คาดฤดูฝนปีนี้สิ้นสุดช้ากว่าปีก่อน ประมาณ 1 อาทิตย์ ภาคเหนือ-อีสาน ยังต้องเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำไหลหลาก ด้านกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนตกหนักอีกระลอก ประมาณวันที่ 28-29 ก.ย.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 23 – 25 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคใต้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง
ส่วนช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่มีฝนตกหนักบางแห่ง
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ปีนี้คาดว่า ฤดูฝนจะยาวนานกว่าปีก่อน โดย ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า ปกติฤดูฝนจะหมดในช่วงกลางเดือน ต.ค. แต่ปีนี้ฤดูฝนจะยืดออกไปอีกประมาณ 1 อาทิตย์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ อีสานตอนบน มีฝนตกนานมากขึ้นกว่าปีก่อน และหลังจากนั้นมวลอากาศเย็นเข้ามาปกคลุมแทน และเป็นการเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ จะเข้าสู่ฤดูหนาวช้ากว่าภาคเหนือ
...
แม้ในช่วงเวลาที่ภาคเหนือ และอีสานสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว แต่ร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝน พาดผ่านมายังภาคใต้ ทำให้มีพายุฝนแรงขึ้น บางปีมีพายุที่มาจากทะเลจีนใต้ ทำให้มีผลกระทบจากฝนอย่างหนัก ปีนี้ต้องจับตาว่าจะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ ซึ่งภาคใต้จะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณเดือน ธ.ค. แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีพายุเข้ามาทำให้ฝนตกยาวนานขึ้นหรือไม่ ถ้านานสุดฤดูฝนของภาคใต้จะหมดช่วงเดือน ม.ค.ของปีถัดไป
“ด้วยความที่ปีนี้ มีปรากฏการณ์ลานินญ่า มีผลทำให้ฝนตกนานขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ แต่สาเหตุที่ทำให้ฝนตกชุก มีด้วยกันหลายปัจจัย โดยเฉพาะการมีมวลอากาศเย็นพัดเข้ามา ทำให้มีร่องอากาศแรงมากขึ้น จนเกิดฝนตกหนัก หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ปีนี้การสิ้นสุดฤดูฝนของไทย ช้ากว่าปีก่อนประมาณ 1 อาทิตย์”
สำหรับพื้นที่ที่ต้องระวังน้ำป่าไหลหลากคือ ภาคเหนือ อีสาน รวมถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยช่วงปลายสัปดาห์ (28 ก.ย. 67) จะมีมรสุมพาดผ่านเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ อีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนชุกมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดฝนตกแช่ในบางพื้นที่เป็นเวลานาน โดยในบางพื้นที่อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก ที่เกิดจากการสะสมของปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เป็นเวลานาน
ฝากให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพราะบางพื้นที่เช่น ภาคเหนือและอีสาน ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมซ้ำได้ ดังนั้นหากทราบถึงการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า จะได้เตรียมรับมือได้ทัน.