ศึกตำรวจตัดตำรวจ บิ๊กต่อ บิ๊กโจ๊ก ต่างเงียบ แต่...ส่งตัวแทนออกสงคราม “บิ๊กเอก” ชี้แบ็กข้างหลัง หรือจะสู้หลักฐาน ที่เริ่มเห็นร่องรอย ศึกนี้จบต้องมีคนติดคุก...
เชื่อว่าหลายคน คงรู้สึกเหมือนกันว่า “ยังไม่จบอีกหรือ” กับปัญหา 2 บิ๊กตำรวจ ระหว่าง “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กับ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายทั้งคู่ เข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือจะเรียกภาษาบ้านๆ ว่า “เข้ากรุ”
แทนที่คำสั่งย้ายเสร็จสิ้นแล้ว ทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน กลายเป็นว่า จู่ๆ ก็มี “ตัวแทน” โผล่ออกมา ฝ่าย “บิ๊กโจ๊ก” คือ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ออกมาแฉรัวๆ เรื่อง “ส่วย” โยงตำรวจใหญ่ ต.เต่า ขณะที่ฝ่าย “บิ๊กต่อ” ส่ง อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลืออาชญากรรม ออกมาไฟต์ด้วย กลายเป็นว่า “ภาพความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่จบ และวันนั้นที่ทั้งสองคนกอดกันก่อนเข้าพบ นายกฯ คืออะไร...?
...
ตำรวจตัดตำรวจ กับ สงครามตัวแทน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ตอบคำถามว่า จริงๆ ทั้งสองคนก็หยุดนะ... เพราะทั้งสองคนนั้นไม่ได้พูดอะไร เพียงแต่มีคนอื่นมาพูดแทน กลายเป็น “สงครามตัวแทน” ทาง “บิ๊กโจ๊ก” ก็ให้ทนายษิทรา หรือ ทนายตั้ม ขณะที่ฝ่ายบิ๊กต่อ ก็ให้ นายอัจฉริยะ ซึ่งนี่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ป.ป.ช. ปปง. หรือพนักงานสอบสวนก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง
“ความเป็นจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะจบง่ายอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายอาจต้องมีคนติดคุกติดตะราง เพราะหลายคดีเกี่ยวข้อง การที่เขาบอกว่า จะถอน จะถอย หรือตกลงกัน...วันนั้น หลังที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องแบบนี้ ถอยไม่ได้ เพราะมันเป็นคดีอาญา ใช่ว่าจะถอยและยุติจบลงได้ ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย”
ขณะเดียวกัน กรณี สน.เตาปูน ที่มีการโยกไปที่ ป.ป.ช. และมีการโต้เถียงเรื่องอำนาจอยู่ เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องได้ข้อยุติก่อน ซึ่งทุกอย่างนั้น ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เพราะมันจะมีความผิดตามมา
พล.ต.อ.เอก บอกว่า นอกจากคดีอาญาแล้ว ยังมีคดีด้านวินัยด้วย ซึ่งประเด็นนี้ก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ทั้งนี้ หลายคนอาจจะยังไม่คุ้น เพราะมันมี “คณะกรรมการ” ที่เกิดขึ้นใหม่ คือ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หากมีตำรวจประพฤติมิชอบ ทำผิดอาญา ทำผิดวินัย คณะกรรมการชุดนี้ ถือว่ามีอำนาจในระดับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
ร้อง ก.ร.ตร. ปม “บิ๊กต่อ” ต้องเอาเรื่อง “บิ๊กโจ๊ก” มาพิจารณาด้วย
พล.ต.อ. กล่าวว่า เดิมเรามี 2 ก. คือ ก.ต.ช. และ ก.ตร.
ก.ต.ช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ : เป็นการกำหนดนโยบายในภาพรวม เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ก.ตร. ซึ่ง ก.ตร. ก็เหมือนเป็นลูกน้อง ก.ต.ช. ซึ่งหน้าที่ ก.ตร. ก็ดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ควบคุม กำหนดตำแหน่ง เงินเดือน ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ก.ตร.
