เปิดใจมือเจรจา ตำรวจ 191 คนเบื้องหลัง คุยกับเยาวชนวัย 14 ก่อเหตุยิงในห้างพารากอน ใช้เวลา 5 นาที รู้พิกัด 20 นาที มอบตัว พร้อมบทสนทนา ... 

“ผมเป็นคนยิงเอง..”

นี่คือเสียงที่โทรเข้ามาแจ้ง 191 หลังมีเหตุเสียงปืนดังในห้างยักษ์กลางเมือง สยามพารากอน และหลังจากนี้ คือ การให้สัมภาษณ์เปิดใจของ ร.ต.อ.พศวัต จงจิตร รอง สว. ชุดปฏิบัติการ กก. ศูนย์รวมข่าว บก.สปพ. ปฏิบัติหน้าที่สื่อสารวิทยุ (191) ซึ่งถือเป็นหนึ่งตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น และเป็นบุคคลเบื้องหลังการเจรจาให้ “เยาวชน” วัย 14 ปี ที่เป็นผู้ก่อเหตุวางอาวุธมอบตัว

โดย 5 นาที หลังพูดคุย ก็ได้พิกัดที่อยู่ของเยาวชน และกว่า 20 นาที รวมระยะเวลาพูดคุยทุกอย่างก็จบลง ตำรวจสามารถควบคุมตัว เยาวชนรายนี้ได้ และนี่คือเบื้องหลัง จากปาก ร.ต.อ.พศวัต

“เราทราบอยู่แล้วว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นที่ไหน เห็นคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พอน้องโทรเข้ามาเอง ตอนแรกเป็นเจ้าหน้าที่หญิงเอาต์ซอร์ส รับสาย เมื่อแน่ใจว่าเป็นเยาวชน วัย 14 ปี จึงส่งสายต่อให้กับหัวหน้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้พูดคุยด้วย โดยมีผมไปช่วยกำกับบทการพูดคุย”

...

ร.ต.อ.พศวัต เล่าว่า พอน้องโทรเข้ามาเอง เราก็พยายามดึงสติจากเขา และพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขามอบตัว ซึ่งเวลานั้นเท่าที่จับใจความได้ คือ น้องเขาร้องไห้ หวาดกลัว ตกใจ หลายๆ อารมณ์ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่เราทำ คือ การถามและปลอบ ให้น้องเขาบอกว่าตัวเองอยู่ที่ไหน น้องเขาก็บอกว่า อยู่บริเวณร้านเฟอร์นิเจอร์

โดยกว่าจะได้คำตอบตรงนี้ เราใช้เวลาประมาณเพียง 5 นาที ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญมาก คือ ความรวดเร็ว และแม่นยำ การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าคนคนนั้นจะก่อเหตุอะไร หากเขาได้ฟัง ได้คิด ก็อาจเรียกสติกลับมาได้ แต่หากไม่มีคนคุยด้วย เขาอาจจะคิดไม่ได้...

สารวัตรพศวัต เล่าต่อว่า ตอนแรกน้องเขาก็ไม่ยอมบอก แต่เราถามย้ำๆ น้องเขาจึงเริ่มพูด...

หลักการพูดคุยคือ

1. ต้องทำให้เขาใจเย็นลงให้ได้ เนื่องจากเวลาเขาพูดคุยด้วย เขามีหลายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งกลัว ตกใจ ร้องไห้ เวลาเขาพูดต้องตั้งใจฟัง เพราะน้ำเสียงที่พูดนั้น จับใจความได้ยาก และพูดวนไปมา หน้าที่เราคือ ทำให้สงบให้ได้ก่อน

2. ต้องทำให้เขาวางอาวุธให้ได้ หากเขายอมวางอาวุธได้ ทุกอย่างก็จะคลี่คลายโดยเร็ว

“เวลานั้น เขาบอกว่ามีคนล้อมเขา เขาจะตายไหม เราก็พยายามบอกว่า ให้วางอาวุธซะ หากวางอาวุธ ตัวน้องก็จะปลอดภัย ทุกคนก็จะปลอดภัย...น้องใจเย็นๆ วางอาวุธ เขาเหมือนคนไม่มีสติ เราก็ห่วงว่าเขาจะทำร้ายตัวเอง หรือยิงต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่...เราบอกกับเขาว่า วางอาวุธเถอะ และยกมือมอบตัว”

สารวัตรพศวัต เล่าต่อว่า เขาบอกว่า เขาเห็นเจ้าหน้าที่ล้อมเขามากมาย ด้านหน้าประตู ด้านนู้น ด้านนี้

“ไม่ต้องกลัวนะ...วางปืนแล้วไม่ต้องกลัว มอบตัวกับเจ้าหน้าที่นะ”

สุดท้ายเขาก็ยอมวางอาวุธปืน และมอบตัว ดังภาพคลิปที่มีการเผยแพร่ ซึ่งขณะนั้น สายโทรศัพท์ยังไม่ตัดเลย เราได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปควบคุมตัว

เบื้องหลัง การประสานงาน

ร.ต.อ.พศวัต กล่าวถึงเบื้องหลังการประสานงานว่า ช่วงที่มีการเปลี่ยนสายพูดคุย จากเจ้าหน้าที่เอาต์ซอร์สหญิง มาเป็นเจ้าหน้าที่ชาย เยาวชนเองก็รู้สึกไม่ดี ที่ถูกถามคำถามซ้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อยากเปลี่ยนผู้สนทนา เป็นตนเอง เพราะกลัวว่าบรรยากาศจะไม่ราบรื่น

...

“ผมคอยกำกับบทพูด แต่เจ้าหน้าที่ที่พูดคุยด้วย เขามีคำพูดที่นุ่มนวลกว่า หากให้ผมพูดเอง อาจจะใช้คำพูดที่กระด้าง หรืออาจคล้ายคำสั่งก็ได้ ส่วนเทคนิคการเจรจากับผู้ก่อเหตุนั้น เรื่องเหล่านี้ถือว่าอยู่ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว คือต้องพยายามทำให้ใจเย็นและวางอาวุธให้ได้ และเมื่อได้ข้อมูลแล้ว ผมก็รีบแจ้งข้อมูลกับศูนย์วิทยุนารายณ์ทันที เพื่อแจ้งให้แนวหน้าได้ทราบ ซึ่งในวิทยุนั้น มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่และแนวหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ฟังอยู่”  

ร.ต.อ.พศวัต ระบุว่า ข้อมูลและการสื่อสาร ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเวลานั้น เจ้าหน้าที่หน้างานยังไม่ทราบพิกัดกันเลย กลับกันอีกด้านหนึ่ง หากเขาไม่โทรเข้ามา อาจจะใช้เวลามากกว่านี้ และไม่รู้ว่าจะสูญเสียมากกว่านี้หรือไม่...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...