเข็มเดียว

นั่นคือสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่เราเพิ่งรู้จักมันมาได้เพียง 3 ปี

...

แต่ช่วงปี 2565 ยังมีโรคอื่นๆที่ระบาดอยู่เดิมตามฤดูกาล หรือระบาดเป็นพื้นที่เฉพาะ ในขณะที่ทุกฝ่ายมุ่งเป้าให้ความสนใจกับโรคโควิด-19 บางพื้นที่ก็พบว่า เกิด การระบาดซ้ำของโรคเก่าหรือโรคระบาดซ้ำ ที่เป็นโรคประจำถิ่น แต่เนื่องจากการเดินทางของผู้คนที่สามารถติดต่อกันทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จึงพบว่า โรคประจำถิ่นจากทวีปหนึ่งกลับไปปรากฏและระบาดในอีกทวีปหนึ่ง นั่นคือ โรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา แต่ปรากฏการระบาดที่ทวีปยุโรป และอเมริกา จนทำให้ องค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเองก็หนีไม่พ้น เราพบผู้ป่วยฝีดาษลิง แล้ว จำนวน 12 คน เป็นทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด

...

ส่วนโรคอื่นๆที่เป็นโรคเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับนานาประเทศ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสเลวี ในประเทศจีน โรคไวรัสหวัดมะเขือเทศ ในประเทศอินเดีย โรคปอดบวมปริศนา ในประเทศอาร์เจนตินา หรือล่าสุดพบการระบาดของ โรค อีโบลา ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา

สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีการคาดการณ์ว่า โรคประจำถิ่นของเราก็จะระบาดมากขึ้น เช่น โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก ที่เริ่มพบการระบาดมากขึ้นเช่นกัน และผลจากการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประชากรทุกกลุ่มอายุทำให้การรับวัคซีนในกลุ่มเด็กลดลง เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน ขณะที่องค์การอนามัยโลก ก็ได้ออกคำเตือนทุกประเทศว่า การลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ระบาดได้ง่าย จะกลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาค โดยโรคนี้จะทำให้เกิดอาการไข้ ตาแดง ไอ ผื่นแดงขึ้นกระจายทั้งตัว และในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำลังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโปลิโอ อย่างใกล้ชิด และเตรียมการรับมือ เพราะพบการแพร่ระบาดกว่า 22 ประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอมานานกว่า 25 ปีแล้วก็ตาม

จากประวัติศาสตร์ของโลกเราจะพบว่า มนุษยชาติจะต้องต่อสู้กับโรคระบาดเป็นระยะๆ ตั้งแต่โรคไข้หวัดใหญ่สเปน ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย โรคไข้ทรพิษ ซึ่งโรคต่างๆนี้จะไม่หายไปและจะกลับมาโผล่เรื่อยๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง โดยเฉพาะไวรัสในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่พร้อมจะกระโดดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพราะเราเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือการตั้งสมมติฐานว่า เชื้อโควิด-19 นี้มาจาก ค้างคาว ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ค้างคาว คือตัวต้นเหตุ แต่ที่เรารู้แน่นอนคือ ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรค ของไวรัสโคโรนา (Coronavirus, CoV) หลายชนิด ทั้งเป็นตัวกลางสำคัญในการแพร่เชื้อข้ามสปีชีส์ ที่เรารู้จักกันดีที่สร้างความตื่นตระหนักมาก่อน คือ ไวรัสซาร์ส ที่พบว่ามีต้นกำเนิดจากค้างคาวมงกุฎ ที่อาจแพร่สู่มนุษย์โดยตรงหรือมีตัวกลางคือ อีเห็น และ ไวรัสเมอร์ส ที่มีรายงานการพบไวรัสในอูฐ และค้างคาวจนมาถึงโรคโควิด-19 ที่มีค้างคาวเป็นจำเลยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา ไวรัสนิปาห์และอีกหลายตัว แต่เราก็ยังพบการลักลอบการนำเข้าและส่งออกค้างคาวตากแห้งเพื่อนำไปรับประทานกันตามความเชื่อของคนบางกลุ่ม รวมทั้งคนที่เกิดอุตริอวดการกินค้างคาวเพื่อหวังผลยอดไลค์ในสื่อโซเชียล ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและไม่ควรทำตามเป็นอย่างยิ่ง

แต่แม้ว่า ณ วันนี้เราจะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าในอนาคตจะเกิดเชื้อโรคใหม่ๆขึ้นอีกหรือไม่ แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่ายินดี ที่ขณะนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ของเรามีความ ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการตรวจหาเชื้อ การผลิตวัคซีนป้องกันโรค ยารักษาโรค ก็มีประสิทธิภาพที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะวิ่งไล่ตามโรคให้ทัน

โรคโควิด-19 น่าจะเป็นหลักสูตรเล่มใหญ่ ที่ให้บทเรียนสำคัญกับมนุษยชาติ ในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับโรคอย่างมีสติ และรู้เท่าทัน ป้องกันตนเองไม่รบกวนธรรมชาติ

ที่สำคัญสุดคือ “การตื่นตัว” แต่อย่า “ตื่นตูม” เพื่อพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ที่เราไม่รู้จัก และไม่ประมาทในการจัดการกับโรคอุบัติซ้ำ ที่รอเวลาเล่นงานคุกคามมนุษยชาติ.

ทีมข่าวสาธารณสุข