แต่เวลานี้มีเพิ่มมาอีก 2 ก. คือ...
ก.พ.ค. คือ กรรมการพิทักษ์คุณธรรม เหมือนกับเอาศาลปกครองมาตั้งไว้ เพราะเมื่อก่อน เวลามีปัญหาเรื่องการร้องเรียนการโยกย้ายไม่เป็นธรรม คนที่พิจารณาก็คือ ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ซึ่งก็คือ ย้ายเอง พิจารณาตัวเอง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ (ก.พ.ค.) ขึ้นมา
ส่วน ก. อีกชุด คือ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เป็นเหมือนองค์กรกลาง มีตำรวจ 3 คนที่เลือกมา พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม, พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน นอกจากนี้ ยังต้องเลือกตัวแทนจากศาล สภาทนายความ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิฯ และมีตัวแทนจาก อปท. อีก เวลานี้มีตัวแทน 7 คนแล้ว ซึ่งในทางกฎหมาย ระบุว่า สามารถทำงานได้แล้ว เพียงแต่เวลานี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นการทำงานเท่านั้น
“ท่านเรวัช เคยพูดว่า หากมีใครเอาเรื่องนี้มาร้องเรียนกับท่าน ก็สามารถนำไปสู่การพิจารณาได้ และเท่าที่ทราบ คือ ทนายษิทรา จะเอาประเด็นที่ร้องเรียนเกี่ยวกับลูกน้อง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ไปร้อง... หากมีการร้องเรียนลักษณะนี้จริง ก็เข้าตามกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 49 ให้อำนาจ คณะกรรมการเรื่องร้องเรียนตำรวจกระทำการโดยมิชอบ ผิดวินัย ผิดจริยธรรม จรรยาบรรณ คณะกรรมการ ก.ร.ตร. ก็มีอำนาจไต่สวน ทำเอง หรือมอบหมายให้ จเรตำรวจ ได้ หากพบการกระทำผิด หรือพยานหลักฐาน ก็สามารถส่งเรื่องให้กับผู้บังคับบัญชาลงโทษได้ (ไม่จำเป็นต้องสอบสวน) ซึ่งถือว่ามีอำนาจ”
...
ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า หากทนายษิทรา ไปร้องเรื่องนี้จริง (อาจเข้าพิจารณาวันพุธ 3 เม.ย.) ก็ต้องดูเรื่องกรณี “รองโจ๊ก” ด้วย ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า “ความปรากฏ” หมายความว่า เรื่องรองโจ๊กไปถึง ก.ตร. หรือไม่ ซึ่งความจริงไม่ใช่รู้แค่ ก.ตร. แต่รู้กันทั่วประเทศ ดังนั้น หากจะรับเรื่องกรณี ทนายษิทรา ก็ต้องรับเรื่องกรณี “รองโจ๊ก” ด้วย เพราะก็โดนข้อกล่าวหาเช่นกัน และเพื่อความเป็นธรรมสองฝ่าย ก็ต้องหยิบคนที่ร้องฝ่ายโจ๊กมาด้วย ทั้งการร้องเรียนเรื่องเส้นทางการเงิน เงินทำบุญ เงินซื้อทอง เป็นต้น
ความขัดแย้งไม่จบ เรื่องปวดหัว รักษาการ ผบ.ตร.?
ความวุ่นวายที่ส่งผลถึง “บิ๊กต่าย” รักษาการ ผบ.ตร. (พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์) หรือไม่? พล.ต.อ.เอก กล่าวติดตลกว่า ไม่เห็นท่านจะปวดหัวนะ เพราะออกทีวีทีไรก็เห็นยิ้มทุกครั้ง ท่านเองเป็นคนสุภาพ ใจดี ส่วนตัวเชื่อว่า ท่านไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะสิ่งที่ทำในเวลานี้ คือการทำตามนโยบายท่านนายกฯ ด้วยการปราบปรามปัญหาต่างๆ ซึ่งเวลานี้ข่าวมากมาย
...
