เหตุเยาวชนชายวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงผู้บริสุทธิ์ภายในห้างกลางกรุง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สร้างความสะเทือนใจและหดหู่ใจให้กับคนในสังคม ตามมาด้วยคำถามการได้มาของอาวุธปืน และควรมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่านี้ เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ โดยเฉพาะการกระทำของอาชญากรวัยเด็กที่ยังเป็นเยาวชน ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

หากอายุไม่เกิน 15 ปี จะได้รับการยกเว้นโทษ ไม่นำโทษจำคุกมาใช้ และก่อนหน้านี้มีเหตุสลดเด็กหญิงวัย 13 ปี และ 15 ปี ร่วมก่อเหตุลวงเพื่อนไปกดน้ำจนเสียชีวิต เพราะเรื่องชู้สาว ยังไม่รวมอีกหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เหมือนระเบิดเวลารอการระเบิดหากไม่รีบแก้ไขในทันการ

ภาพจำวัยเด็ก ความเครียดเรื้อรัง เสี่ยงก่ออาชญากรรม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดๆ กันจากการกระทำของเด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าเด็กทุกคนถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เล็กจนโต และยังเหลืออีกกี่คนกำลังรอการระเบิด เป็นประเด็นที่สังคมไม่ได้สนใจ แต่สนใจเฉพาะเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าจะมีเหตุซ้ำเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะเด็กที่ก่อความรุนแรงในสังคม เกิดจากพัฒนาการด้านสังคม และด้านการควบคุมตัวเองผิดปกติ จนก่อเหตุทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

...

“ทำไมถึงทำ เกิดจากสิ่งกระตุ้นอะไรทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ต้องบอกว่าเด็กกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นโรคจิตประสาท ตั้งแต่แรกเกิด หรือจากพันธุกรรม แล้วค่อยๆ แสดงอาการ ซึ่งมีหลายประเภท มีความสัมพันธ์กับการสร้างสารเซลล์ประสาทในสมอง เรื่องการควบคุมอารมณ์ ถ้าเกิดภาวะทางจิตประสาท ได้มีการตรวจพบ มีการรักษาหรือไม่ นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว ต้องทำให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้เป็นปกติ ไม่เป็นที่รังเกียจ ไม่ถูกทอดทิ้ง เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่แตกต่างจากเด็กพัฒนาการล่าช้า เช่น เด็กออทิสติก มีสมองไม่สมบูรณ์ หากไม่รักษาดูแลเลย และถูกรังเกียจ จนอยู่ไม่ได้ ก็จะก่อเหตุรุนแรง”

กรณีเยาวชนชายวัย 14 ปีก่อเหตุยิงในห้าง ไม่น่ามีปัญหาในวัยเด็ก แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้ผิดปกติ อาจเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ หรือพ่อแม่มีภาวะบกพร่อง จนสร้างความเครียดให้กับเด็ก เป็นครอบครัวอยู่ในภาวะบกพร่อง มีการหย่าร้างแตกแยก หรือมีการใช้สารเสพติด กลายเป็นภาพจำของเด็ก จนสร้างความเครียดไปก่ออาชญากรรม เพราะการอยู่ในครอบครัวไม่สมบูรณ์ ก่อความเครียดเรื้อรังให้กับเด็ก หรืออยู่ในครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็กไม่เหมาะสม มีการละเลยทางกาย ละเลยทางอารมณ์ หรือทำร้ายทางเพศ ถ้าเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนเกิดออกมาไปถึงช่วงปฐมวัย 8 ปีแรก จะส่งผลต่อด้านพฤติกรรมในอนาคต และกระทบต่อการทำงาน

วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่อาจมีปัญหา หรือไม่มีปัญหาก็ได้ แต่สิ่งแวดล้อมได้มีส่วนทำลายให้เด็กเจ็บป่วยด้านสมอง จากการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต การเล่นเกม และการเสพสื่อที่รุนแรง ทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบน จนเกิดภาพจำ เกิดความเคยชินเรื่องความรุนแรง มองว่าการทำร้ายคนเป็นเรื่องธรรมดา หรือเห็นสื่อมองคนใช้ความรุนแรงเป็นฮีโร่ มีการดูสื่อซ้ำๆ จนมองเป็นเรื่องสนุกสนาน นำไปใช้ในชีวิตจริงในการปฏิบัติตาม กระทั่งไปหาสิ่งที่ต้องการโดยอิสระ ในการไปซื้ออาวุธปืน แยกไม่ออกระหว่างโลกเสมือนจริงกับโลกจริง ได้เข้ามาหล่อหลอม

