ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เข้ามา...พุทธศักราช 2565 สมควรแล้วที่ตรงกับ “ปีขาล” เพราะเต็มไปด้วยเหตุการณ์อันดุดัน โดยเฉพาะสงครามและการเมืองโลก มาคราวนี้สวัสดีปีใหม่ พุทธศักราช 2566 ต้อนรับ “ปีเถาะ” ที่มีแนวโน้มจะเป็นกระต่ายป่า วิ่ง กระโดด มุด หลบหลีกภยันตราย

พญาอินทรี “สหรัฐอเมริกา” จะยังเป็นผู้กำหนดทิศทางโลกตามเป้าหมายการจัด “ระเบียบโลก” ใหม่ โดยมียุโรปและชาติพันธมิตรเป็นลูกคู่ขานรับนโยบายไม่ว่าสิ่งนั้นจะส่งผลเสียแก่ประเทศตัวเองก็ตาม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผลพวงจาก “สงคราม” ยูเครน-รัสเซีย ที่ยืดเยื้อข้ามมาสู่ปีนี้ ใครหรือที่ได้ประโยชน์จากการส่งอาวุธ ขายอาวุธ ส่งออกก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น คำตอบคือคนที่อยู่ไกล แต่สำหรับคนที่อยู่ใกล้นั้นก็รับกรรมกันไป แบกรับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวและผู้เดือดร้อนก็หนีไม่พ้น “ประชาชน” ตาดำๆ 

อย่างไรก็ตาม จากการแบ่งกลุ่มขั้วอำนาจการเมืองโลกกันอย่างชัดเจน ย่อมทำให้มีการจับขั้วภายในกลุ่มอย่างเหนียวแน่นมากขึ้น ในเมื่อชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯมีสิ่งที่เรียกว่า “องค์การสนธิสัญญาแอต แลนติกเหนือ” (NATO) ขั้วตรงข้ามก็จำเป็นที่จะต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเช่นกัน ซึ่งสิ่งนั้นคือ “กลุ่มเศรษฐกิจบริกส์” (BRICs) ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

...

กลุ่มบริกส์จะกลายเป็นกลุ่มพหุภาคีที่จะมายกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของประเทศสมาชิกและยกระดับความร่วมมืออื่นๆ ไม่ถูกจำกัดแค่ประเด็นเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า จี7 จี20 หรือกระทั่งเอเปก ก็แปรสภาพเป็นเวทีการจับขั้วทาง “ความมั่นคง” 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลุ่มหนึ่งยึดมั่นในหลักการสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความร่วมมือ ที่มาพร้อมกับเงื่อนไข “ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ให้ขานรับกับคุณค่าของโลกตะวันตก ขณะที่กลุ่มหนึ่งยึดมั่นในหลักการพัฒนา ความเจริญร่วม และ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” ไม่มีกฎ ข้อกำหนด เส้นมาตรฐานมาบังคับ หากกังวลก็จะมีลักษณะอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ

ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้จึงทำให้ปี 2566 จะเต็มไปด้วยการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้น อเมริกาของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ที่จะใช้ “ยูเครน” ของผู้นำโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และ “ไต้หวัน” ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน เป็นหมากในการเดินเกมต่างๆ ส่งสัญญาณแก่ประเทศอื่นๆว่า นี่คือฝ่ายของความถูกต้อง

เผชิญหน้ากับประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์ ปูติน” ของรัสเซีย และประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน ซึ่งในขณะเดียวกันย่อมแพ็กขั้วกันแนบแน่นยิ่งขึ้น ท่ามกลางซิกแนลว่า จะมีการขยายตัวกลุ่มความร่วมมือบริกส์ เพื่อให้กลายเป็น “บริกส์ส” โดยมีสมาชิกใหม่คือ “ซาอุดีอาระเบีย” ภายใต้การบริหารของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย หรือกระทั่ง “อิหร่าน” ที่เริ่มแสดงเจตจำนงอยากเข้าร่วม

และที่สำคัญปีนี้และปีต่อไป สหรัฐฯเองก็มีปัญหาภายในที่ต้องแก้จากกรณีพรรครัฐบาลเดโมแครตและพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน แบ่งอำนาจกันคนละสภา ซึ่งแน่นอน ว่ารีพับลิกันย่อมไม่ปล่อยโอกาสนี้ไป จะต้องมีการเตะตัดขา ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล เพื่อหวังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ที่มีความเป็นไปได้ว่าอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” จะลงแข่งขัน ตราบเท่าที่ยังหาแคนดิเดตคนอื่นๆมาแทนไม่ได้

