จริงหรือไม่ที่ “ความเจริญมักสวนทางกับการอนุรักษ์” เสมอ

“ภัยแล้ง” คือศัตรูตัวฉกาจ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ และ อ.พนมทวน จนได้รับการขนานนามให้เป็น “อีสานแห่งเมืองกาญจน์” เพราะเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ใน “เงาฝน” ฝนตกน้อย จนเกิดความแห้งแล้ง ขาดน้ำกิน-น้ำใช้ทางการเกษตร โดยรัฐบาลชุดก่อนตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ผลักดันให้เกิด “โครงการอุโมงค์ผันนํ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์” แก้แล้งใน 5 อำเภอเมืองกาญจน์

ปากอุโมงค์แม่กวง
ปากอุโมงค์แม่กวง

โดยมี “สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” และ “กรมชลประทาน” เป็นแม่งาน

เงินงบประมาณก้อนโตถูกตั้งธงขึ้น เฉพาะการก่อสร้างอุโมงค์มีวงเงินสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท มีการเสนอเส้นทางผันน้ำในหลายเส้นทาง แต่ที่อ้างตามรายงานว่าเป็นเส้นทางที่ได้คะแนนสูงสุด และถูกคัดเลือกเตรียมก่อสร้าง คือ เส้นทางที่ 1 และ 7 ซึ่งตามแผนจะมีการขุดอุโมงค์ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าอนุรักษ์ผืนเดียวกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทางยาวถึง 20.5 กิโลเมตร ตัวอุโมงค์มีขนาด 4.20 เมตร ขุดเจาะลึกจากพื้นดินประมาณ 500 เมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ปลายอุโมงค์อยู่ที่อ่างเก็บน้ำลำอีซู ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี

...

หัวอุโมงค์-ท้ายอุโมงค์ความลึก
หัวอุโมงค์-ท้ายอุโมงค์ความลึก

เป็นบิ๊กโปรเจกต์ที่กลุ่มนักอนุรักษ์กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด

สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระ ทางโครงการระบุใช้เทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ด้วยเครื่อง TBM แบบเดียวกับ “อุโมงค์ผันน้ำแม่กวง” จะทำงานลึกลงไปในใต้พื้นดิน ใช้วิธีระเบิดที่ปากอุโมงค์และปลายอุโมงค์เพื่อเปิดทาง จากนั้นจะใช้เครื่องมืออันทันสมัยเจาะทะลวงผ่านใต้ผืนป่าเข้าไป โดยยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง จะไม่ส่งผลกระทบกับสภาพป่าและสัตว์ป่าอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีแผนป้องกันระหว่างการก่อสร้าง พร้อมทั้งมาตรการฟื้นฟูหลังการก่อสร้างอย่างรัดกุม

ป่าสลักพระมุมสูง
ป่าสลักพระมุมสูง

แผนขุดเจาะอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระผืนป่าอนุรักษ์กำลังจะเกิดขึ้น!!

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกขุดอุโมงค์ตามเส้นทางที่ 1 และ 7 ก็เพราะศึกษาและวิเคราะห์แล้วว่าเกิดผลกระทบน้อยที่สุด และใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น

“เราจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขุดเจาะด้วยเครื่อง TMB แบบเดียวกับ “อุโมงค์ผันน้ำแม่กวง” ซึ่งตนยืนยันจะไม่ส่งผลกระทบกับสภาพผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างแน่นอน เพราะดำเนินการด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีมาตรการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนต่อสัตว์ป่า และที่สำคัญ ยังเตรียมแผนฟื้นฟูสภาพป่า ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า และแผนการปลูกป่าทดแทนอย่างรัดกุม” นายชยันต์ กล่าว

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

...