“ปัญหาคนตีกัน ต่อให้เป็น ท้าวมาลีวราช ก็ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย”
เมื่อมองย้อนกรณี นายกฯ เศรษฐา เซ็นคำสั่งย้ายทั้ง 2 คน ถึงเวลานี้ถือว่าถูกหรือไม่ พล.ต.อ.เอก ยืนยันว่า สถานการณ์วันนั้น หากไม่ทำแบบนี้ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร... สิ่งที่ทำไม่ได้บอกว่าใครผิด เพียงแต่เป็นการรอการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบ ก็อยากให้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ, นายชาติพงษ์ จีระพันธุ หรือ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ตั้งขึ้นโดย นายกรัฐมนตรี) หากอยากตรวจสอบก็ตรวจไป เพียงแต่อยากให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง คือ ป.ป.ช. พนักงานสอบสวน ก.ร.ตร. (ตรวจสอบทางวินัย)
ในเชิง “นัย” เหมือนกับว่าทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเล่นหนัก คล้ายกับว่ามี “แบ็ก” อยู่ข้างหลัง พล.ต.อ.เอก ชี้ว่า อย่ามองเรื่องนี้ อยากให้แยกแยะ เพราะการกล่าวหาก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวนไป
“หากมีพยานหลักฐาน แบ็กที่ไหน ใคร..จะมาช่วยได้ หากไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีแบ็ก ก็ไม่ผิด แต่ถ้ามีพยานหลักฐาน และเวลานี้ก็เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลักฐานทางดิจิทัล มีรูป รอย หลงเหลือ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคำบอกเล่า มันก็พิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่จริง”
...
หากเรื่องนี้ไม่จบ และบานปลาย จะส่งผลต่อศรัทธาต่อประชาชน อย่างไร ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ตอบว่า อยากให้พี่น้องประชาชนแยกแยะ เพราะเป็นเรื่อง “ปัจเจก” บุคคล
พล.ต.อ.เอก ยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งไปออกรายการกับ “อาจารย์โต้ง” (รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล) บอกว่า ที่ประเทศอังกฤษเคยมีตำรวจ จำนวน 38,000 คน ถูกตั้งกรรมการสอบ กรณีคุกคามทางเพศ โดยมีการไล่ออกไปกว่า 2,000 คน หรือเมื่อหลายปีก่อนฮ่องกง ก็มีการตั้งกรรมการสอบ และมีการไล่ออกไปหลายร้อยคน
“เรียกว่า นิ้วไหนร้าย ก็ต้องตัดนิ้วนั้น...เมื่อมีกระบวนการตรวจสอบ ก็ต้องเอาผิด ลงโทษ”
ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า แม้เวลานี้จะเกิดวิกฤติศรัทธากับประชาชน ประชาชนไม่เชื่อมั่น ก็เป็นไปได้ แต่อยากจะบอกว่า อย่างน้อยยังมีตำรวจดีๆ เป็นที่พึ่งได้อยู่ สื่อเคยถามประชาชนถึงความเชื่อมั่นตำรวจ ผลคือ 80% ไม่เชื่อมั่น ซึ่งเรื่องนี้เราปฏิเสธบริบทสังคมไม่ได้ แต่สุดท้ายหากมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นก็ต้องแจ้งความ และยังเป็นที่พึ่ง ดังนั้น จึงอยากวิงวอนประชาชนให้แยกแยะ
“ตำรวจชั่ว เราไม่สนับสนุน ส่งเสริม หลายคนแฉเรื่องเก็บส่วย ซึ่งความจริงมีมากกว่าที่แฉอีก หลายร้อยพันอย่าง ซึ่งที่ผ่านมามีการไล่ออกตำรวจนอกแถวปีละ 200-300 คน ลงโทษขัง หากจะมีตำรวจไม่ดีอยู่บ้าง ก็ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข” พล.ต.อ.เอก ทิ้งท้าย...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