“ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์” นำเสนอต่อเนื่องเป็น “EP.3” กับการเจาะเบื้องหลัง โครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ แก้ปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ภายใต้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้าน มีแผนขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทางยาวถึง 20.5 กิโลเมตร ตัวอุโมงค์มีขนาด 4.20 เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ 500 เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากฝ่ายนักอนุรักษ์ นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มองว่าโครงการนี้อาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” และจะส่งผลกระทบกับสัตว์ป่า พืชพรรณ และธรรมชาติ

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐทีวี” เกาะติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นำเสนอข้อมูลของทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งในซีกของโครงการฯ และในมุมของนักอนุรักษ์ที่มีความเห็นต่าง กระทั่งวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งที่ 522/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2567 ย้าย นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเบื้องหลังคำสั่งย้าย เป็นเพราะนายไพฑูรย์นำเสนอรายงานความสมบูรณ์ของผืนป่าสลักพระ ที่ระบุไม่สนับสนุนการก่อสร้างอุโมงค์หรือไม่

...

นายไพฑูรย์ อินทรบุตร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส
นายไพฑูรย์ อินทรบุตร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

“ทีมข่าวไทยรัฐ” ไม่รอที่จะเปิดรายงานฉบับนี้ในทันใด!!

ในรายงานที่นายไพฑูรย์เสนอกลับไป สรุปไว้ชัดเจนว่าพื้นที่แนวก่อสร้างอุโมงค์ตลอด 20.5 กม. ใต้ผืนป่าสลักพระ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ล้วนมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีสภาพภูเขาสูงต่ำที่มีแนวสลับซับซ้อน โดยเฉพาะพื้นที่ “ทุ่งนามอญ” ที่อยู่เหนือแนวอุโมงค์ เป็นพื้นที่อาศัยสําคัญของสัตว์ป่า ที่ถูกจัดเป็น “เขตหวงห้าม” (Strict Nature Reserve Zone) เป็นบริเวณที่มีสังคมพืชและป่าไม้สมบูรณ์ ควรค่าแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ํา ลําธาร ซึ่งพื้นที่เขตนี้ไม่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากจะปล่อยไว้ให้เป็นสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิม เพื่อมิให้เกิดการรบกวนการเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และสภาพธรรมชาติโดยรอบ ดังนั้นแนวคิดทำอุโมงค์ใต้ผืนป่าสลักพระ “นับเป็นความบอบบางต่อระบบนิเวศเป็นอย่างสูง”

หนังสือรายงานที่ส่งกลับให้อุทยานฯ
หนังสือรายงานที่ส่งกลับให้อุทยานฯ

เป็นความเห็นไม่สนับสนุนการก่อสร้างอุโมงค์อย่างชัดเจน!

นอกจากนี้ในรายงานยังระบุพื้นที่ที่มีการพบการขยายถิ่นของ “เสือโคร่ง” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า ทั้งนี้ ยังไม่รวมประชากรของช้างป่า กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า และนกเงือก ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัย หากมีการก่อสร้างอุโมงค์ จะเป็นการทำลายพื้นที่หากินของเสือโคร่ง และตัดผ่านที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ซึ่งหากมีการก่อสร้างอุโมงค์ ก็จะกระทบกับโขลงช้างป่าที่มีอยู่กว่า 300 ตัว ในป่าผืนนี้ จนอาจมีการย้ายถิ่นลงไปรบกวนชาวบ้านอย่างแน่นอน

และที่สำคัญ พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สําคัญของประเทศไทย และยังมีการศึกษาวิจัย ซึ่งอยู่ระหว่างการดําเนินโครงการอีกหลายโครงการ อาทิ การผสมเทียมละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของประเทศไทย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันศึกษาวิจัยการรักษาสายพันธุ์ละองหรือละมั่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศ และมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

...

แผนที่ประชากรสัตว์
แผนที่ประชากรสัตว์

เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระสามารถเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งได้ จึงได้มีการจัดทําโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ (พระนามในขณะนั้น) ทรงเสด็จเป็นประธานปล่อยสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ปัจจุบันพบว่าละองหรือละมั่ง มีการสืบพันธุ์และขยายประชากรเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลถึงความคงอยู่ของประชากรละองหรือละมั่งในป่าธรรมชาติได้ ต้องอาศัยระยะเวลาการศึกษาเรื่องการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งในพื้นที่ดังกล่าว ถึงการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 3-4 จากประชากรตั้งต้น เนื่องจากละองหรือละมั่งเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว ตกใจง่าย และช็อกตายได้ง่าย

จากการพบละองหรือละมั่งตายติดต่อกันหลายตัว เมื่อปี พ.ศ. 2560 ส่งพิสูจน์ซากไม่มีบาดแผล พบว่าหัวใจสูบฉีดแรงเกินไป จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่อ่อนแอต่อการถูกคุกคาม การเข้าพื้นที่เพื่อดําเนินโครงการงานจ้างสํารวจ ออกแบบ โครงการผันน้ําจากเขื่อนศรี นครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จ.กาญจนบุรี ที่ผ่านพื้นที่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้จึงถือว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นฟูประชากรละองหรือละมั่งในป่าธรรมชาติ และที่นี่ยังมีโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกอีกด้วย

...

รายงานจาก “คนที่อยู่กับป่า” ถูกเปิดโปงโดย “ทีมข่าวไทยรัฐทีวี” ซึ่งตามมาด้วยคำสั่งย้ายนายไพฑูรย์ท่ามกลางความกังขา ซึ่งเรื่องนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาชี้แจงว่า เกิดจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี มีเหตุไฟไหม้ป่าหลายจุด บางพื้นที่รุนแรงยังไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดนโยบายและแนวทางอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจึงมีคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระออกไป เพื่อความเหมาะสมในการป้องกันไฟป่าต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวที่ว่า นายไพฑูรย์แสดงความเห็นคัดค้านแนวอุโมงค์ผันน้ำ ผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระแต่อย่างใด

สามารถติดตามความคืบหน้า “โครงการอุโมงค์สลักพระหมื่นล้าน” ได้ใน EP.4 .