หลังการปฏิบัติการเปิดฉากบุกยูเครนของกองทัพรัสเซียครบ 1 สัปดาห์ รัสเซียรุกคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แล้วเพราะเหตุใดจึงยังไม่สามารถยาตราทัพเข้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครนได้ จนกระทั่งต้องมีการส่ง “กองกำลังระลอกสอง” ขนาดมหึมาเข้าไปเสริมกำลัง วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันรับฟังทัศนะการวิเคราะห์ของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ในวันนี้ได้มาวิเคราะห์สถานการณ์ในยูเครน กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในประเด็นเหล่านั้นกันดู

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

วิเคราะห์การบุกระลอกแรกของรัสเซีย :

กองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนจาก 4 ทิศทาง ประกอบด้วย :

ทิศทางแรก คือ ทิศใต้ซึ่งมาจากทางไครเมีย
ทิศทางที่สอง คือ ทิศตะวันออกที่ติดกับชายแดนรัสเซีย
ทิศทางที่สาม คือ ทิศเหนือซึ่งมาจากประเทศเบลารุส

...

โดยมีกำลังหลัก หรือ ทิศทางเข้าตีหลัก อยู่ตรงเส้นเบลารุส จากเหนือลงใต้ เพื่อมุ่งเข้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครนโดยตรง และในห้วง 24 - 48 ชั่วโมงแรกของการบุก กองทัพรัสเซีย สามารถรุกคืบได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางการต้านทานจากกองทัพยูเครนที่น้อยมาก

นอกจากนี้ “บัญชีเป้าหมาย” หรือจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของกองทัพยูเครน เช่น ที่ตั้งทางการทหารสำคัญๆ สนามบิน และระบบป้องกันภัยทางอากาศต่างๆ ถูกกองทัพรัสเซียเข้าถล่มเสียหายอย่างหนักตั้งแต่ช่วง 48 ชั่วโมงแรกเกือบทั้งหมด พร้อมๆ กับปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้ผลอย่างยิ่งต่อการสั่งการและการบังคับบัญชาทางการทหาร

วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวางกำลังของกองทัพรัสเซีย ผ่าน การแสดงลวง :

สำหรับปฏิบัติการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย เท่าที่ส่วนตัวได้ติดตามมาตลอดเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีจุดที่น่าศึกษาในเชิงของยุทธศาสตร์ทางการทหารอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะชั้นเชิงการวางกำลังล่อหลอกก่อนเริ่มการปฏิบัติการ

ในช่วงแรกๆ ก่อนการบุกเราจะเห็นได้ว่า สื่อตะวันตกรายงานได้มีการนำภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการวางกำลังทหารของกองทัพรัสเซีย บริเวณชายแดนรัสเซียด้านที่ติดกับภูมิภาคดอนบัส (แคว้นโดเนตสค์ Donetsk และ ลูฮานสค์ Luhansk) พร้อมกับให้ตัวเลขมาว่าน่าจะมีประมาณ 120,000 นาย

ภาพถ่ายดาวเทียมการวางกำลังของรัสเซียก่อนบุกยูเครน
ภาพถ่ายดาวเทียมการวางกำลังของรัสเซียก่อนบุกยูเครน

ต่อมาอีกไม่นานนัก สื่อตะวันตกได้รายงานอีกครั้งกองทัพรัสเซียได้วางกำลังทหารชุดที่ 2 เอาไว้ที่บริเวณไครเมียซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ก่อนที่ต่อมาอีกไม่นานสื่อตะวันตกจะรายงานอีกครั้งว่า มีกองทหารรัสเซียชุดที่ 3 อยู่ประชิดชายแดนยูเครนด้านที่ติดกับประเทศเบลารุสทางทิศเหนือ โดยทั้ง 2 ครั้งหลังนี้ ให้ตัวเลขมาว่ามีอยู่ประมาณชุดละไม่น่าจะเกิน 30,000 นาย

ทำให้ในช่วงนั้นฝ่ายตะวันตก มีการประเมินกันว่า กำลังพล 120,000 นาย ที่จ่อภูมิภาคดอนบัส น่าจะเป็นทิศทางการเข้าตีหลักของกองทัพรัสเซีย

แต่เมื่อถึงเวลาบุกจริงๆ กลับปรากฏว่า กำลังพล 120,000 นาย กลายเป็นเพียงการหลอกล่อ หรือภาษาทหารเรียกว่า การแสดงลวง เพราะมีการปฏิบัติการในพื้นที่จำกัดเฉพาะในภูมิภาคดอนบัสเท่านั้น

แต่ทิศทางการเข้าตีหลัก กลับไปอยู่ที่กำลังพลซึ่งวางกำลังอยู่ติดชายแดนยูเครน ด้านที่ติดกับประเทศเบลารุส และจะใช้ระยะทางเพียงประมาณ 140 กิโลเมตร เพื่อมุ่งตรงเข้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครนทันที!

