เตือนตั้งแต่วันนี้ถึง 14 ต.ค. ฝนตกกระหน่ำภาคกลาง "กรุงเทพฯ-อยุธยา" เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง แนะขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำ เตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
ช่วงเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์อุทกภัยได้สร้างความเสียหายให้พี่น้องทางภาคเหนือ ทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ อย่างที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน และแม้ว่าวันนี้มวลน้ำจะไหลผ่านไปแล้ว แต่ก็ทิ้งร่องรอยแห่งความทุกข์ไว้ไม่น้อย เช่น ดินโคลนที่ไหลมาพร้อมกับสายน้ำ เราจะเห็นว่า ณ วันนี้หลายหลังคาเรือนยังไม่สามารถนำโคลนเหล่านั้นออกจากที่อยู่อาศัยได้หมดเลย
อย่างไรก็ตาม ทางทีมข่าวฯ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอยู่เป็นระยะ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 เราได้พูดคุยกับ 'นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ' ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งให้สัมภาษณ์บางช่วงว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะขยับลงด้านล่าง พาดผ่านฝั่งตะวันตกและตะวันออก ด้านตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือลุ่มน้ำสะแกกรัง และฝั่งกำแพงเพชรซึ่งเป็นฝั่งเขา ถ้าฝนตกจะเกิดน้ำหลากลงมา เพราะเป็นภูเขาสูงชันที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด ส่วนฝั่งตะวันออกคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีโอกาสที่น้ำจะเต็ม จึงจำเป็นต้องเร่งพร่องระบายน้ำไว้ก่อน
...
ล่าสุดสำหรับสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ 'รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์' ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ภาคเหนือน้ำเริ่มลดแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังภาคกลางเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นไล่มาตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ จนถึงพระนครศรีอยุธยา อาจทำให้เกิดน้ำท่วมริมตลิ่งและมีโอกาสน้ำล้นคันกั้นได้
"โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับเพิ่มจาก 1,832 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,682 ลบ.ม./วินาที ถือว่าใกล้ปริ่มน้ำมากแล้ว หากเกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที อาจต้องมีการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่อำเภอบางบาลและบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ" รศ.ดร.สุจริต กล่าว
การคาดการณ์ฝนในช่วงนี้ รศ.ดร.สุจริต ระบุว่า ร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้ปลายสัปดาห์นี้ มีโอกาสฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคกลาง จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนริมน้ำ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานได้ส่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครแล้ว โดยทาง กทม. ได้เตรียมขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำแก้ปัญหาพื้นที่ฟันหลอ พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นตามแผนรับมือหน้าฝนปี 2567 แล้ว
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ถึงสถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อน และสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 14 ตุลาคม 2567 พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ น่าน ยม วัง และเจ้าพระยารวม 20 จังหวัด จำนวน 1.347 ล้านไร่ โดยจะยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และเริ่มลงภาคใต้ โดยปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 61 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 91 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 68 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 64
ทีมข่าวฯ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ข้อมูลระบุ และพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เป็นระยะ เพื่อการเตรียมตัวรับมืออย่างทันท่วงที