ก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย “ปม 8 ปีนายกฯ” ในการดำรงตำแหน่งของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บรรดานักวิชาการทั้งหลายไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะออกมาทิศทางใด ระหว่างรอด หรือพอเท่านี้ จากหลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักน่าจะอยู่ต่อ และเป็นไปตามคาด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อ เริ่มนับการดำรงตำแหน่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 นั่นหมายความว่ายังไม่ครบ 8 ปี สามารถดำรงตำแหน่งไปจนถึงวันที่ 5 เม.ย. 2568
เมื่อ "บิ๊กตู่" รอดได้อยู่ต่อในการเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ม็อบหลายฝ่ายเคลื่อนไหวออกมาขับไล่ แล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป และความเป็นไปได้ในการประกาศยุบสภาก่อนครบวาระในเดือน มี.ค. 2566 จะเกิดขึ้นหรือไม่? เพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง และอย่างน้อย “บิ๊กตู่” ได้นั่งเป็นประธานประชุมเอเปก ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. สมความตั้งใจให้เป็นเกียรติประวัติของชีวิต
ฉากทัศน์การเมืองไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร หลัง บิ๊กตู่ ได้ไปต่อ ในมุมมองของ "รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส" คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก วิเคราะห์วิธีการสื่อสารการเมือง เห็นว่า เท่าที่จับอาการ บิ๊กตู่ มีความต้องการจะเป็นประธานประชุมเอเปกให้ได้ในปลายปีนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติ และรัฐบาลใกล้หมดวาระในเดือนมี.ค.ปีหน้า ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าหลังจัดประชุมเอเปก อาจตัดสินใจยุบสภา ซึ่งรัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบวาระ
...
"เท่าที่ดูมีการเปลี่ยนแปลงทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งหลังลุงตู่อยู่ในตำแหน่งต่อไป จะยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่หลังประชุมเอเปกจะยุบสภาเพื่อล้างไพ่กันใหม่ แต่ก่อนถึงการประชุมเอเปก ต้องรับมือกับปัญหาความไม่พอใจ ขาดศรัทธาในการดำรงตำแหน่ง ไปจนถึงประชุมเอเปก ตรงนี้จะรับมืออย่างไร"
ขณะนี้หลายภาคส่วนไม่พอใจในการดำรงตำแหน่ง เพราะ 8 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จะเจอภาวะขาดศรัทธา ความเชื่อถือ นับถือนายกรัฐมนตรีที่ชื่อประยุทธ์จะขาดไปจากมวลชน หากใช้ความรุนแรงสลายม็อบ ใช้แก๊สน้ำตายิง ทำในสิ่งที่โลกไม่ยอมรับ และคนไทยไม่เห็นด้วย จะยิ่งทำให้ความชอบธรรมถดถอยลงมาเรื่อยๆ
นับจากนี้มวลชนจะออกมาแสดงให้เห็นความไม่ชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง จะทำให้ศรัทธาและต้นทุนลดลง จากปัจจุบันที่ต้นทุนไม่เหลืออะไรแล้ว ซึ่งจะจัดการอย่างไรให้อารยประเทศยอมรับได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของประชาชนในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง หากใช้ความรุนแรงจะทำให้นานาชาติไม่ยอมรับ หากมีการเผชิญหน้าจะยิ่งเป็นปัญหา อาจทำให้หลายประเทศไม่เข้าร่วมประชุมเอเปกก็ได้
เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการตรงนี้ต้องทำให้ดีในการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและม็อบ จากเรื่องของตัวนายกรัฐมนตรีเต็มๆ เพราะคนไม่พอใจในการที่นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อ เป็นปัญหาที่ตัวบิ๊กตู่กับมวลชน จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และการจัดประชุมเอเปกจะต้องพยายามประคับประคอง ซึ่งไม่สามารถคาดเดามวลชนได้ เพราะพวกเขารู้สึกเต็มที่แล้วกับ 8 ปีที่ไม่สามารถฉุดรั้งการพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้
อีกฉากทัศน์การเมืองไทย หากมีการเลือกตั้งในปีหน้า ไม่แน่ใจว่าหลายพรรคการเมืองจะเสนอชื่อ บิ๊กตู่ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะอยู่ได้ถึงวันที่ 5 เม.ย. 2568 ซึ่งไม่ครบวาระ เมื่อครึ่งๆ กลางๆ เช่นนี้ คงคิดหนัก และจะมีผลต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เหมือนเปลี่ยนม้ากลางศึก จะทำให้ส.ส.อยู่ต่อได้หรือไม่ หรือจะมีการยุบสภาอีก ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพการเมือง จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้คนไม่มั่นใจว่าการเมืองจะไปอย่างไรต่อไปในช่วง 2 ปีกว่า
“กระบวนการต่างๆ มันรวนไปหมด และในแง่ความรู้สึกของนักลงทุนต้องการความมั่นใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปในทิศทางเดียวกัน หากเปลี่ยนผู้นำบ่อย เกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อย จะทำให้ธุรกิจไม่เดินหน้า และการลงทุนหยุดชะงัก"
...
แม้ในสายตาบิ๊กตู่ พอใจกับคำวินิจฉัยให้ไปต่อ แต่จะเป็นวิบากกรรมต้องเผชิญกับม็อบ และพรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่แน่ใจว่า ส.ว.จะตัดสินใจเป็นหนึ่งเดียวกันอีกหรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทาย อย่างไรแล้วก็ไม่เหมือนเดิม ทั้งศรัทธา ความชอบธรรม แม้ได้เป็นประธานประชุมเอเปก แต่การพัฒนาประเทศจะไปต่อได้หรือไม่ เพราะวันนี้มีเค้าลางว่าม็อบทั้งหลายพร้อมแล้ว และจะใช้ความรุนแรงกับม็อบไม่ได้อีกต่อไป.