หลังเลือกตั้งถือเป็นชัยชนะยกแรกของพรรคก้าวไกล ได้ที่นั่งส.ส.มากที่สุดอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีการรวบรวมเสียงจากพรรคเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม รวมเป็น 310 เสียง หากจะฝ่าด่านส.ว. เมื่อเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องอาศัยเสียง 2 สภารวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง นั่นเท่ากับว่าต้องลุ้นอีก 67 เสียง ฝันของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล จะเป็นจริงหรือไม่ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

เป็นโจทย์แรกต้องฝ่าด่านสุดหินให้ได้ ภายหลัง กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ภายใน 60 วัน และเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธานสภาฯ คาดประมาณกลางเดือนก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่โหมดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ปิดสวิตช์งดออกเสียง และการคาดหวังเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม จะแสดงจุดยืนประชาธิปไตยคงยากมากให้ได้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เป็นเหตุให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจมีความเสี่ยงเกิดเงื่อนไขใหม่ หรือแม้แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองคาดไม่ถึง เพราะทุกอย่างเป็นไปได้เสมอสำหรับการเมืองไทย

...

ขณะที่ภาคเอกชนหวังว่าหลังเลือกตั้งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วตามระบอบประชาธิปไตย เพราะมีโจทย์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจต้องเร่งแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับ ”รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์ และภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แสดงความกังวลว่า หากพรรคเสียงข้างมากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือน และกกต.ต้องเร่งรับรองผลการเลือกตั้ง หากปล่อยให้ล่าช้าอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจเป็นโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยอาศัยเสียง ส.ว. หรือการตัดสิทธิ หรือการยุบพรรคการเมือง ในการดึงส.ส.จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค เพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาล

ที่มาของส.ว.จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เพื่อให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผิดหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง และเสียงส.ว.มากถึง 250 คน สามารถกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถรวมเสียงได้มากกว่า 376 เสียง และการรวบรวมเสียงให้ได้มากถึง 376 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ควรทำจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน และรัฐบาลจะอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ สร้างปัญหาต่อระบบพรรคการเมือง เพราะจะมีการซื้อส.ส.ต่างขั้วทุกๆ ครั้งที่มีการโหวต

“ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง เพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หากเห็นชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง จะนำมาสู่ความขัดแย้งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ และที่ผ่านมามีการยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก เริ่มจากยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ปี 2551 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ปี 2562 และยุบพรรคอนาคตใหม่ ปี 2563 ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง”

หวังว่าผู้มีอำนาจรัฐ จะไม่คิดสั้นเอาชนะคู่แข่งสำคัญด้วยการยุบพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง อย่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเสรีประชาธิปไตย จะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรอบใหม่ รวมไปถึงการเกิดปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ ทำลายความชอบธรรมการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองขั้วเสรีประชาธิปไตย มีอุปสรรคและเกิดความยุ่งยาก

หรือแม้จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว อาจใช้การยุบพรรคการเมือง เล่นงานด้วยคดีความต่างๆ ซึ่งรัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตย จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยกระบวนประชาธิปไตย นอกจากนี้การจัดตั้งรัฐบาลได้รวดเร็ว จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน และรัฐบาลต้องมีเสียงสนับสนุนข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา เพื่อดำเนินนโยบายสำคัญ และควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคมที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากสร้างความอ่อนไหวทางการเมือง และมีความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลัง จะต้องพิจารณาทบทวนให้เหมาะสม.

...