“ปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และผู้นำไม่คิดจะทำอะไร...ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจยิ่งถดถอย แต่หากทุกฝ่ายตระหนักและจับมือกันแก้ ก็จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ที่คาดว่าจะแย่ ให้กลับมาเสถียร และดีขึ้นได้”

นี่คือ “วลี” ที่ออกมาจากความรู้สึกของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 หลังทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสพูดคุยในเวลาสั้นๆ ถึงข้อเสนอของ สภาธุรกิจที่ปรึกษาเอเปก หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ที่เป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่จะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย. 65)

นายเกรียงไกร อธิบายว่า การประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตำแหน่งส่วนในทางภาคเอกชนเราก็มี สภาธุรกิจที่ปรึกษาเอเปก (ABAC) ซึ่งใน 21 เขตเศรษฐกิจ มีตัวแทนเขตละ 3 คน รวมเป็น 63 ท่าน โดยมีการรวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอผู้นำเอเปก และในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นผู้คัดเลือก ซึ่งก็ได้ตนเป็นประธาน...

...

เบื้องหลังการประชุม 4 ครั้งของ ABAC

ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 เล่าเบื้องหลังการทำงานให้ฟังว่า การประชุม ABAC มีทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปี

ครั้งที่ 1 สิงคโปร์ : ระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ว่า อะไรคือปัญหาที่ต้องรีบเร่งทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็พบว่า 3 ปีที่ผ่านมาที่เจอปัญหาโควิด ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย และการเปิดประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำอะไรบ้าง...

“ครั้งแรกที่เจอกัน เรามีการพูดคุยกันเยอะ แต่ละประเทศต่างนำปัญหาต่างๆ มาพูดคุย จากนั้นค่อยๆ สกัดประเด็นร่วมกัน”

ครั้งที่ 2 แคนาดา : มีการสรุปหัวข้อที่ต้องทำเร่งด่วนออกมาเป็น 5 หัวข้อ เรียกว่า 5 คณะทำงาน โดยมีตัวแทนของเขตเศรษฐกิจเป็นผู้นำ

1.การรวมตัวกันของภูมิภาค ลดอุปสรรคด้านต่างๆ ทำให้การค้าชายแดน การค้าข้ามแดนกลับมาโดยเร็ว รวมถึงเร่งทำให้ความตกลงการค้าเสรีของเอเปก (FTAAP) เกิดขึ้นโดยเร็ว

2.เศรษฐกิจดิจิทัลต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสมาชิกและบุคลากรให้พร้อมเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

3.ความยั่งยืน โดยการทำธุรกิจจากนี้ไปต้องมุ่งเน้นการสร้างสมดุลและการรักษาสิ่งแวดล้อม

4.การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นจำนวนมากถึง 97% ของธุรกิจทั้งหมด และที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนัก จึงต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น และง่ายขึ้น รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีเพศในการเป็นผู้บริหาร

5.เศรษฐกิจการเงิน ที่ผู้นำเอเปกต้องเร่งพัฒนาให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ทั้งแบบดิจิทัล หรือเงินกู้เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายเกรียงไกร เล่าเบื้องหลังว่า หลังการพูดคุยในครั้งที่ 2 ก็แบ่งการบ้านกลับไปทำกัน กระทั่งนำไปสู่การพูดคุยครั้งที่ 3

ครั้งที่ 3 เวียดนาม : ร่วมกันหาข้อสรุปการจากพูดคุยครั้งที่ 2 มาทำเป็นรูปเล่ม เพื่อจะนำเป็นข้อเสนอในการประชุม ABAC ครั้งที่ 4 ที่ใกล้กับการประชุม APEC ในวันที่ 18-19 พ.ย. ที่กรุงเทพฯ

