ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 จะมีการนำเสนอเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังเกิดการระบาดของโควิด จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่

ในการเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย เพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

แตกต่างจากปี 2546 เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก และที่ผ่านมาบทบาทของเอเปกต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาค มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการก่อตั้งในปี 2532 โดยออสเตรเลียเป็นตัวตั้งตัวตีในระยะแรก จากการสนับสนุนของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ต้องการเร่งกระบวนการเปิดเสรี

ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นเสียงแตก เนื่องจากที่จีนและสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ ต้องการชะลอการเปิดเสรี เน้นความช่วยเหลือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ และการเร่งรัดให้มีการเปิดกว้าง กระทั่งมีการเปิดเสรีมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ และชะลอตัวลงตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพรม์ปี 2551 จนมาถึงวิกฤติโควิด

...

ในมุมมองของ “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า เอเปกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมาก เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดและต่อเนื่องหลายทศวรรษ ซึ่งสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีขนาดของจีดีพีมีปริมาณการค้าเกิน 50% ของโลก มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และประชากรมากกว่า 2,700 ล้านคนมีกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจเอเปกสามารถฟื้นเศรษฐกิจโลกได้

แต่ความสัมพันธ์สี่เส้าของมหาอำนาจในเอเปก จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งผลต่อพลวัตของเอเปกในอนาคตและระบบโลกโดยรวม ทำให้บทบาทของเอเปกในการเป็นเวทีเจรจาเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจเป็นองค์กรคล้ายกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เน้นส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และวิชาการมากกว่า

ที่ผ่านมาแม้การประชุมเอเปก เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2537 ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ แต่มีความคืบหน้าในหลายเขตเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นโอกาส หรือความเสี่ยงของไทยขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ต่อเอเปกจะเป็นอย่างไร สอดรับกับสถานการณ์และพลวัตต่างๆ หรือไม่ และอยู่ที่วิสัยทัศน์ เป้าหมายนโยบายต่างประเทศ

"มองว่านโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มชนชั้นสูง จนประชาชน พรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมมากนัก ทั้งที่การประชุมเอเปก 2022 เน้นการเปิดกว้าง การเชื่อมโยงและความสมดุล แต่การเปิดกว้างถูกตั้งคำถามว่า เปิดโอกาสให้ทุนใหญ่มากกว่าทุนเล็กทุนน้อย จึงเป็นการเปิดโอกาสที่ไม่เท่าเทียม มีการเชื่อมโยงมากขึ้นในระดับรัฐต่อรัฐ เอกชนกับเอกชน แต่ภาคประชาชนยังเชื่อมโยงกันน้อย และผู้นำเขตเศรษฐกิจสำคัญก็ไม่มาประชุมในครั้งนี้ ทำให้การประชุมมีความสำคัญลดลง"

ส่วนเรื่องความสมดุล ควรต้องเพิ่มมิติทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และมิติทางการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยให้มากขึ้น รวมถึงควรมียุทธศาสตร์ในสร้างดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ ดุลการเมืองให้เข้มแข็งกว่าเดิมในเวทีระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาใช้ยุทธศาสตร์แบบพึ่งพิงมหาอำนาจมาโดยตลอด และการที่ไทยนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวคิดหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปก ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะทำให้เกิดพลังความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

...

จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควตา และระงับการส่งออก เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก ซึ่งไทยควรใช้เวทีเอเปกผลักดันความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลก จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นอกจากนี้วิกฤติโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ควรใช้เวทีเอเปกทำข้อตกลงร่วมกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเชิงรุก เช่นเดียวกับการร่วมสร้างสันติภาพและต่อต้านการใช้กองกำลังทหารบุกรุกประเทศอื่น และควรหารือสร้างกลไกการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานใหม่ นำมาสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และใช้โอกาสในการริเริ่มความร่วมมือในโครงการใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนของภูมิภาคเอเปก.