• วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศยอมรับดินแดนที่กลุ่มกบฏในยูเครนยึดครองเป็นรัฐอิสระ และออกคำสั่งส่งทหารเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เรียกเสียงประณามอย่างหนักจากชาติตะวันตก

  • สหรัฐฯ กับชาติยุโรปเริ่มทยอยประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปูติน แต่หลายฝ่ายมองว่า มาตรการของพวกเขานั้นเบาเกินไป ทำอะไรมอสโกไม่ได้

  • ชาติตะวันตกยังมีมาตรการรุนแรงที่สามารถเล่นงานรัสเซียได้อย่างในมือ แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่สามารถย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขาได้เช่นเดียวกัน

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ทำเรื่องที่สั่นสะเทือนไปทั่วทวีปยุโรป เมื่อเขาลงนามคำสั่ง ยอมรับในเอกราชของ สาธารณรัฐโดเนตสก์ (DPR) และสาธารณรัฐลูฮานสก์ (LPR) ซึ่งเป็นดินแดนที่กลุ่มกบฏทางตะวันออกของยูเครนประกาศแยกตัวออกมาจากแคว้นโดเนตสก์กับลูฮานสก์ แล้วประกาศตัวเป็นรัฐอิสระในปี 2557

คำสั่งของปูตินหมายความว่า รัสเซียจะยอมรับทั้ง DPR และ LPR เป็นรัฐอิสระ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของยูเครนอีกต่อไป ประธานาธิบดีรัสเซียยังออกคำสั่งส่งทหารเข้าไปประจำการในดินแดนทั้ง 2 แห่ง อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน หลังมอสโกเคลื่อนกำลังทหารนับแสนนายเข้าประชิดหลายด้าน จนเกิดความกังวลว่า รัสเซียเตรียมจะรุกรานยูเครนในไม่ช้า

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปูตินทำให้ชาติยุโรป และสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ เพื่อลงโทษรัสเซีย และป้องปรามไม่ให้มอสโกเคลื่อนไหวตามอำเภอใจไปมากกว่านี้ แต่นักวิเคราะห์มองว่า บทลงโทษที่พวกเขาใช้นั้นยังไม่รุนแรงพอจะทำอันตรายเศรษฐกิจของรัสเซียได้มากพอจนบีบให้รัฐบาลเครมลินยอมล่าถอย และตัวอย่างในอดีตก็แสดงให้เห็นว่า การคว่ำบาตรของตะวันตกทำอะไรรัสเซียได้ไม่มากกัน

อันที่จริง สหรัฐฯ กับชาติยุโรปยังมีมาตรการรุนแรงที่สามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของรัสเซียได้อย่างใหญ่หลวง แต่เชื่อว่าพวกเขาคงไม่ใช้มันหากไม่ถึงที่สุดจริงๆ เพราะมันเหมือนดาบสองคมที่จะสร้างผลกระทบต่อพวกเขาอย่างหนัก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

...

ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อ 21 ก.พ. 2565 เผยให้เห็น กองกำลังของรัสเซียที่ถูกส่งไปประจำการเพิ่มในเมืองเบลกอรอด ของรัสเซีย ห่างชายแดนที่เชื่อมต่อกับยูเครนเพียง 20 กม.เท่านั้น
ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อ 21 ก.พ. 2565 เผยให้เห็น กองกำลังของรัสเซียที่ถูกส่งไปประจำการเพิ่มในเมืองเบลกอรอด ของรัสเซีย ห่างชายแดนที่เชื่อมต่อกับยูเครนเพียง 20 กม.เท่านั้น

รัสเซียโดนคว่ำบาตรอะไรแล้วบ้าง?

สหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์การของรัสเซียจำนวน 27 รายการ รวมถึงธนาคารหลายแห่ง รวมทั้งจำกัดการเข้าถึงตลาดทุนยุโรป และห้ามการซื้อขายระหว่าง EU กับดินแดนที่กบฏยูเครนครอบครองทั้ง 2 แห่ง นอกจากนั้นสมาชิกสภา ดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียบางส่วนจากทั้งหมด 351 คน ก็ตกเป็นเป้าหมายลงโทษด้วย