ครั้งที่ 4 ไทย : การประชุม ABAC ได้มีการพูดคุยไปเมื่อวันที่ 14-16 พ.ย. ที่ผ่านมา

นายเกรียงไกร สรุปว่า การเสนอ 5 หัวข้อหลักนั้น ยังมีอีก 69 หัวข้อย่อย อย่างไรก็ตามเรื่องเร่งด่วนเวลานี้ก็มีหลายเรื่อง สืบเนื่องจากเป็นปีที่พิเศษเพราะมีปัญหาทับซ้อนกันหลาอย่าง ที่มาจากความขัดแย้งในโลก ถึงแม้เราจะเจอปัญหาโควิด แต่กลายเป็นว่า ปัญหาจากโควิด นี่ยังไม่เทียบเท่ากับสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่มีต้นเหตุมาจากราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น คือ ก๊าซ และน้ำมัน จนทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูง ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวนั้นไม่ทันกับเงินเฟ้อ...

3 เรื่องที่ต้องร่วมมือกันแก้ด่วนที่สุด!

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุด ที่ ABAC เสนอในการประชุม APEC คือ 3 ประเด็นหลักคือ

...

1.ปัญหา “ความั่นคงด้านพลังงาน” ส่งผลให้เกิดปัญหา Supply Chain Disruption ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลต่อกระบวนกาผลิตรวนไปหมด

2.ปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยมีการคาดคะเนว่า จะมีหลายประเทศเดือดร้อน และประชากรนับ 100 ล้านคนจะประสบปัญหา

3.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนกังวลมากที่สุด

นายเกรียงไกร อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ตอนนี้เริ่มแสดงออกชัดเจนจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงและผิดปกติในทุกมุมโลก โดยมีข้อสังเกตเริ่มต้นจาก “คลื่นความร้อนในยุโรป” ที่เจอ 45-50 องศาเซลเซียส, ไฟไหม้ป่าที่รุนแรง กินพื้นที่กว้างและถี่ขึ้น, อุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ปากีสถาน ฝนตกห่าใหญ่ครั้งเดียว ความเดือดร้อนของประชาชน กินพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ

“สิ่งที่เราพยายามบอกในการประชุมเอเปกครั้งนี้ คือ การบอกต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ต้นเหตุของ “เงินเฟ้อ” มาจากภาวะความขัดแย้งในภูมิภาค ถ้าต่างฝ่ายต่างแบ่งพรรคแบ่งพวก ถือหางกัน มันจะทำให้ค่าพลังงานยิ่งแพงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาว กลับมาแพงอีก”

...

นี่คือข้อเสนอแนะที่คิดว่า “ผู้นำ” แต่ละประเทศเขารู้อยู่... แต่นี่คือเสียงของภาคเอกชน ที่สะท้อนไปถึงเหล่าผู้นำประเทศเหล่านี้ว่า... “เราไม่ไหวแล้วนะ” ซึ่งมันกระเทือนไปยังทุกเขตเศรษฐกิจ รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจของพวกท่านทุกคนด้วย

“เราไม่ไหวแล้วนะ...” ท่านผู้นำช่วยทำอะไรหน่อย!

“เราไม่ไหวแล้ว...เราไม่ได้เห็นด้วยกับท่านนะ ช่วยหาทางแก้ไข หรือตัดไฟตั้งแต่ต้นลมหน่อย หรืออย่างน้อยช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่” นายเกรียงไกร กล่าวและย้ำว่า... 

เรารู้ว่าเสียงของเราคงไม่มีผลอะไร...แต่มันก็คือเสียงจริงๆ ที่สะท้อนมาจากกลุ่มธุรกิจเอกชน

การเป็นผู้นำในเขตเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องฟังเสียงจากประชาชน เพราะหากไม่ฟังเสียง ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่ อย่างเช่นในยุโรปที่มีการแบ่งขั้วกันชัดเจน

“โควิดคือปัญหาหนึ่ง เงินเฟ้อที่มีต้นเหตุจากความขัดแย้ง คือ ปัญหาที่ทับซ้อนให้ ปัญหามันรุนแรง ฉะนั้นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องแก้ปัญหา และต้องฟังเสียงจากประชาชนว่าตอนนี้เขากำลังเดือดร้อนกันหนักมาก และไม่ไหวกันแล้ว ค่าครองชีพแบบนี้ประชาชน ธุรกิจจะอยู่อย่างไร การขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นมา...คุณจะทำยังไง นี่คือสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข ส่วน 5 ข้อที่เสนอก็ต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง...”

