ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย คงต้องเดินหน้าต่อในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไม่มีล้มตาม เศรษฐา ทวีสิน หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และยังยึดตามวัตถุประสงค์เดิมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินสด แบบทีเดียว 1 หมื่นบาท หรือแบ่งจ่ายลอตแรกคนละ 5 พันบาท แล้วประชาชนเกือบ 50 ล้านคนจะได้สิทธิ์เหมือนเดิมหรือไม่? ต้องติดตาม จากหลายแนวคิดที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหารือให้ได้ข้อสรุป คาดว่าหลังการแถลงนโยบายต่อสภาฯ

เบื้องต้นอาจช่วยเหลือคนไทยกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือผู้ถือบัตรคนจนเป็นอันดับแรก ให้เป็นไปตามกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ต้องเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น หรือภายในเดือน ก.ย.2567 นี้ ไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ตามที่หลายฝ่ายเตือนมา ในการเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำภายในปีงบประมาณนั้น 

ดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินสดเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่แจกแล้วจบ

ในมุมมองของ “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เห็นว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าอย่างไร แต่น่าจะแจกเป็นเงินสด ไม่ใช่เงินดิจิทัลสกุลเงินโทเคน ไปซื้อสินค้าผ่านร้านค้าที่ 1 ร้านค้าที่ 2 ร้านค้าที่ 3 และวันนี้ต้องย้อนไปสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยแจกเงินโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปฯ เป๋าตัง หากดำเนินการแบบนั้นจะทำให้เม็ดเงินสะพัดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะรายเล็ก ต้องดูว่า 45 ล้านคน ได้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนกี่คน เพราะการแจกเงินคนรายได้น้อยตัวทวีคูณจะสูง

...

“ต้องดูจำนวนคน และดูจำนวนเงินที่ได้รับ หากแจกเงินเฉพาะกลุ่ม เม็ดเงินที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมากในการหาแหล่งเงิน และถ้าไม่ติดในข้อกฎหมาย ทำได้เร็ว ซึ่งส่วนตัวไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร อาจไม่เห็นดีเห็นงาม แต่จะได้ประโยชน์ 2 ส่วน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับขึ้นสูง เพราะเศรษฐกิจไทยโตด้วยความเหลื่อมล้ำมานาน หากไม่ได้แจกแล้วจบ หลังจากนี้จะยกระดับเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่เอาไปละลายแม่น้ำอย่างเดียว อยากให้รับเงินไปแล้วไปทำทุนต่อ”

แจกเงินสดคนรายได้น้อย ในวงเงินที่มีอยู่ เศรษฐกิจโตน้อยนิด

ขณะที่ “ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี” อาจารย์เกียรติคุณ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กลับมองว่า ตัวทวีคูณคงไม่สูง หากจ่ายเป็นเงินสดให้กับคนรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะเอางบประมาณจากที่อื่นมา มีเม็ดเงินแค่ 1.22 แสนล้านบาทเท่านั้น ไม่มีผลอะไรมากมาย และเป็นการโอนเงินสด หากโอนให้ 100 บาท ให้ไปซื้อสินค้า 100 บาทในระบบเศรษฐกิจ อาจไม่ใช้จ่ายเงินทั้งหมด หรือไปซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แปรงสีฟัน อาจใช้เงินที่ได้มาไปจับจ่ายซื้อแทนเหมือนที่เคยใช้จ่าย โดยผลสุทธิแล้วได้ผลไม่มาก และเท่าที่มีการคำนวณเศรษฐกิจจะโต 0.4-0.5% ก็ได้เท่านั้น ไม่ได้โตมากไปกว่านั้น

“หากไม่ปรับเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ต ให้คนอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ถึงจะเข้าโครงการได้ ถามว่าถ้าคนขายของแล้วไปขึ้นเงินไม่ได้ ก็คงไม่มีรายเล็กอยากเข้าโครงการ คงไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก และไม่แน่ใจจะจ่ายเป็นเงินสดกับคนได้สิทธิ์ทั้งหมดหรือไม่ แต่เท่าที่ติดตามมา คนมีบัตรคนจนจะได้เงินลอตแรก ส่วนคนอื่นที่ได้สิทธิ์อาจได้เงินดิจิทัลเหมือนเดิม และคิดว่าโครงการนี้ถ้าทำเป็นงบผูกพันในปีงบ 2568 น่าจะใช้ได้ ใช้เทคนิคทางกฎหมาย น่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ปัญหาที่ตามมาอาจเจอยื่นยุบพรรคก็ได้”

ปัญหาเกิด เพราะอ่อนการสื่อสาร ให้คนเข้าใจดิจิทัลวอลเล็ต

หากแจกเงินสดให้เฉพาะกลุ่มถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็คงมีการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นที่สุด แต่คงไม่สามารถควบคุมไปห้ามได้ หากไปซื้อสินค้าอย่างอื่น และมองแล้วรัฐบาลอ่อนการสื่อสารกับประชาชนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะจริงๆ แล้วเงินดิจิทัลไม่ต่างกับเงินสด ก็เข้าใจรัฐบาลในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนซื้อของภายในประเทศเป็นหลัก และจังหวัดที่ด้อยความเจริญได้ประโยชน์ไปด้วย เป็นการกระจายผลประโยชน์ไปเมืองเล็กเมืองน้อย

...

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ และการโอนเงินจากดิจิทัลมาเป็นเงินสดก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ใครจะได้ผลประโยชน์จากการแลกเงินตามกระแสข่าวลือ ก็ไม่จริง ทางรัฐบาลน่าจะบอกเป็นเงินบาทในรูปแบบเงินดิจิทัลที่อยู่ในบัญชี สามารถนำไปใช้ได้ง่าย และควบคุมได้ว่าอะไรห้ามซื้อ แต่หากเป็นการแจกเงินสด ไม่สามารถควบคุมได้ สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด ไม่ได้ใช้จ่ายในท้องถิ่น ในการกระจายผลประโยชน์.