ถึงแม้ทางโครงการจะออกมายืนยันชัดเจน ว่าโครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์ป่าและพืชพรรณธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็เกิดกระแสความห่วงใยในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาจนได้ เมื่อมีกลุ่มนักอนุรักษ์ออกมาเคลื่อนไหว หลายคนมองว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นป่าลุ่มน้ำชั้น 1A และเป็นผืนป่าสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ และยังเป็นป่าผืนเดียวกับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง” เขตมรดกโลกที่ควรอนุรักษ์ไว้

นอกจากนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ งบประมาณนับหมื่นล้านที่ลงทุนลงไปจะคุ้มค่ากับปริมาณน้ำที่ได้มาหรือเปล่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพป่าสมบูรณ์จะเป็นอย่างไร และที่สำคัญ จะมีการเตรียมรับมืออย่างไรกับเหตุ “แผ่นดินไหว” เพราะเมืองกาญจน์อยู่ในเขตรอยเลื่อนแผ่นดินไหวหลายจุด จึงทำให้หลายคำถามกลายเป็นที่คาใจ

สัตว์ป่า เสือ
สัตว์ป่า เสือ

...

และอีกคำถามที่ยังคาใจ คือ การขุดเจาะอุโมงค์ด้วยเครื่อง TMB ที่แม่กวงเคยเกิดเหตุถล่มมาแล้ว จนทำให้มีคนตายถึง 2 ศพ

กระแสอนุรักษ์และเสียงคัดค้านจึงจุดติดขึ้นในทันใด วันที่ 16 ก.พ. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำหนังสือคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า หากมีการขุดเจาะอุโมงค์ อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ และท่ีสำคัญ ทางโครงการยังไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ 20.5 กม. ใช้เพียงข้อมูล “ทุติยภูมิ” ในเรื่องการแก้ไขผลกระทบกับผืนป่าเท่านั้น และข้อสำคัญ คือ ยังมีทางเลือกอื่นที่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ โดยการหลีกเลี่ยงการจุดอุโมงค์ผ่าป่าสลักพระไปใช้เส้นทางอื่น

น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าการเสนอรายงานกับการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังย้อนแย้งกัน ทางโครงการไม่ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 มีเพียงการใช้ข้อมูล “ทุติยภูมิ” ประกอบการทำรายงาน ความจริงแล้วควรมีการสำรวจเก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด

...

อำเภอภัยแล้งเมืองกาญจน์
อำเภอภัยแล้งเมืองกาญจน์

“มูลนิธิสืบฯ แสดงเจตนารมณ์ไม่ได้ต่อต้านการผันน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่เสนอทางเลือกที่ไม่ตัดผ่านป่าอนุรักษ์โดยตรง คือแนวทางเลือกที่ 3-4-5 และ 6 นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่ง จ.กาญจนบุรี มีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ที่อาจส่งผลกระทบกับตัวอุโมงค์ได้” น.ส.อรยุพา กล่าว

สำหรับโครงการนี้ มีการประชุมหารือกันแล้วหลายรอบที่ผ่านมา ผ่านมติคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบส่ิงแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งนํ้า หรือ คชก. ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 แต่ในที่ประชุมมีการเสนอให้ปรับปรุงเพิ่มเติม โดยให้ร่วมกับทุกฝ่ายทำการศึกษาผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษศาสตร์ ด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ด้านนิเวศวิทยาทางน้ำ และด้านทรัพยากรสัตว์ป่า

สัตว์ป่า ช้าง
สัตว์ป่า ช้าง

โดยให้ทางโครงการฯ ร่วมหารือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อประเมินด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ก่อนเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ กก.วล. เพื่อพิจารณาต่อไป

ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้า กก.วล. ในวันที่ 7 มี.ค. 67 ที่จะถึงนี้!!

โครงการนี้กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนสรุปรายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ กก.วล. เตรียมนำเข้า ครม.ในลำดับต่อไป ซึ่งทีมข่าว “ไทยรัฐออนไลน์” กำลังเกาะติดความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง... สามารถติดตามความคืบหน้า “โครงการอุโมงค์สลักพระหมื่นล้าน” ได้ใน EP.2