เหตุใดการบุกระลอกแรกของรัสเซียจึงหยุดชะงัก :

ยุทธศาสตร์เปลี่ยนเมืองเป็นป่า

เข้าช่วงวันที่ 3-4 ของการบุก เมื่อหน่วยยานเกราะของกองทัพรัสเซียเข้าสู่พื้นที่เขตเมือง การรุกคืบของกองทัพรัสเซียจึงค่อยๆ เริ่มชะลอตัวลง โดยจากการรายงานของสื่อตะวันตก แสดงให้เห็นว่า กองทัพรัสเซียได้รับความเสียหายไม่น้อย จากการรบในพื้นที่เขตเมือง ที่นำโดยกองทหารและประชาชนชาวยูเครน ซึ่งในเวลานี้ถึงกับประกอบโมโลตอฟ (ระเบิดเพลิง) มาช่วยกันต่อต้านกองทัพรัสเซีย

การรบในเขตเมือง มีความเหมาะสมกับกองทัพยูเครนในการต่อต้านกองทัพรัสเซียมากกว่า นั่นเป็นเพราะหากขืนไปรบตามรูปแบบอย่างไรก็คงจะสู้กับกองทัพรัสเซียที่เหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีอาวุธและกำลังพลไม่ได้แน่นอน

...

แต่หากเป็นการรบในเขตเมือง ซึ่งนอกจากจะสามารถอาศัยตึกรามบ้านช่องเป็นที่ซ่อนตัวเพื่อคอยอาศัยการลอบโจมตีกองทหารรัสเซียได้แล้ว อาวุธที่ได้รับบริจาคจากตะวันตก โดยเฉพาะอาวุธประทับบ่าต่อต้านอากาศยานที่เรียกว่า “สติงเกอร์ (Stinger)” ซึ่งนำวิถีด้วยอินฟราเรด และระบบขีปนาวุธต้านรถถัง “เจฟลิน (Javelin)” ที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯ และเป็นอาวุธแบบพกพาและใช้งานด้วยคนเพียงคนเดียวนั้น ยังเหมาะสมกับการอาศัยเศษซากตึกและอาคารในเขตเมือง เป็นที่กำบังตัวเพื่อคอยซุ่มโจมตีอากาศยานและยานเกราะของกองทัพรัสเซียด้วย โดยรายงานจนถึงตอนนี้มีการระบุว่า ทั้ง “สติงเกอร์” และ “เจฟลิน” สามารถทำลายเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และ รถถัง ของรัสเซียได้มากพอสมควร

ยุทธศาสตร์เปลี่ยนเมืองเป็นป่าของกองทัพยูเครน
ยุทธศาสตร์เปลี่ยนเมืองเป็นป่าของกองทัพยูเครน

...

“ยูเครนเขาก็ต้องหาจุดแข็งของเขาเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย เขารู้อยู่แล้วว่า รบในแบบยังไงก็สู้ไม่ได้ แต่หากเป็น รบในเมือง หรือพูดง่ายๆ รบแบบกองโจร เปลี่ยนเมืองเป็นป่า มีที่ซุ่มซ่อน ไม่ว่าจะเป็นมุมตึกซอกตึก กำแพง หรือชั้นใต้ดิน มันเหมาะสมมากๆ กับการปล่อยของอยู่แล้ว เพราะต้องไม่ลืมนะว่า คนที่อยู่ในรถถังมันมีทัศนวิสัยจำกัด ยิ่งหากเป็นการรบในเมือง ก็จะมองอะไรไม่ค่อยเห็นเหมือนการรบในทุ่งซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง ยิ่งเมื่อไม่กล้าโผล่ออกมาจากรถถังเพื่อตรวจการณ์ เพราะกลัวถูกซุ่มโจมตี ได้แต่คอยอาศัยช่องมองในรถถังมันก็มองได้ไม่ทั่ว คนที่แอบอยู่ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ เมื่อรถถังหรือยานเกราะแล่นมาถึงมุมตึก ซอกตึก หรือหัวเลี้ยว ซึ่งจะต้องชะลอความเร็ว ก็เจออีกฝ่ายปล่อยของเข้า ก็หงายท้องกันไปมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้สูงที่เหล่าชาติตะวันตกที่เป็นมิตรกับยูเครน เมื่อรู้ข่าวว่า รัสเซียมีแผนจะบุกยูเครน น่าจะมีการตระเตรียมให้กองทัพยูเครนมีความพร้อมสำหรับการรับมืออยู่พอสมควรแน่นอน เพราะฉะนั้นไอ้ที่บอกว่าไม่เกี่ยวๆ นั่นละ เอาจริงๆ มันก็คงมีการกระซิบกระซาบบอกเตือนๆ กันเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