ส่วนสหรัฐฯ ประกาศก่อนหน้านี้ว่า ห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจใน DPR และ LPR ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะออกแถลงการณ์ในวันอังคาร (22 ก.พ.) ประกาศแผนปิดกั้นการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร VEB และธนาคารกองทัพรัสเซีย, ตัดขาดรัฐบาลรัสเซียออกจากระบบการเงินของชาติตะวันตก เพื่อเล่นงานตราสารหนี้ และคว่ำบาตรบุคคลระดับสูงของรัสเซียหลายคนรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา

ไบเดนยังประกาศว่า จะส่งทหารสหรัฐฯ อุปกรณ์ที่อยู่ในยุโรปอยู่แล้ว ไปเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ชาติพันธมิตรแถบทะเลบอลติก โดยย้ำว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการป้องกัน สหรัฐฯ ไม่มีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ประกาศคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย 5 แห่ง กับนักธุรกิจใหญ่ชาวรัสเซียอีก 3 คน โดยระบุว่านี่เป็นเพียงมาตรการลอตแรกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาหลายคนออกมาตำหนิรัฐบาลว่า ควรใช้มาตรการที่รุนแรงและมุ่งเป้าไปที่ธนาคารกับผู้มีอำนาจในรัสเซียมากกว่านี้

ด้านเยอรมนี ยอมตัดช่องทางส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้ามายังประเทศของตัวเอง ด้วยการระงับการออกใบอนุญาตประกอบการให้แก่โครงการท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 2 ของรัสเซีย ซึ่งจะส่งก๊าซธรรมชาติให้พวกเขาปีละกว่า 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หากเปิดใช้งาน

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการ นอร์ด สตรีม 2
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการ นอร์ด สตรีม 2

คว่ำบาตรทำร้ายรัสเซียไม่ได้?

วิกตอร์ ตาตารินต์เซฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสวีเดนเคยถูกถามความคิดเห็นเกี่ยวมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่จากสหรัฐฯ และยุโรป ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเขาตอบว่า “ขอโทษที่หยาบคายนะ แต่เราไม่สนใจเรื่องการคว่ำบาตรของพวกเขาเลย เราโดนคว่ำบาตรมากมายอยู่แล้ว และหากมองบางมุม มันมีผลดีต่อเศรษฐกิจและการเกษตรของเราด้วยซ้ำ เราพึ่งพาตนเองมากขึ้นและส่งออกได้มากขึ้น”

คำพูดของนายตาตารินสต์เซฟ อาจฟังดูเกินไปบ้าง แต่มันก็มีความจริงอยู่ด้วย เห็นได้จาก หลังรัสเซียควบรวมไครเมียเป็นของตัวเองในปี 2557 สหรัฐฯ กับชาติยุโรปก็ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ทั้งอายัดทรัพย์, ห้ามเดินทาง, จำกัดเงินกู้ และแบนการส่งต่อเทคโนโลยี ต่อธุรกิจ, หน่วยงานรัฐ และชาวรัสเซีย รวมถึงคนใกล้ชิดของปูตินหลายคน แต่เศรษฐกิจของมอสโกก็ทนได้มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

ระหว่างทางนั้น รัสเซียโดนคว่ำบาตรเพิ่มเติมอีกจากหลายสาเหตุ เช่นข้อกล่าวหาเรื่องการวางยาพิษลอบสังหารแกนนำฝ่ายค้าน อเล็กเซย์ นาวัลนี ในปี 2563 แต่ก็ไม่อาจทำให้ปูตินยอมอ่อนข้อได้แม้แต่น้อย ตราบเท่าที่ชาติตะวันตกไม่ยอมใช้มาตรการสำคัญ 2 อย่างที่อาจกระทบการเงินรัสเซียอย่างแท้จริงคือ การจำกัดการส่งออกพลังงานของรัสเซีย และจำกัดการเข้าถึงระบบธนาคารระหว่างประเทศ

เหตุผลอีกอย่างที่การคว่ำบาตรอย่างครึ่งๆ กลางๆ ใช้ไม่ค่อยได้ผลคือ นับตั้งแต่ปี 2557 รัสเซียดำเนินการมากมาย เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้านทานแรงกดดันจากภายนอกได้มากขึ้น รวมถึงการสะสมเงินตราต่างประเทศสำรอง ที่ตอนนี้มีไม่น้อยว่า 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนเกิน 50% ซึ่งสามารถนำมาใช้ในยามเกิดวิกฤติจนเงินรูเบิลด้อยค่าได้

...

