บทบาทของสหรัฐฯ ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ "เอเปก" (APEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. จะเป็นอย่างไร การส่ง รองประธานาธิบดี "คามาลา แฮร์ริส" มาเข้าร่วมการประชุม (หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) จะทำให้ อุณหภูมิการเผชิญหน้ากับ จีน และ รัสเซีย จะลดลงในการประชุมครั้งนี้ได้หรือไม่ และสหรัฐฯ ต้องการอะไรจากการประชุมเอเปก ทั้งหมดนี้ ติดตามได้จากบทวิเคราะห์ของ "ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล" อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ผ่าน "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย
ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย

...

การประชุมเอเปกในประเทศไทย กับบทบาทของสหรัฐฯ :

“สหรัฐอเมริกา ยังต้องการเอเปก (APEC) อยู่แน่นอน เพราะในเอเปกมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ซ้อนทับรวมกันอยู่ถึง 21 เขตเศรษฐกิจ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ภายในเอเปก มี จีน และรัสเซีย รวมอยู่ด้วย”

"เอเปก" คือ เวทีที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ อีกทั้งยังตรงกับ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) หรือ IPEF ด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ต้องจับตาคือ การวางน้ำหนักของสหรัฐฯ ในแต่ละครั้งที่ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปก?

อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ เข้าร่วมเอเปก ก็คือ การหาช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อเพื่อหวังจะเข้ามาจัดระเบียบในภูมิภาคให้เป็นไปตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่จีนกำลังดำเนินความพยายามในลักษณะดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน

และหากสังเกตดีๆ จะพบว่า นับตั้งแต่ "โจ ไบเดน" ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อจาก "โดนัลด์ ทรัมป์" สหรัฐฯ แสดงตัวอย่างชัดเจนว่า ต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากอิทธิพลดังกล่าวเริ่มเจือจางลงไปในยุคของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มุ่งนโยบาย American First เป็นหลัก

โดยเห็นได้จาก มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายต่อหลายคนเข้ามาเชื่อมสัมพันธ์กับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค และในแต่ละครั้งมักจะมาพร้อมกับข้อเสนอขอเป็นพันธมิตร พร้อมๆ กับพยายามหาทางกีดกันจีนให้ถอยห่างออกไปจากกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ มองว่าเป็น “พันธมิตร” หรือไม่อย่างน้อยที่สุดสหรัฐฯ ก็มักจะพยายามส่งสัญญาณแรงตรงชัดไปถึงฝ่ายปักกิ่งอยู่เสมอๆ ในระยะหลังๆ นี้ว่า “อิทธิพลของสหรัฐฯ ยังคงมีเหนือภูมิภาคนี้เช่นในอดีต” ด้วยเหตุนี้ ความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่า การแสดงท่าทีของสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมเอเปกที่ประเทศไทย คงจะไม่แตกต่างไปจากนี้แน่นอน

“การมาครั้งนี้ของสหรัฐฯ ก็คงมาหาพันธมิตร มาหาความร่วมมือ พร้อมกับย้ำจุดยืนเรื่องการใช้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเพื่อสกัดกั้นจีนต่อไป หรืออย่างน้อยก็มาโชว์ตัวตนให้เห็นว่า อย่านะ ฉันยังอยู่ตรงนี้ไม่ได้ไปไหน”

เอเปก ภายใต้ความหวาดระแวง :

ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง สหรัฐฯ จีน และ รัสเซีย มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเอเปก เพราะปัจจุบันความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “มองหน้ากันแบบไม่สนิทใจนัก” ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

...

“เราในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ประเทศไทยประเทศเดียว แต่หมายถึง ประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ที่ในเวลานี้ต่างพากันหวาดระแวงทั้งจีนและสหรัฐฯ ในลักษณะ เธอต้องการอะไรจากฉันกันแน่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่สามารถสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เลย”

เอเปก กับข้อหารือทางด้านเศรษฐกิจ :

แม้การประชุมเอเปกครั้งนี้ จะตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในประเด็นการหารือทางด้านความร่วมทางเศรษฐกิจและการค้า ส่วนตัวคิดว่า น่าจะยังคงพอหารือร่วมกันได้ เพียงแต่อาจจะมีข้อแม้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องไม่ดึงเหล่าสมาชิกเอเปกบางส่วน เข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นเรื่องความมั่นคงที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ความพยายามวางตัวเป็นกลางเช่นนั้น อาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่ปรารถนาให้เกิดพันธมิตรที่แนบแน่นในทุกๆ ด้านเพื่อร่วมกันต่อต้านจีนและรัสเซียแน่นอน

คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

...

เอเปก กับ คามาลา แฮร์ริส :

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในวินาทีสุดท้าย ผู้ที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยของฝ่ายสหรัฐฯ คือ รองประธานาธิบดี "คามาลา แฮร์ริส" ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคิดว่า เป็นผู้ที่ไม่ช่ำชองเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากนัก ฉะนั้น การแสดงบทบาทในท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจไม่ถึงกับ “หวือหวา” มากมายอะไรนัก

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ บทบาทและการวางตัวต่างๆ ทางการเมืองในเวทีเอเปกครั้งนี้ ย่อมต้องได้รับการตระเตรียมจากทางทำเนียบขาวมาเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าติดตามในเรื่องการแสดงบทบาทครั้งสำคัญของ รองประธานาธิบดีหญิงแห่งสหรัฐฯ ผู้นี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...