เดินทางมาร่วมประชุมเอเปก ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็น “หนึ่งเดียว” ใน 3 ชาติมหาอำนาจ เพราะสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ผู้นำไม่มาเอง ส่งเพียงตัวแทนมาร่วมประชุมเท่านั้น

คำถามสำคัญ คือ สิ่งที่ “จีน” หวัง... จากการประชุม เอเปก คืออะไร และทำไม “ลุงสี” ถึงให้ความสำคัญ และ “จำเป็น” ต้องเดินทางมาร่วมประชุมเอเปก ด้วยตัวเอง

คำตอบของคำถามข้างต้นนี้ คงต้องขอให้กูรูจีนคนนี้ มาวิเคราะห์ให้ฟัง รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน และตามติดประเด็นเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น

สี จิ้นผิง ผู้นำชาติมหาอำนาจ กับการปรากฏตัวในเวที “เอเปก”

รศ.ดร.อักษรศรี อธิบายว่า เวทีการประชุม “เอเปก” สำคัญสำหรับจีน ถือเป็น เวทีการประชุมเศรษฐกิจแห่งแรกที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก นับจากที่จีนได้ปฏิรูปและเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1979 มาจนถึงปี 1991 จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเอเปก พร้อมๆ กับจีนฮ่องกง และจีนไทเป ในปีเดียวกัน

ที่ผ่านมา “สี จิ้นผิง” จะเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปกด้วยตัวเองมาโดยตลอด ยกเว้นในช่วงที่มีปัญหาการระบาดของโควิด

...

การเดินทางมาเข้าร่วมเวทีเอเปกที่กรุงเทพฯ รวมทั้งเวที G20 ที่บาหลี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ หลังจากที่ สี จิ้นผิงได้อยู่ในอำนาจเป็นผู้นำจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นวาระที่ 3 จึงถือเป็น “จังหวะ” และ “เวลา” ที่เหมาะสม ที่สี จิ้นผิง ตั้งใจบอกกับโลกว่า “จีนพร้อมที่จะแสดงพลังของจีนในระดับโลกอีกครั้ง” และจีนจะทำให้ “โลกต้องการจีน” หลังจากที่จีนใช้โยบาย Zero Covid อย่างเข้มข้นคุมการเดินทางระหว่างประเทศ และสีจิ้นผิงก็ไม่ได้เดินทางไปร่วมการประชุมระดับโลกด้วยตัวเองแบบนี้มาหลายปีแล้ว

ที่สำคัญ ตอนนี้ ภายในประเทศจีนเอง ด้วยผลกระทบจากนโยบาย Zero Covid ทำให้การใช้ชีวิตของคนจีนเริ่มมีความยากลำบาก คนเริ่มตั้งคำถามและเริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การมีภาพผู้นำของจีนที่โดดเด่นในระดับโลก ก็จะทำให้ชาวจีนได้ภาคภูมิใจ โดยเฉพาะจีนมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก สิ่งเหล่านี้จะทำให้ สี จิ้นผิง ยังคงได้รับคะแนนนิยมจากชาวจีนต่อไปนั่นเอง

“สี จิ้นผิง สร้างบารมีในฐานะผู้นำระดับโลก ตั้งแต่เวที G20 ที่เกาะบาหลี และเวทีเอเปกในประเทศไทย จะมีภาพของ สี จิ้นผิง พบปะกับผู้นำของหลายประเทศที่สำคัญ มีการหารือและประชุมในลักษณะทวิภาคีในหลายครั้ง และ สี จิ้นผิง ยังได้นำประสบการณ์ความสำเร็จของจีนขึ้นกล่าวในสุนทรพจน์ต่างๆ ด้วย ทั้งหมดนี้ ทำให้ชาวจีนได้เป็นปลื้มกับผู้นำตนเอง”

สี จิ้นผิง มาไทย มีอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง

รศ.ดร.อักษรศรี แยกวิเคราะห์ การมาเยือนไทยของ สี จิ้นผิง เป็นสองส่วน

ส่วนแรก : การเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก

ในเวทีเอเปก ชาติคู่แข่งของจีน คือ สหรัฐฯ ส่งเพียงแค่ตัวแทนมา ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สี จิ้นผิง” กลายเป็นผู้ที่ถูก “สปอตไลต์” จับตามากที่สุดในเวทีประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ เวทีเอเปก เป็นกลุ่มที่เน้นด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะ “สี จิ้นผิง” จึงต้องการใช้เวทีนี้ เพื่อผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่จีนได้ริเริ่มไว้ คือ “แผนริเริ่มการพัฒนาโลก” หรือ Global Development Initiative (GDI) โดย “สี จิ้นผิง” ประกาศคำว่า GDI ครั้งแรกที่สหประชาชาติ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 และบอกกับทั้งโลกว่า “จีนพร้อมเป็นแกนนำในการพัฒนาโลก และจะแบ่งปันประสบการณ์ของจีนในการเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปพัฒนาประเทศอื่นๆ”

จีนจริงจังกับแผนริเริ่ม GDI เป็นอย่างมาก ถือเป็นการต่อยอด ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative : BRI ที่ทำมานับสิบปีแล้ว จึงต้องการที่จะต่อยอด BRI หรืออัปเกรดสู่ระดับโลก คือ GDI”

...