ปี 2566 ยังถือเป็นห้วงเวลาของความ “เปราะบาง” ทางสังคมเช่นกันล้อมาจากสภาพแวดล้อมยุคใหม่ในโลกตะวันตก ที่ทักษะการแยกแยะระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “ความคิดเห็น” เริ่มกลายเป็นภาพเลือนลาง คนบางส่วนพร้อมที่จะเชื่อในบางสิ่งที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ว่าจะในประเด็นวิทยาศาสตร์ ข่าวลือ ข่าวปลอม ซึ่งหลายต่อหลายครั้งนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม การเรียกร้อง การชุมนุมประท้วง หรือถึงขั้นก่อจลาจล

...

โดยเฉพาะ “ชาวดิจิทัลเนทีฟ” กลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่เกิดหรือเติบโตในยุคดิจิทัล เชี่ยวชาญคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่กลับ “ไร้เดียงสา” อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อผลงานวิจัยจากหลายสถาบันทั้งในสหรัฐฯและในยุโรปชี้ชัดว่า กลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมาก ไม่สามารถแยกแยะ ระหว่าง “ความจริง” จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือ “เรื่องลวงโลก” ที่ถูกปั้นแต่ง “ชี้นำ” ผู้คนในโลกโซเชียลอย่างเสรี โดยอ้างสิทธิในการแสดงออกด้านความคิด ทำให้กลุ่มคนที่เป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคต ตกอยู่ในสภาวะที่ถูกชักจูง “ปั่นหัว” ให้คล้อยตามได้ง่าย

...

สังคมที่บอบบางยิ่งวิกฤติหนัก เมื่อผู้คนทั่วโลกมีพฤติกรรมเลือกเสพข้อมูลจากแหล่งที่ตนเองชื่นชอบและมีความเชื่อมโยงกัน โดยพร้อมปักใจ “เชื่อในสิ่งที่ต้องการเชื่อ” ไปในทางเดียวกันอย่างปราศจากข้อสงสัย หากมีผู้ “เห็นต่าง” ก็อาจมองเป็นศัตรู นำไปสู่การ “คัดทิ้ง” อันเฟรนด์หรืออันฟอลโล “เลิกคบ” มีการจัดระเบียบ “แบ่งขั้ว” เลือกข้างกันอย่างชัดเจน ยิ่งสร้างรอยร้าวลึกสุดโต่งในสังคมที่แขวนอยู่กับความขัดแย้งที่รอวันปะทุเป็นความวุ่นวายเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะจากโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทสำคัญในการโหมกระพือ

การแยกแยะที่เสื่อมถอยย่อมก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า ระบบโลกเสรีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และกรณีนี้จะยิ่งทำให้นักการเมืองและนักปกครองมองว่า “การควบคุม” คือหนทางที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการคุมความคิด คุมพฤติกรรม คุมข้อมูลข่าวสาร เพื่อความมีระเบียบเรียบร้อย

ในรอบปีที่ผ่านมา กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดไม่พ้นการลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่เพื่อ สิทธิสตรีที่อิหร่าน ชนวนเหตุจากหญิงสาวคนหนึ่งเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยตำรวจศีลธรรม หลังถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมผ้าคลุมศีรษะ “ฮิญาบ” จนลุกลามบานปลายไปทั่วโลกจากการปั่นแฮชแท็กจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ไปจนถึงใช้ศิลปะสื่อถึงการประท้วงบนอินสตาแกรม รวมถึงบนติ๊กต่อก รวมถึงภาพการ ประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ที่จุดกระแสในโซเชียลมีเดีย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อความกังวลว่าผู้ปกครองประเทศอาจหันมายึดแนวทาง “เผด็จการดิจิทัล” (digital authoritarianism) มาใช้กับประชาชนเพื่อกำหนดแนวทางล้อมคอกและ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

...

ท้ายสุดนี้ ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ 2566 แก่ท่านผู้อ่านอีกครั้ง พร้อมขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ ไร้อุปสรรคขัดขวาง และมีสติสัมปชัญญะ ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ในปีที่สังคมเปราะบาง การเมืองระส่ำ ด้วยเทอญ.

ทีมข่าวต่างประเทศ