สื่อหล่อหลอมพฤติกรรมเด็ก ระวังระเบิดเวลาลูกใหม่

ปัจจุบันเด็กมีปัญหามากขึ้น เพราะพ่อแม่พูดคุยกับลูกน้อยลง เรียกว่าระบบนิเวศในการหล่อหลอมเด็ก กลายเป็นสื่อ เต็มไปด้วยใครไม่รู้ได้เอาภาพจำมาให้ จนดูสนุกสนาน มีอารมณ์ร่วมจนหล่อหล่อมเป็นพฤติกรรม ก็จะเป็นระเบิดเวลาว่าเด็กอายุประมาณเท่านี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งบางคนมองว่าไม่จริงอย่าไปโทษสื่อ ไปโทษเกมว่ามีผลต่อสมอง แต่งานวิจัยบอกชัดเจนว่าจริงๆ แล้วมีผลต่อทุกคน ซึ่งมากน้อยแตกต่างกัน หากเด็กอยู่ในครอบครัวเปราะบาง หรือสมองไม่สมบรูณ์ มีโอกาสจะส่งผลต่อพฤติกรรมได้ง่ายกว่า

สังคมต้องช่วยกันดูแล ไม่สร้างสื่อที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ไม่ปล่อยให้เด็กเข้าถึงสื่อเหล่านั้นอย่างเสรี ควรมีการจำกัดอายุ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางต้องได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถัน ไม่ให้ถูกสังคมรังเกียจ และจะโทษครอบครัวอย่างเดียวไม่ได้ แต่เป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็ก จากผู้ประกอบการลงทุนทำสื่อ ทำเกม ทำการตลาดสร้างความเสี่ยงกับเด็ก โดยไม่รับผิดชอบ จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป ไม่ใช่คนในครอบครัวต้องดูแล แต่หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยกันพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กตกเป็นเหยื่อหรือไม่

...

“อย่าปล่อยปละ ก่อนเป็นระเบิดเวลาอีกใน 14 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กมาถึงช่วงอายุนั้น ถ้าแก้ไม่ทันเวลาในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ จะต้องเริ่มทำเพิ่มความเข้มแข็งในครอบครัว และองค์กรต่างๆ ต้องสนับสนุน แค่ให้เลี้ยงดูลูก 3 เดือนและให้เงินทดแทน ยังไม่พอ ต้องให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่ใช่ทำแต่งานไม่มีเวลาดูแลลูก และต้องควบคุมการเข้าถึงเน็ตของเด็ก อย่าให้ใช้อย่างเสรี เพราะกดเข้าไปก็เจอรูปโป๊ เจอขายกัญชา ขายอาวุธ มีการแชร์รูปไม่เหมาะสม และอย่าให้เด็กเล็กใช้มือถือ จะทำให้การรับรู้ของสมองผิดปกติ พ่อแม่ควรเรียนรู้ว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปลอดภัยต่อเด็กหรือไม่”

อย่างเกมที่รุนแรง ต้องจำกัดการเข้าถึงของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี อย่าคิดว่าเป็นเสรีภาพของเด็ก และอาวุธปืนทำไมเด็กซื้อได้ จะต้องควบคุม ทั้ง 2 ประเด็นเป็นเรื่องเดียวกันต้องควบคุมทั้งเรื่องเกมและปืน โดยเฉพาะเกม ทำให้เด็กเกิดจินตนาการ มีส่วนทำให้ก่อเหตุรุนแรงได้ จากการละเลยปล่อยปละของหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง รวมถึงตัวผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ให้เด็กเข้าถึงสื่อรุนแรงได้ง่าย หรือจะรอให้ระเบิดเวลาระเบิดอีก ซ้ำรอยกรณีเด็กเยาวชนวัย 14 ปี ก่อเหตุรุนแรงยิงในห้างอีก.

...