การรบในเมืองรถถังสูญเสียความได้เปรียบ
การรบในเมืองรถถังสูญเสียความได้เปรียบ

...

วางแผนผิดพลาด หรือแค่คาดไม่ถึง :

“ส่วนตัวผมมองว่า รัสเซียไม่ถึงกับผิดพลาดอะไรมากนัก แต่ก็น่าจะเข้าลักษณะนึกไม่ถึง หรือประเมินต่ำไปสักนิดมากกว่า เพราะกองทัพรัสเซียคงคิดว่า น่าจะมีการต่อต้านเพียงเบาบางจากทางยูเครนเท่านั้น ด้วยความที่เคยสนิทสนมกันมาช้านาน หรือภาษาทหารเขาเรียกว่า รู้มือกันดีมาก่อน แต่จุดสำคัญที่ทำให้ ยูเครน สามารถต่อกรกับรัสเซียมาได้ขนาดนี้ คือ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ของยูเครน สามารถแสดงภาวะผู้นำปลุกใจประชาชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อต่อสู้กับกองทัพรัสเซียได้อย่างยอดเยี่ยม” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมให้ความเห็น

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน

วิเคราะห์การบุกระลอกสองของรัสเซีย :

กองทัพรัสเซียได้ส่งกองกำลังเข้าไป “เติม” หรือภาษาทางการทหารเรียกว่า “ระลอกที่ 2” หรือพูดง่ายๆ นี่คืออีกหนึ่งกองทัพที่ถูกส่งเข้าไปเสริมกำลังในพื้นที่การรบระลอกแรก และจากภาพถ่ายดาวเทียมที่สื่อตะวันตกนำเสนอนั้น จะเห็นได้ชัดว่าเป็นขบวนรบคอนวอย ซึ่งมีทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังพล และการส่งกำลังบำรุง ขนาดมหึมา เหยียดยาวถึงประมาณ 60 กิโลเมตร!

“นี่คือ...กำปั้นเหล็กที่รัสเซียจะนำมาใช้สำหรับการพิชิตกรุงเคียฟ และการประกาศให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ คือสัญญาณที่ชี้ชัดว่า คราวนี้กองทัพรัสเซียจะมีการใช้กำลังทางทหารที่หนักหน่วงกว่าการบุกระลอกแรกอย่างแน่นอน” พล.อ.นิพัทธ์ พูดพลางพร้อมสีหน้าแสดงความวิตกกังวล

ภาพถ่ายดาวเทียมการเคลื่อนกำลังพลบุกระลอกสองของรัสเซีย
ภาพถ่ายดาวเทียมการเคลื่อนกำลังพลบุกระลอกสองของรัสเซีย

การบุกระลอกสองคือการปิดเกม :

เท่าที่ได้รับฟังจากนักวิเคราะห์ตะวันตกต่างมองตรงกันนะว่า ภายในอีก 48-72 ชั่วโมงข้างหน้านี้ คือน่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับวิกฤติในยูเครน ส่วนคำถามที่ว่ากำลังทหารมากกว่า 200,000 นาย ของ กองทัพรัสเซีย ตามรายงานของสื่อตะวันตกก่อนหน้านี้ เพียงพอต่อการบุกยูเครนหรือไม่นั้น ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะ “เหลือเฟือ”

การตอบโต้จากฝ่ายตะวันตก :

สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นนี้ คือ เอาละหน้าฉาก สหรัฐฯ และนาโต ไม่ได้ส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยยูเครนปะทะกับรัสเซียตรงๆ แต่สิ่งที่พวกเราน่าจะสังเกตได้คือ “การทำสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชน” ไม่ว่าจะเป็นทั้งการโชว์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อฟ้องชาวโลกว่ารัสเซียกำลังจะใช้กำลังทหาร หรือการเผยแพร่คลิปต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะเทือนใจ ถึงความโหดร้ายจากสงครามที่ฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ก่อขึ้นมา เพื่อเขย่าขวัญชาวโลก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็น่าจะมีเป้าหมายเพื่อหวัง “โดดเดี่ยวรัสเซียจากสังคมโลก”