กูรูประเทศจีน เชื่อว่า “สี จิ้นผิง” น่าจะใช้โอกาสในการประชุมเอเปก ในการประกาศแผนริเริ่ม GDI นี้ และประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมกลุ่ม Group of Friends of GDI ที่ริเริ่มโดยจีน นอกจากนี้ จีนยังได้ตั้งกองทุน GDI Fund เพื่อดึงให้ประเทศต่างๆ มาร่วมมือกับจีนด้วย

ส่วนที่สอง : การหารือระดับ “ทวิภาคี”

รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวต่อว่า นอกจากมาร่วมประชุมเอเปกแล้ว การเดินทางครั้งนี้ ก็เพื่อพูดคุยกับไทยในระดับ “ทวิภาคี” ซึ่งตามแผนจะมีการหารือข้อราชการกัน ในวันที่ 19 พ.ย. และรัฐบาลไทย มีการออกร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-จีนแล้ว ซึ่งดิฉันมีโอกาสได้อ่านโดยละเอียดแล้ว

ความร่วมมือ “ไทย-จีน” กับสิ่งที่ต้องผลักดันจริงจัง ไม่ใช่พูดลอยๆ

รศ.ดร.อักษรศรี ย้ำว่า ความร่วมมือไทย-จีนต้องจริงจัง ไม่ใช่แค่เขียนไว้ในกระดาษ หรือพูดลอยๆ ซึ่งมีหลายเรื่อง หลายประเด็นสำคัญที่มีการระบุในเอกสารแล้ว อาทิ การร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงปัญหา “ทุนสีเทา/สีดำ” ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องจัดการแก้ปัญหาให้จบ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ เพราะหากปล่อยไว้ อาจจะกลายเป็นปัญหา “น้ำผึ้งหยดเดียว” ของความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะร่วมมือเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น การมุ่งสู่ Green Technology ส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ทั้งหมดนี้ล้วนสอดคล้องกับโมเดล BCG ของประเทศไทย

“ที่น่าดีใจคือ จีน เลือกแล้วที่จะให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ของจีนในภูมิภาคนี้ ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV อย่างครบวงจรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งค่ายรถยนต์ EV ระดับโลกของจีนอย่าง BYD ก็มาลงทุนในไทยแล้ว BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เบอร์ 2 ของโลก

...

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV จากจีนรายอื่นที่ได้มาลงทุนในเมืองไทย ตั้งแต่ MG ที่เข้าเมืองไทยมาสักพักแล้ว รวมไปถึง Great Wall Motor ที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราแล้ว และมีการประกาศเพิ่มการลงทุนเป็น 2 เท่า ด้วย ในการเพิ่มฐานการผลิตชิ้นส่วน ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า จีนเลือกแล้ว ว่าจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ฉะนั้น สิ่งที่หวังจะเห็นและไทยจะได้ประโยชน์ ก็คือ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย ไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนเข้ามา หรือมีการจ้างงานในไทยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น”

ความพร้อมของจีน และ การแสดงจุดยืนในเวที “เอเปก”

เมื่อถามว่า การประชุมเอเปก ครั้งนี้ สิ่งที่จีนอยากจะบอกกับโลกคืออะไร กูรูด้านจีน เชื่อว่า จีนต้องการบอกว่า “The World Needs China” หรือ จีนจะทำให้ “โลกต้องการจีน” หากจำได้ “สี จิ้นผิง” ประกาศตั้งแต่วันแรกที่ได้ต่อวาระ 3 ในฐานะเบอร์หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นวันเปิดตัวสมาชิกถาวรชุดใหม่ 7 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวันนั้น “สี จิ้นผิง” ก็ได้พูดคำนี้ คือ จีนจะทำให้ “โลกต้องการจีน”

...

“จีนจะทำให้โลกต้องพึ่งพาจีน ยังได้สอดคล้องกับโมเดล “เศรษฐกิจวงจรคู่” หรือ Dual Circulation Model ที่จีนจะเน้นทั้ง “การหมุนเวียนภายใน” คือ จีนจะลดพึ่งพาโลก พร้อมๆ ไปกับ “การหมุนเวียนภายนอก” คือ การดึงให้โลกต้องพึ่งพาจีน ดังนั้น ประเด็นทำให้ “โลกต้องการจีน” เป็นสิ่งที่ สี จิ้นผิง ตอกย้ำอย่างหนักแน่นในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และแสดงให้ชาวจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประจักษ์ จากการเดินทางมาแสดงพลังความเป็นผู้นำของจีนในเวทีการประชุม G20 และเวทีเอเปกในรอบนี้นั่นเอง”

เป้าหมายจีน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน “อาเซียน” ก็สำคัญในสายตาจีน

กับคำถามที่ว่า เป้าหมายจีน มองภูมิภาคอาเซียนไปทิศทางไหน รศ.ดร.อักษรศรี อธิบายว่า อาเซียนมีความสำคัญในสายตาจีน
ในขณะนี้ อาเซียนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน อาเซียนยังเป็นตลาดเป้าหมายของจีน ด้วยประชากรที่มากกว่า 600 ล้านคน และมีประชากรเน็ตในอาเซียน หรือ Netizen ที่ใช้ชีวิตแบบดิจิทัลไลฟ์สไตล์ มีกำลังซื้อสินค้าออนไลน์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่จีนให้ความสำคัญ และมีกลุ่มบิ๊กเทคของจีนที่เติบโตติดอันดับโลก

นอกจากนี้ อาเซียนยังตอบโจทย์จีนในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญหลายอย่างที่จีนต้องการ อาเซียนยังเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของจีน

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน “อาเซียน” ก็มีความสำคัญในสายตาจีน และสายตาผู้นำทั่วโลก และในครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่มีการจัดประชุมสำคัญหลายวงในภูมิภาคอาเซียน ผู้นำจีนและผู้นำทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมในภูมิภาคอาเซียน หลังจากการระบาดโควิดมาหลายปี ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำแต่ละประเทศได้มาเจอกันด้วย เริ่มตั้งแต่การประชุมที่กัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพอาเซียนปีนี้ รวมไปถึงการประชุม G20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ และปิดท้ายด้วยการประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพงานสำคัญนี้เช่นกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