“ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์” นำเสนอต่อเนื่องมาถึง “EP.4” กับการเจาะเบื้องหลังโครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ภายใต้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้าน มีแผนขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทางยาวถึง 20.5 กิโลเมตร

ตัวอุโมงค์มีขนาด 4.20 เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ 500 เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฝ่ายนักอนุรักษ์ นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าโครงการนี้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และจะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า พืชพรรณ และธรรมชาติ

เมื่อความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีทั้ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” เรื่องการสร้างอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้พื้นที่ 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ที่ถูกขนานนามให้เป็น “อีสานแห่งเมืองกาญจน์” จึงกลายเป็นที่มาของการเกาะติดนำเสนอข่าวโครงการนี้ 

...

“ทีมข่าวไทยรัฐ” ลงพื้นที่พิสูจน์ จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

วันที่ 13 ก.พ. 2567 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำตัวแทนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่แนวก่อสร้างอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระ เพื่อหารือร่วมกัน โดยนายชยันต์ ยืนยันการขุดอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระคำนวณแล้วคุ้มค่าที่สุด ประหยัดงบประมาณมากที่สุดและส่งผลกระทบน้อยที่สุด 

“ตัวอุโมงค์สนนราคาก่อสร้างประมาณ 3.8 พันล้าน แต่ทั้งโครงการฯ จะประมาณ 1.2 หมื่นล้าน ประกอบด้วย ค่าที่ดิน และการวางระบบชลประทานต่างๆ ซึ่งโครงการนี้จะมีพื้นที่รับประโยชน์ 4.8 แสนไร่ การศึกษาพิจารณาทุกมิติแล้วเหมาะสมที่สุด เราเปรียบเทียบกับโครงการอุโมงค์แม่งัด-แม่กวง ในเรื่องผลกระทบของสัตว์ ซึ่งที่นั่นวัดจากช้างที่เลี้ยงไว้ก็ไม่ได้ตกใจในการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งโครงการอุโมงค์สลักพระที่จะทำ ผมยืนยันมีความสั่นสะเทือนน้อยมาก ไม่เกิดผลกระทบแน่นอน” นายชยันต์ กล่าวและว่ารายงานดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ 7 มี.ค. นี้ ก่อนทุกฝ่ายจะประชุมร่วมกันอีกครั้งที่สทนช.ในวันที่ 1 มี.ค. 2567   

ชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ขณะที่ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โต้แย้งด้วยหลักการเชิงอนุรักษ์ ระบุว่า พื้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นพื้นที่เปราะบาง ที่ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างหรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่ เข้าไปกระทบกับธรรมชาติและสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นเขตอาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และยังเป็นเขตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายาก อยู่ระหว่างการวิจัยและขยายพันธุ์

...

อีกทั้งยังเป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ และเป็นป่าผืนเดียวกับทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เขตมรดกโลก และที่สำคัญ จุดก่อสร้างยังอยู่ใกล้รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหว จึงขอให้ทางโครงการฯ พิจารณาทบทวนและลงรายละเอียดให้รอบด้าน ก่อนสรุปรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

พัชรพล สืบดา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ห้วยกระเจา
พัชรพล สืบดา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ห้วยกระเจา

ด้วยความห่วงใย อย่าใช้เพียงข้อมูลทุติยภูมิ นำเสนอในรายงาน

โครงการบิ๊กโปรเจกต์อุโมงค์สลักพระ เกิดอาการ “เสียงแตก” ชาวบ้านมีมุมมองแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยได้แก่ผู้นำชุมชน อย่างนายพัชรพล สืบดา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ออกมามองว่า ควรเร่งสร้างอุโมงค์โดยเร็วเพื่อแก้ภัยแล้ง ทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อน ปลูกพืชแทบไม่ได้ผลผลิต ส่วนกรณีที่มีการคัดค้านด้วยเหตุผลความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมสัตว์ป่านั้น อยากให้เห็นถึงความเดือดร้อนของคนก่อน เพราะหลังก่อสร้างคิดว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ สามารถฟื้นฟูได้ 

...

ลำยอง ยิ้มใหญ่หลวง นายกอบต.หนองรี  อ.บ่อพลอย
ลำยอง ยิ้มใหญ่หลวง นายกอบต.หนองรี อ.บ่อพลอย

สอดคล้องกับความเห็นของ นางลำยอง ยิ้มใหญ่หลวง นายกอบต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี มองว่า ต้องเร่งแก้และเร่งก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำโดยเร็ว หากเลือกไปใช้เส้นทางอื่นโดยไม่ขุดเจาะอุโมงค์ผ่านป่าสลักพระ อาจทำให้การช่วยชาวบ้านล่าช้าและต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้น

...

วิธีคิดของแกนนำชุมชนมองแบบนี้

งานนี้แปลกตรงที่ความเห็นของผู้นำชุมชน กลับย้อนแย้งกับชาวบ้านหลายคน หลังทราบข่าวว่าสทนช.นำคณะลงพื้นที่ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายอุโมงค์ มารวมตัวกันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์จนได้ข้อสรุปตรงกัน ว่าแทบไม่ได้รับรู้ความคืบหน้าของการอุโมงค์สลักพระเลย เพราะไม่เคยมีใครมาแจ้งความคืบหน้า ไม่มีใครมาบอกว่าอยู่ในขั้นตอนไหน มารู้เอาก็วันที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และโครงการกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย 

ไม่คุยโดยตรงกับชาวบ้าน แล้วเอาข้อมูลความเดือดร้อนมาจากใคร?

“ป้ารุณ” หนึ่งในชาวบ้านท้ายอุโมงค์ มองว่า โครงการนี้ "ได้ไม่คุ้มเสีย" และหากมีการก่อสร้างอุโมงค์ มีการขยายอ่างเก็บน้ำลำอีซู เพิ่มพื้นที่แก้มลิง ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านยิ่งขึ้น พื้นที่นี้ต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ ขนาดมีอ่างเก็บน้ำลำอีซู ชาวบ้านก็แทบไม่ได้ใช้น้ำในอ่าง เพราะขาดการบริหารจัดการแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่

“ป้าไม่เห็นด้วยกลัวอยู่ไม่ได้ ถ้าทำอุโมงค์ขยายอ่าง ขยายทำแก้มลิง ตรงนี้จะเป็นพื้นที่รับน้ำ พวกป้าก็จะอยู่ไม่ได้ พื้นที่ป่าสลักพระช่วงท้ายอุโมงค์ก็อาจถูกทำลายไปอีก ทุกวันนี้เราไม่เคยใช้น้ำจากอ่างลำอีซูทำการเกษตร เราใช้น้ำธรรมชาติ และกินใช้จากบ่อบาดาลที่เราขุดไว้ งานนี้ไม่ยุติธรรม ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ที่ทำกินก็น้อยอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานราชการมาบอกว่าจะขยายอ่าง แต่โดนชาวบ้านคัดค้านเรื่องก็เงียบไป แล้วก็จะมาสร้างอุโมงค์อีก ถ้าทำอุโมงค์และขยายอ่างลำอีซูเดือดร้อนแน่ๆ ยืนยันพื้นที่นี้ไม่ได้แล้งขนาดน้ัน” ป้ารุณ กล่าว 

ป้ารุณ ชาวบ้านใกล้อ่างเก็บน้ำลำอีซู บริเวณจุดปลายอุโมงค์
ป้ารุณ ชาวบ้านใกล้อ่างเก็บน้ำลำอีซู บริเวณจุดปลายอุโมงค์

ด้านตัวแทนชาวบ้านอีกคน บอกโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ ผู้เกี่ยวข้องควรมาสอบถามชาวบ้านโดยตรง จะทำให้รู้ปัญหาที่แท้จริง การทำอุโมค์สลักพระนอกจากจะประทบผืนป่าแล้ว ยังจะกระทบกับสัตว์ป่าด้วยแน่นอน หากมีการก่อสร้างก็จะทำให้สัตว์ป่าแตกตื่นหนีเตลิดออกจากป่าลงมาสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

“ทุกวันนี้ช้างป่าก็ลงมาอยู่แล้ว หากมีการขุดเจาะอุโมงค์ ช้างและสัตว์ป่าก็คงจะออกมามากกว่านี้ นอกจากนี้ ชาวบ้านต้องได้รับผลกระทบในที่อยู่อาศัย และเกิดผลกระทบกับธรรมชาติผืนป่า เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านที่อยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เราปรับตัวอยู่กับสัตว์ป่าและธรรมชาติมานานแล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านลำบากขาดน้ำกินน้ำใช้ แต่ปัญหาไม่ได้มาจากความแห้งแล้ง แต่มาจากการขาดการบริหารจัดการ ที่ไม่มีใครดึงน้ำขึ้นมาให้ชาวบ้านได้ใช้มากกว่า และหากมีการขุดอุโมงค์ก็ต้องมีโครงการอื่นๆ ขยายตามมา แล้วใครจะรับปากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ผันมาได้จริง” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว

ช้างป่าในป่าสลักพระ
ช้างป่าในป่าสลักพระ

การได้มาซึ่งสิ่งหนึ่งอาจต้องสูญเสียอีกสิ่งหนึ่ง จริงหรือที่ความเจริญมักสวนทางกับการอนุรักษ์...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อเป็นหนังม้วนยาว การเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ แต่กระบวนการและวิธีปฏิบัติ ก็ต้องไม่ทำลายวิถีชาวบ้านและไปเบียดเบียนธรรมชาติ เพื่อให้การพัฒนาเดินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์แบบยั่งยืน 


“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐทีวี” รายงาน