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ตะวันตกยังมียาแรงให้ใช้แต่ต้องเสี่ยง

ตามที่ระบุไปข้างต้น การจำกัดการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะสร้างความเสียหายอย่างจริงจังแก่มอสโก ด้วยความที่ว่า รัสเซียมีน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในสต๊อกมหาศาล คล้ายกับชาติน้ำมันในตะวันออกกลาง ภาคพลังงานจึงสร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 25% ของจีดีพี, คิดเป็นเกือบ 30% ของงบประมาณประเทศ, 2 ใน 3 ของรายได้จากการค้าขายกับต่างชาติ และ 1 ใน 4 ของเงินลงทุนในเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งการปิดกันการส่งออกจะกระทบต่อรายได้ในส่วนนี้ทั้งหมด

ทว่า การคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซียไม่อยู่ในมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ และยุโรป อย่างน้อยก็ในตอนนี้ สาเหตุหลักคือ กว่าครึ่งของก๊าซธรรมชาติและ 1 ใน 4 ของน้ำมันที่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปนำเข้ามานั้น มาจากรัสเซีย การปิดกั้นการส่งออกจะทำให้ราคาพลังงานที่พุ่งสูงอยู่แล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พุ่งสูงขึ้นไปอีก ขณะที่การหาแหล่งพลังงานอื่นในระดับเดียวกันก็เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกับเยอรมนีและชาติ EU ผู้ให้คำมั่นจะลดละเลิกใช้ถ่านหินเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ส่วนการจำกัดรัสเซียจากการเข้าถึงระบบธนาคารระหว่างประเทศก็อาจสร้างปัญหาใหญ่ให้มอสโกได้เช่นกัน ตัวเลือกหนึ่งคือ การแบนธนาคารรัสเซียออกจาก Swift ระบบโอนเงินข้ามประเทศที่ใช้โดยสถาบันการเงินหลายพันแห่งทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ธนาคารรัสเซียทำธุรกิจในต่างประเทศได้ลำบากมาก แต่มาตรการนี้ก็ไม่อยู่ในการพิจารณาของสหรัฐฯ กับชาติยุโรปเช่นกัน หลังจากผู้ให้กู้ในยุโรปออกมาแสดงความกังวลว่า พวกเขาจะไม่ได้สินเชื่อคงค้างมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของพวกเขาที่อยู่ในรัสเซียกลับคืนมา

...

ผู้ชุมนุมสนับสนุนยูเครน รวมตัวกันที่จัตุรัสในกรุงปราก ของสาธารณรัฐเช็ก เมื่อ 22 ก.พ. 2565
ผู้ชุมนุมสนับสนุนยูเครน รวมตัวกันที่จัตุรัสในกรุงปราก ของสาธารณรัฐเช็ก เมื่อ 22 ก.พ. 2565

ตัวเลือกอื่นๆ ของชาติตะวันตก

หากยุโรปไม่อยากทำถึงขั้นตัดธนาคารรัสเซียออกจาก Swift พวกเขาก็สามารถขึ้นบัญชีดำธนาคารรัสเซียและจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้ ซึ่งทำให้รัสเซียต้องเข้ามาช่วยเหลือธนาคารเหล่านั้นเพื่อป้องกันเงินเฟ้อพุ่งสูง แต่มาตรการนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนตะวันตกที่มีเงินในธนาคารเหล่านั้นเช่นกัน

ชาติตะวันตกอาจใช้วิธีจำกัดการส่งออกส่วนประกอบอุปกรณ์ไฮ-เทค เช่น ชิปสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดตอนนี้ให้รัสเซีย หรือออกมาตรการเล่นงานนักธุรกิจและผู้มีอำนาจชาวรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับนายปูตินเพิ่มก็ได้

แต่จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าคำขู่ของชาติตะวันตกจะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของปูตินเลย เพราะเขารู้ดีว่า สหรัฐฯ กับยุโรปคงไม่กล้าใช้มาตรการรุนแรงที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายล่มจมไปพร้อมๆ กัน ส่วนประเทศที่มีความใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่าอย่าง ฮังการี, อิตาลี และออสเตรีย ก็อาจจะไม่อยากคว่ำบาตรรุนแรงอยู่แล้วด้วย




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : newyorker , bbc

...