“ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2566” มาพบกับท่านผู้อ่านในชุดสกู๊ปพิเศษช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่พบกับท่านผู้อ่านอย่างเป็นสกู๊ปเต็มตัวครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน กับ “ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2563” เพื่อการก้าวเข้าสู่โลกปี 2566 อย่างมีความคาดหวัง มีความหมายและไม่ประมาท โดยแบ่งเป็นสองตอน ตอนละ 5 เรื่อง สำหรับลำดับความสำคัญของเรื่องทั้งสิบ ผู้เขียนไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่สำคัญทัดเทียมกัน
(1) สงครามรัสเซีย-ยูเครน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปในปี พ.ศ. 2566 และทำให้เกิดความหวั่นวิตกต่อประชาคมโลก เกรงว่าจะลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม และสงครามนิวเคลียร์
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน สั่ง “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ส่งกองทัพรัสเซียบุกเข้าประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เพื่อปกป้อง “ความเป็นรัสเซีย” และจัดการกับ “นาซีใหม่” ในยูเครนที่คุกคามรัสเซีย แต่ยูเครน สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป นาโต (NATO) และองค์การสหประชาชาติ ถือว่าปฏิบัติการของรัสเซีย เป็นการรุกรานอธิปไตยของประเทศยูเครน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยูเครน โครงสร้างพื้นฐาน อาคารที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยในยูเครนถูกถล่มทำลายอย่างหนัก ก่อให้เกิดการอพยพของประชาชนในยูเครนจากที่อยู่อาศัยของประชาชนในยูเครน และลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ มากที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศใดๆ ในโลก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
...
จากปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย ทำให้สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศตะวันตกออกมาตรการ “แซงก์ชัน”(SANCTION) ลงโทษรัสเซีย ทางด้านการเงิน ธุรกิจ การเดินทาง การส่งออกสินค้าพลังงาน สร้างผลกระทบต่อทั้งรัสเซียและประเทศอื่นๆ ด้วย ที่ต้องพึ่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องกับวงการวิทยาศาสตร์ทั้งของโลกและรัสเซีย
รัสเซียเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรประมาณ 143 ล้านคน ยูเครนเป็นประเทศเล็ก มีประชากรประมาณ 43 ล้านคน กองทัพรัสเซียมีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่ายูเครนมาก
รัสเซียเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลกปัจจุบัน ส่วนยูเครนเคยมีอาวุธนิวเคลียร์มากเป็นอันดับสามของโลก แต่ได้ยกเลิกการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด หลัง “ข้อตกลงร่วมกันบูดาเปสต์” (BUDAPEST MEMORANDOM) เมื่อ พ.ศ. 2537 ลงนามโดยผู้นำสามประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย เพื่อรับประกันความมั่นคงของประเทศยูเครน
โดยความสนับสนุนด้านอาวุธและด้านอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปและนาโตแก่ยูเครน ทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อตลอดปี พ.ศ. 2565 และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปในปี พ.ศ. 2566
เนื่องจากรัสเซีย เป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับหนึ่งของโลก และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศจะใช้อาวุธมีผลสูงเชิงยุทธศาสตร์ถ้าจำเป็น ทำให้เกิดความหวั่นกังวลต่อการลุกลามเป็น “สงครามโลกครั้งที่สาม” และ “สงครามนิวเคลียร์” ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะไม่มีประเทศใดที่ “ชนะ” เพราะทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะ “แพ้” กันหมด
(2) โควิด-19 เป้าหมายสูงสุด วัคซีนสากล
ปลายปี พ.ศ. 2565 โลกได้ผ่อนคลายจากการระบาดใหญ่ (PANDEMIC) ของโควิด-19 มาเป็นโรคประจำถิ่นที่ต้องเฝ้าระวัง (ENDEMIC) ในปี พ.ศ. 2566 โลกก็ยังต้องเฝ้าระวังโควิด-19 กันต่อ แต่เป้าหมายที่เด่นขึ้นมาคือ การแสวงหาวัคซีนสากล ( universal vaccine) ที่จะป้องกันไวรัสโคโรนาได้ทุกชนิด
ประเทศไทยได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ยกเลิกโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อประจำถิ่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทย
...
จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลงมาก และการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันร่วม แต่องค์การอนามัยโลก (WHO:World Health Organization) ยังคงเตือนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถึงแม้จะลดความรุนแรงลงและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศส่วนใหญ่ลดลงไปมาก ก็ยังมีอีกหลายประเทศยากจน ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19
ความสนใจใหญ่สำหรับโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2566 จะโฟกัสที่วัคซีนประเภทวัคซีนสากลหรือวัคซีนรวม ที่จะป้องกันไวรัสโคโรนาได้ทุกชนิด
ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ก็มีความพยายามจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทั่วโลก ในการพัฒนาวัคซีนทั้งเฉพาะประเภทที่กำลังเป็นปัญหาหนักและวัคซีนสากล ทั้งที่เป็นกลุ่มประจำอยู่กับสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชน โดยความสนับสนุนด้านการเงินจากสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวกับสุขภาพของประเทศต่างๆ และกลุ่มหรือองค์กรเอกชน ดังเช่น มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill and Melina Gates Foundation) ที่ได้ให้ทุนและการสนับสนุนตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เป็นเงินมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับงานการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การต่อสู้กับโควิด -19 ในด้านต่างๆ
นักวิทยาศาสตร์ได้ถอดรหัสจีโนมของไวรัสโคโรนา ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มต้นและได้ออกใช้งานอย่างรวดเร็ว แต่ไวรัสโคโรนาก็กลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใหม่อย่างต่อเนื่อง
...
สำหรับเป้าหมายใหม่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนา มีความหวังกันว่า จะไม่ยากและยาวนานเท่ากับกรณีของไข้หวัดใหญ่และโรคเอดส์ ซึ่งนับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ก็ยังไม่มีวัคซีนสากล สำหรับไข้หวัดใหญ่และโรคเอดส์
แต่กรณีของไวรัสโคโรนา ดูจะไม่กลายพันธุ์เก่งเท่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ และจึงหวังกันว่า จะไม่ต้องรอเวลายาวนานเท่ากรณีของไข้หวัดใหญ่และโรคเอดส์
กลุ่มคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยดุก (DUKE UNIVERSITY) สหรัฐอเมริกา กล่าว (ตามรายงานของสำนักข่าว BBC เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565) ว่า อาจจะได้เห็นวัคซีนสากลแรกสำหรับไวรัสโคโรนาเร็วที่สุดในปี พ.ศ. 2566
(3) กล้องโทรทรรศน์อวกาศแรกของจีน
ปลายปี พ.ศ. 2566 ประเทศจีนมีแผนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศแรกของจีนขึ้นสู่อวกาศ เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเต็มตัวขนาดใหญ่ ไปโคจรในอวกาศคู่กับสถานีอวกาศของจีน
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 จีนได้ส่งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสำรวจดวงอาทิตย์ ชื่อ เอเอสโอ-เอส (ASO-S : Advanced Space - Based Solar Observatory) หรือ เกาฟู-1 (KAUFU-1) ไปโคจรอยู่ในอวกาศที่ระดับความสูง 720 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก เกาฟู - 1 จึงเป็นกล้องโทรทรรศน์ ของจีนที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว แต่เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศมีเป้าหมายเฉพาะสำหรับการศึกษาดวงอาทิตย์
...
สำหรับโครงการใหม่ของจีน เป็นกล้องโทรทรรศน์หรือหอดูดาวอวกาศขนาดใหญ่เต็มตัวแรกของจีน ชื่อ ซุนเทียน ( XUNTIAN : สำรวจสวรรค์) หรือชื่อเป็นทางการว่า ซีเอสเอสที (CSST : Chinese Survey Space Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดแสง (Optical Telescope) มีกระจกรับแสงขนาด 2 เมตร มีขนาดใหญ่พอๆ กับรถบัส หนัก 15,500 กิโลกรัม ยาวหรือสูงพอๆ กับตึกสามชั้น มีขีดความสามารถการศึกษาดาราศาสตร์ในย่านความถี่ของรังสีอัลตราไวโอเลต-ใกล้ (Near -Ultraviolet) คล้ายกับของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ( Huble Space Telescope) ที่มีขีดความสามารถในการศึกษาดาราศาสตร์ย่านความถี่รังสีอินฟราเรดด้วย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล มีกระจกรับแสงขนาด 2.4 เมตร ใหญ่กว่าของซุนเทียน แต่นักวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศซุนเทียนมีกล้องถ่ายภาพ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก และเห็นได้กว้างกว่าของฮับเบิลมากถึง 300 เท่า
เปรียบฮับเบิลเห็นแกะหนึ่งตัว แต่ซุนเทียนจะเห็นแกะได้หลายพันตัว โดยจะเห็นรายละเอียดของแกะแต่ละตัวได้เท่ากับที่ฮับเบิลเห็น
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน ซีเอ็นเอสเอ ( CNSA : Chinese National Space Administration ) กำหนดแผนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศซุนเทียนขึ้นสู่อวกาศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และกล้องจะเริ่มทำงานจริงในปี พ.ศ. 2567 มีอายุการทำงานงานประมาณ 10 ปี
ภารกิจหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศซุนเทียนคือ สำรวจท้องฟ้าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาทำงาน 10 ปี และมีเป้าหมายจำเพาะ นอกเหนือไปจากการสำรวจอวกาศและจักรวาลโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเจาะศึกษาสสารมืด ( Dark Matter ) พลังงานมืด ( Dark Energy ) การกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซีด้วย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศซุนเทียน จะถูกส่งขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศ ประกบคู่กับสถานีอวกาศเทียนกง ที่ระดับความสูงจากพื้นโลกประมาณ 380 กิโลเมตร โดยไม่ประกบติดกับสถานีอวกาศ แต่สามารถจะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศได้ตามความจำเป็น
(4) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่เพื่อคนตาบอด
ปี พ.ศ. 2566 อาจจะยังไม่เห็นความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดมากเท่าที่อยากเห็นกัน แต่จะมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ดังเช่น การใช้คลื่นเสียงแทนแสงให้ติดตามกัน
สำหรับคนมีปัญหาในการใช้สายตา ดังเช่น สายตาสั้น สายตายาว ต้อตากระจก ในปัจจุบันมีวิธีการแก้ไขและรักษาที่ได้ผล ดังเช่น การใช้แว่นตา การผ่าตัดต้อตากระจกด้วยเลเซอร์ แต่สำหรับคนตาพิการถึงระดับบอด ก็ได้มีความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลายชนิดเพื่อช่วยคนตาบอด
วิธีหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษคือ วิธีใช้ ตาไบโอนิก (Bionic Eye) ที่ไม่ต้องมีการฝังชิ้นส่วนเข้าไปในตา แต่ใช้อุปกรณ์ติดอยู่กับแว่นตา แล้วส่งสัญญาณแสงไปกระตุ้นเซลล์ประสาทของเรตินาที่ยังทำงานได้ หรือส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่เส้นประสาทของเรตินา เพื่อส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองส่วนการมองเห็น ดังเช่นตาปรกติ
ได้มีการทดลองตาไบโอนิกกับผู้มีปัญหาด้านสายตามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และมีการผลิตออกใช้กับคนตาบอดจริงๆ บ้างแล้ว โดยในสหรัฐอเมริกา ตาไบโอนิกแรกที่ได้รับการรับรองให้ใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2563 คือ อาร์กัส 2 (Argus II) เป็นแบบยังต้องฝังอิเล็กโตรดเข้าไปในตา ประกอบด้วยกล้องจิ๋วติดที่แว่นตา ส่งสัญญาณแสงไปที่อิเล็กโตรนฝังอยู่ในเรตินา กระตุ้นเซลล์ของเรตินาให้ส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทตาสู่สมอง
แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งสำหรับงานการวิจัยและพัฒนา และการใช้กับคนป่วยจริง ทำให้ตาไบโอนิกยังไม่ก้าวหน้าและออกใช้งานจริงมากเท่าที่อยากเห็นกัน
แล้วก็มีความก้าวหน้าในวิธีการใหม่ๆ เพื่อคนตาบอดให้เห็นได้ ที่กำลังได้รับความสนใจมาก เป็นวิธีการใช้คลื่นเสียงแทนคลื่นแสง แบบเดียวกับการใช้คลื่นเสียงในการถ่ายภาพอัลตราซาวนด์ของทารกในครรภ์มารดา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีรายงานจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (University oF Southern California) ความสำเร็จครั้งแรก ในการใช้คลื่นเสียงส่งสัญญาณภาพอักษร "ซี" (C) กับหนูตาบอด และโดยการใช้อิเล็กโตรดจับคลื่นการทำงานของสมองส่วนการมองเห็น พบว่า สมองของหนูก็ได้เห็นภาพรางๆ ของอักษร "ซี"
ในปี พ.ศ. 2566 อาจจะได้เห็นรายงานความก้าวหน้าเพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย และที่อื่นๆ เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีช่วยคนตาบอด ด้วยคลื่นเสียงแบบอัลตราซาวนด์และอื่นๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ตั้งเป้าหมายสูงสุดเป็นคอนแทคเลนส์ ช่วยให้คนตาบอดมองเห็นได้ด้วยคลื่นเสียงอย่างง่ายๆ ดังเช่น คอนแทคเลนส์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
(5) ความหวังจาก "คอป 28" ที่ดูไบ
การประชุม"คอป 27" ( COP 27 ) ที่ประเทศอียิปต์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จบลงด้วยข้อตกลงสำคัญที่สุด คือ การชดเชย "ความสูญเสียและความเสียหาย" ( Loss and Damge ) แก่ประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แล้วการประชุม "คอป 28" ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ. 2566 จะคาดหวังอะไรที่สำคัญได้บ้าง?
COP ( Conference of Parties : การประชุมภาคีสมาชิก ) เป็นกระบวนการฝ่ายปฏิบัติการของ UNFCCC ( United Nations Framework Convention On Climate Cange : กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) จัดประชุมใหญ่ทุกปี ตั้งแต่ครั้งแรก (COP 1) พ.ศ. 2538 ยกเว้น พ.ศ. 2563 (จากการแพร่ระบาดของโควิด-19)
"คอป" เป็นการประชุมใหญ่ของผู้นำโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน ผลงานสำคัญที่รู้จักกันดี มีเช่น "พิธีสารเกียวโต" (Kyoto Protocol จาก คอป 3 พ.ศ. 2540) และ "ความตกลงปารีส" (Paris Agreement จากคอป 21 พ.ศ. 2558)
จากคอป 27 ที่ประเทศอียิปต์ มีผลการประชุมสำคัญที่สุด เรียก "Loss and Dage" เพื่อจัดตั้งกองทุนและดำเนินการในการชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดกับประเทศยากจน จากภาวะโลกร้อนที่สาเหตุใหญ่มาจากประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่เรียกร้องกันในการประชุมที่ผ่านๆ มาหลายปี แต่เพิ่งจะได้รับความเห็นชอบเป็นมติออกมาอย่างเป็นทางการ
สำหรับการประชุมคอป 28 ที่นครดูไบ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2566 ถูกจับตามองว่า จะ "จริงจัง" หรือ "ได้ผล" แค่ไหน เพราะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศที่เศรษฐกิจผูกพันอยู่กับเชื้อเพลิง ฟอสซิลหรือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุใหญ่ที่สุดของภาวะโลกร้อน
แต่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นเวลาหลายปี ได้แสดงความตั้งใจและ "เสนอตัว" เป็นผู้จัดการประชุม "คอป 28" ในการประชุม "คอป 26" พ.ศ. 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ และได้รับอนุมัติในที่สุด เป็นเจ้าภาพจัดคอป 28
สำหรับความคาดหวังจากการประชุมคอป 28 ใหญ่ๆ ก็จะเป็นประเด็นที่ยังค้างต่อเนื่องกันมา และข้อตกลงที่มีการลงมติให้ "มีขึ้น" แต่ยังไม่สมบูรณ์สำหรับปฏิบัติการจริงๆ ดังเช่น ผลจากคอป 27 เรื่อง "ความสูญเสียและความเสียหาย" ที่ยังมีประเด็นและรายละเอียดแหล่งที่มาของกองทุนและการบริหารจัดการ
ประเด็นใหญ่ที่ยังค้างต่อเนื่องมากจากการประชุม คอป 27 คือ การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
อ่านต่อ