...

การรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเดียวกัน (Regional Economic Integration) ก็ต้องรีบเร่งในการเจรจา

ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 กล่าวว่า เราต้องรีบเร่งในการเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP เพราะใน 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก โดยมี GDP มากถึง 60% ของทั้งโลก ซึ่งการเจรจาตรงนี้อาจต้องใช้เวลาบ้าง เชื่อว่าไม่ง่าย และไม่เร็ว แต่ต้องทำ

“ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการจัดประชุม APEC จะคุยเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขาย การลงทุนในภาคประชาชน แต่ท้ายที่สุดกับกระแสโลกมันแรง อาจจะมีบ้างที่ประเด็นการเมืองจะแผ่รังสีเข้ามาบ้าง แต่...พวกเราในฐานะ ABAC หรือ ไทย ในฐานะประเทศเป็นกลาง เราจึงจำเป็นต้องควบคุมทุกอย่างเพื่อให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยในประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งจากปัญหาโควิดที่ผ่านมาส่งผลให้ SMEs ทั่วโลก ได้รับผลกระทบ

ซึ่งทุกที่ทั่วโลกอยากให้ SMEs ฟื้นตัวกลับมา คำถามคือ จะกลับมาอย่างไร ในเมื่อ SMEs ในเวลานี้ไม่เงินทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ที่ผู้นำทุกคนควรจะให้ความสำคัญ...

บางเรื่องที่เสนอ เช่น เรื่องดิจิทัล การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล ประเด็นนี้ประเทศไทยทำไปเยอะแล้ว แต่ปัญหาคือ การต้องทำร่วมกัน เพื่อเข้าสู่สังคมดิจิทัล แต่ตอนนี้ยังพบ “ความเหลื่อมล้ำ” กันมาก โดยเฉพาะใน 21 เขตเศรษฐกิจ แต่เราก็ช่วยกันได้ เพราะ GDP กว่า 60% มันอยู่ที่นี่ เราช่วยกันค้าขายกันได้ นี่คือสิ่งที่คาดหวังที่จะเกิดขึ้น ข้อไหนทำได้ควรทำทันที แต่ก็ขึ้น

“เวลานี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากเราส่งเสียงดังๆ แล้วผู้นำที่มาร่วมประชุมฟัง และช่วยทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้นได้ ก็ล้วนเป็นผลบวกทั้งสิ้น...”

นายเกรียงไกร กล่าวในช่วงท้ายว่า ถึงแม้ว่าการประชุม ABAC หรือ APEC จะประชุมแล้วไม่ได้ผล 100% แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะถือเป็นสถานการณ์ที่ดีที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะมิเช่นนั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะลำบาก โดยเฉพาะปีหน้า การประมาณการ “ปรับลด” ของเศรษฐกิจโลก ทุกการประชุม รวมทั้งการประชุมรัฐมนตรีคลังของเอเปกเมื่อเดือนที่แล้ว ก็เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อลดลง ซึ่งประเทศสหรัฐฯ ก็เป็นผู้นำในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเร็วและแรง โดยมุ่งหวังลดเงินเฟ้อ แต่ลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทำให้ทุกอย่างแพงขึ้น ปีหน้าถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และผู้นำไม่คิดจะทำอะไร...ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจยิ่งถดถอย แต่หากทุกฝ่ายตระหนัก และจับมือกันแก้ไข ก็จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ที่คาดว่าจะแย่ ให้กลับมาเสถียร และดีขึ้นได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