เพราะทุกวันนี้ การเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่การ “เบ่งกล้ามโชว์” ว่าใครมีอำนาจทางการทหารเหนือกว่าใคร แต่มันวัดกันที่ต่อจากนี้ไป “ใครมีพวกพ้องมากกว่ากัน”

วิเคราะห์การเดินเกมของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน :

สิ่งแรกที่ต้องรับรู้คือ เมื่อก่อนทั้งรัสเซียและยูเครนถือเป็นทองแผ่นเดียวกันมาก่อนสมัยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต โดยยูเครนเปรียบไปก็เหมือนยุ้งฉางสำคัญ เพราะนอกจากจะมีทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายแล้ว ยังสามารถผลิตอาหารได้จำนวนมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นเป้าหมายในท้ายที่สุดของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ย่อมต้องหนีไม่พ้นการผนวกยูเครนกลับเข้ามาเป็นทองแผ่นเดียวกันเช่นในอดีต

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย

“ความเห็นของผม ภายในใจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คงมองตะวันตกด้วยสายตาไม่น่าไว้วางใจ คือ ทั้งระแวงและระวัง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมุ่งวางยุทธศาสตร์ไปที่จะทำอย่างไรให้รัสเซียปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยด้วยรั้วแล้วนอกรั้วออกไปก็ต้องปลอดภัยด้วย คือ ต้องเป็นพวกเดียวกัน ว่ากันง่ายๆ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กล่าว

จุดสิ้นสุดวิกฤติยูเครน :

“ผมอยากขอเริ่มต้นแบบนี้ก่อนนะครับว่า ปัจจุบันเราอาจมุ่งความสนใจไปที่ การรบในกรุงเคียฟ จนอาจเผลอลืมไปว่า ตอนนี้ รัสเซียได้ทั้ง แคว้นโดเนตสค์ และ ลูฮานสค์ ของยูเครนเอามาตุนเป็นรางวัลไว้ในกระเป๋าเรียบร้อยแล้วนะครับ” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำ

อย่างไรก็ดีมาถึงวันนี้ ต้องยอมรับสถานการณ์เปลี่ยนไปจากที่รัสเซียคิดไว้ว่า น่าจะสามารถรวบหัวรวบหางได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และทางสหรัฐฯ รวมถึงนาโต ที่สุดแล้วก็คงจะทิ้งยูเครน เช่นที่มักเคยทำมาแล้วในเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้

ภาพถ่ายดาวเทียมขบวนคอนวอยการเสริมกำลังระลอกสองของรัสเซีย
ภาพถ่ายดาวเทียมขบวนคอนวอยการเสริมกำลังระลอกสองของรัสเซีย

แต่พอเอาเข้าใจจริงๆ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเล่นบทบาทในฐานะผู้นำของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร และยังทำให้การช่วยเหลือต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปยังยูเครนอย่างต่อเนื่องเสียด้วยจนกระทั่งเริ่มทำให้ยูเครน สามารถลืมตาอ้าปากได้พอสมควร และอาจจะยิ่งเปลี่ยนไปอีกก็ได้หาก “จีน” เริ่มแสดงท่าทีมากขึ้น

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า หากจีนเริ่มเข้ามาแสดงตัวในวิกฤติยูเครนมากขึ้น โดยอาจทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ภายใต้เงื่อนไขที่จะไม่ทำให้ใครเสียหน้าได้ บางทีรัสเซียอาจยอมถอยหลังหนึ่งก้าวก็เป็นได้ เพียงแต่เดิมพันที่จะนำไปใช้เจรจาเพื่อยื่นหมูยื่นแมวกันแบบสมน้ำสมเนื้อกันนั้น มันก็จะมีทั้งเรื่องที่ยอมเปิดเผยให้ชาวโลกได้รู้ และเรื่องลับๆ ที่ไม่มีการเปิดเผยให้ใครได้รู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในเกมการเมืองระหว่างประเทศ” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นในประเด็นที่ชาวโลกอยากให้เป็นจริงในเร็ววัน

ท้ายที่สุด “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อยากขอเน้นย้ำหลังการวิเคราะห์วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน เอาไว้ว่า ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ในแง่มุมของทั้งในเชิงรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้เป็นการสนับสนุนการกระทำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง