จากเหตุกราดยิงที่ห้างฯ พารากอน สะท้อนสู่พฤติกรรมความรุนแรงของเยาวชนที่มีต่อสังคม ที่คนจำนวนไม่น้อยรวมถึงสื่อหลายแห่งมักชี้เป้าไปที่ “เกม” ว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงครั้งนี้รวมถึงหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ในมุมของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์มองเรื่องนี้อย่างไร

เกมคือเสี้ยวหนึ่งของหลายปัจจัย

แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรงในสังคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมารวมถึงครั้งล่าสุดที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น สังคมและสื่อส่วนใหญ่มักจะชี้เป้าไปที่ “เกม” ว่าเป็นตัวต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง แต่ในมุมของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ต่างมองว่านี่เป็นแค่เพียงเสี้ยวหนึ่งของหลายๆ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับทีมข่าวไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ว่าผลงานวิจัยที่ผ่านมาจำนวนมากมักจะกล่าวหาว่า “เกม” เป็นตัวร้ายที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมก็มักจะเล่นเกมเพื่อความผ่อนคลาย รวมทั้งคนที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงส่วนมากก็สามารถแยกแยะโลกจริงกับโลกเสมือนออกจากกันได้อย่างชัดเจน

งานวิจัยจำนวนมากมักกล่าวหาว่าเกมเป็นตัวร้ายที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ติดการเล่นเกมเนื้อหารุนแรงอย่างหนักจนแยกออกจากชีวิตจริงไม่ได้
งานวิจัยจำนวนมากมักกล่าวหาว่าเกมเป็นตัวร้ายที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ติดการเล่นเกมเนื้อหารุนแรงอย่างหนักจนแยกออกจากชีวิตจริงไม่ได้

...

แต่สิ่งที่งานวิจัยพบก็คือคนเล่นเกมบางกลุ่มก็ใช้เวลาเล่นเกมเนื้อหารุนแรงเป็นเวลานานจนไม่สามารถถอดชีวิตตัวเองออกจากเกมได้เลย จึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถก่อความรุนแรงจากการเล่นเกมได้

สอดคล้องกับความเห็นของ พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (Bangkok Mental Health Hospital : BMHH) ที่มองว่าเกมเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าหากครอบครัวมีการตรวจสอบเนื้อหาความรุนแรงของเกม และตัวเด็กเองมีวิธีบริหารจัดการกับความเครียดได้ เกมก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการมองไปที่ครอบครัวว่าเคยมีประวัติการใช้ความรุนแรงมาก่อนหรือไม่ รวมถึงพฤติกรรมและปัจจัยอื่นๆ รวมกัน เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา

พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (Bangkok Mental Health Hospital : BMHH)
พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ประจำ โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (Bangkok Mental Health Hospital : BMHH)

“จริงๆ สาเหตุพฤติกรรมเหล่านี้มันค่อนข้างซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกันไป เราก็จะตอบได้ยากว่ามาจากปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดเป็นพิเศษหรือเปล่า แต่ที่เป็นไปได้คือเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของเด็กที่เคยเป็นมาก่อน เวลาไม่พอใจอะไรก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเลย ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยว่าตอนเด็กๆ เคยถูกทำร้ายร่างกายมาก่อนหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็น การล่วงละเมิดเด็ก หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เคยเผชิญหน้ากับพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือไปโรงเรียนแล้วถูกเพื่อนล้อ เพื่อนไม่รับเข้ากลุ่ม ก็เลยใช้ความรุนแรงเพื่อตอบสนอง หรือคนในครอบครัวเป็นคนที่คุมอารมณ์ได้ยาก เช่น พ่อแม่ใช้ความรุนแรงเยอะ หรือว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงด้วย รวมถึงสื่อที่มีความรุนแรง อย่างเกม หรือการใช้สารบางอย่าง เช่น กัญชา ใบกระท่อม ที่เป็นยาเสพติด ก็ทำให้คนที่ใช้ความรุนแรงขาดความยั้งคิดยั้งทำได้ รวมถึงการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย เช่น มีปืนในบ้านหรือใกล้ตัว”

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย เพราะความกดดันจากครอบครัวและสังคม

นอกจากหลายๆ ปัจจัยที่กล่าวไปแล้ว ผู้ใหญ่หลายคนอาจหลงลืมไปว่าตอนช่วงที่เรายังเป็นวัยรุ่นก็มีความเหนื่อยใจไม่แพ้กัน ด้วยความกดดันจากพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องการเรียน ที่ต้องได้เกรดดีๆ ต้องเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง ไปจนถึงการชอบเปรียบเทียบกับลูกคนอื่นเสมอ กลายเป็นความคาดหวังที่คอยกดทับอย่างไม่รู้ตัว

แต่สำหรับวัยรุ่นยุคเจนซี ความกดดันที่ต้องเจออาจมากกว่าวัยรุ่นยุคเจนเอ็กซ์และเจนวายในรูปแบบที่ต่างไปและอาจจะมากกว่า เนื่องด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่อิสระ ไปจนถึงการใช้โลกโซเชียลที่สร้างการแข่งขันกับคนรอบข้างตลอดเวลา รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองบางครอบครัวที่อาจเข้มงวดกับลูกหลานมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ก็สามารถสั่งสมให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงได้เช่นกัน

...

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ถ้าเปรียบเทียบในยุคก่อนๆ การจัดอันดับต่างๆ ในสมัยก่อนเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราสอบผ่านแล้วเราต้องเก่งขนาดไหนถึงจะทำอะไรได้ แต่ความกดดันของเด็กรุ่นใหม่คือความกดดันที่ต้องรับรู้เรื่องของตัวเองหรือความสามารถของตัวเองเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา หากมองในแง่ดีก็คือได้มาเป็นข้อมูลพัฒนาตัวเองว่าเรายังขาดตรงไหน แต่ถ้ามองในมุมที่มีความกดดันก็เป็นไปได้ว่าเด็กหรือพ่อแม่มีเป้าหมายร่วมกันว่าอยากได้มหาวิทยาลัยนี้ อยากสอบเข้าที่นี่ได้ ก็จะมีเรื่องของความกดดันให้ทำคะแนนได้สูงๆ เข้ามา ซึ่งการที่ต้องเห็นคนรอบข้างโพสต์เรื่องความสำเร็จของตนเองอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขันตลอดเวลา” อาจารย์ ดร.นิปัทม์ กล่าว

...

ในกรณีแบบนี้ พญ.อริยาภรณ์ มองว่าเป็นความเครียดภายในครอบครัวที่พ่อแม่มีความคาดหวังกับลูกอย่างไร แล้วเด็กมีการตอบสนองกลับอย่างไร เมื่อเด็กรู้สึกเครียด รู้สึกกังวล ไม่ว่าจะเป็น จากเรื่องโรงเรียน เรื่องที่บ้าน แล้วไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปคุยกับใคร ก็อาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าจะต้องหาทางระบาย

ความกดดันที่วัยรุ่น Gen Z ต้องเจอ อาจมาทั้งจากความคาดหวังของพ่อแม่ และการแข่งขันในสังคมยุคใหม่จนทำให้เกิดความเครียด
ความกดดันที่วัยรุ่น Gen Z ต้องเจอ อาจมาทั้งจากความคาดหวังของพ่อแม่ และการแข่งขันในสังคมยุคใหม่จนทำให้เกิดความเครียด

“พอพูดถึงความกดดันจากที่บ้าน พ่อแม่หลายบ้านที่มีการควบคุมลูกเยอะ เช่น ลูกจะเรียนอะไร ลูกจะไปเรียนพิเศษที่ไหน ลูกจะไปเจอเพื่อนตอนไหน เด็กก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอิสระตามความคิดของตนเอง บางทีเขาก็อาจจะหาวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่าง”

...

อาการแบบไหนที่พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกอาจมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง

นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่พ่อแม่รวมถึงผู้ปกครองคนใกล้ตัวเด็กต้องรู้คือควรสังเกตอาการหรือพฤติกรรมของลูกหลานตนเองว่าเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างหรือไม่ เพราะนั่นเป็นสัญญาณเล็กๆ ที่เตือนว่าอาจก่อความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต ได้แก่

  • ปลีกตัวออกจากสังคม
  • พูดน้อยลงหรือมากขึ้นกว่าปกติ
  • ชอบใช้ความรุนแรง
  • ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
  • หงุดหงิดกับเรื่องเล็กน้อย

พฤติกรรมเหล่านี้อาจแสดงออกต่างกันแล้วแต่บุคคล แต่เป็นอาการเบื้องต้นที่คนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือการพาบุตรหลานที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ไปพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

หากลูกหลานแสดงพฤติกรรมที่อาจก่อความรุนแรง พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
หากลูกหลานแสดงพฤติกรรมที่อาจก่อความรุนแรง พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“เป้าหมายของการเข้ามาพูดคุยก็เพื่อให้เด็กรู้การควบคุมความโกรธ รู้สึกว่าแสดงออกถึงความโกรธได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะรู้สึกโกรธแล้วไปลงกับความรุนแรงอย่างอาวุธปืน หรือทำร้ายคนอื่น แต่นำความโกรธไปลงกับการออกกำลังกายหรือด้วยวิธีอื่น เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แล้วก็ยอมรับผลของการกระทำนั้น เช่น ถ้าสมมติว่าเด็กทำผิดในเรื่องเล็กๆ ตอนเด็กๆ เราก็กำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนเลย แล้วก็คุยกันต่อว่าถ้าทำผิดต้องโดนลงโทษแบบนี้ แล้วก็คุยกันต่อว่าถ้าทำผิดแบบนี้ในสังคมมันจะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ขึ้นต่อไปยังไง การจัดการปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาในสังคม ก็ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะกระตุ้นเด็กน้อยลงได้ด้วย” พญ.อริยาภรณ์ กล่าว

เปิดใจรับฟังและสื่อสารอย่างเข้าใจคือทางออกของปัญหา

สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เด็กเกิดพฤติกรรมก่อความรุนแรง ในมุมของนักจิตวิทยาอย่าง อาจารย์ ดร.นิปัทม์ มองว่าพ่อแม่ควรเปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การฟังผ่านๆ เพื่อให้ได้ยิน แล้วตอบสนองกลับไปในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็น ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เด็กอยากแสดงออกในสิ่งที่ตนเองต้องการมากขึ้นจนพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมได้

“การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการฟังกันจริงๆ ไม่ใช่บอกว่าฉันต้องการแบบนี้ ความหมายของฉันคือต้องการพูดเพื่อให้เธอเปลี่ยนใจมาเป็นแบบที่ฉันต้องการ อันนี้มันเป็นการสื่อสารที่มีแต่จะทำให้คนเดินหนีออกจากเรา นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความคิดเป็นของตนเองมากขึ้น ต่างจากวัยเด็กที่พ่อแม่บอกอะไรก็ฟัง ถ้าเรามองเป็นเหมือนเส้นด้ายที่เราผูกกันไว้ระหว่างคนสองคน การที่เรามีการพูดคุยหรือยอมรับฟังกันอย่างเปิดอกเปิดใจ แล้วหาทางออกร่วมกันก็เป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราพัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงจุดที่คุยกันไม่ได้แล้ว เด็กไปทำอะไรของเขาเองแล้วทีนี้เราจะไปต่อติดกับเขามันก็ลำบากแล้ว”

การที่พ่อแม่เปิดใจรับฟังปัญหาของลูกหลานอย่างเข้าใจโดยไม่ตัดสินและยัดเยียดความต้องการของตนเอง จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นได้
การที่พ่อแม่เปิดใจรับฟังปัญหาของลูกหลานอย่างเข้าใจโดยไม่ตัดสินและยัดเยียดความต้องการของตนเอง จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นได้

อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่รู้สึกว่ามีปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างตนเองกับลูก ก็สามารถหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาการสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำว่าควรสื่อสารอย่างไรให้มีประโยชน์ระหว่างกันและกันมากที่สุด ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นดีขึ้นได้