• ศาล รธน.วินิจฉัย มติเสียงข้างมาก 6-3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ความเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง และให้นับความเป็นนายกฯตั้งแต่ มีรธน. 2560 ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 วาระ 8 ปี สิ้นสุดวันที่ 5 เมษายน 2568
  • ลืมไม่ได้ "ประยุทธ์" รอด นายก 8 ปี คาดว่า การเมืองบนถนน จากสารพัดม็อบจะรุนแรงขึ้น เว้น "ลุงตู่" ตัดสินใจ "ลาออก-ยุบสภา" แล้วไปเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ยังติดปม"กฎหมายลูกเลือกตั้ง" ยังค้างอยู่ที่ศาลรธน.เจ้าเก่า 
  • ฟันธง! ช่วงที่น่าจับตามองทางการเมือง ต.ค.-พ.ย. ไปจนถึง ธ.ค.หลังการประชุมเอเปกผ่านพ้น มีปัจจัยให้ตัดสินใจจะ "ยุบสภา" ไปเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับม็อบที่เป็นตัวแปรสำคัญ ว่าจะเอาอยู่ไหม? 

แล้วผลการตัดสิน คดีประวัติศาสตร์ นายกฯ ครบ 8 ปี ของ"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินวันนี้ ก็ออกมา ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3  "ลุงตู่" รอดสันดอนไปได้ เมื่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้นับเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี จากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เมื่อ 6 เมษายน 2560 วาระ 8 ปี สิ้นสุดวันที่ 5 เมษายน 2568

...

ทั้งนี้ ภายหลังฝ่ายค้านยื่น คำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งต่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557

รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง ม.สวนดุสิต เคยให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ เมื่อ 12 ก.ย.65 สรุปความเห็นส่วนตัว ถ้ารอด อายุรัฐบาลก็จะไปถึงแค่จบการประชุมเอเปก ช่วงเดือนพฤศจิกายน จากนั้นคาดว่า "ยุบสภา" น่าจะก่อนปีใหม่ 2566

ถามว่า "ถึงเวลาไหม" ยอมรับว่า "ถึงเวลาแล้ว" เข้าเทศกาลการเลือกตั้ง อีกอย่างที่คิด หากสถานการณ์ "ลุงตู่" ผ่าน จบพิจารณา นายกฯ 8 ปี ก็ต้องเรียกว่า "ทำแต้มการเมืองให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความนิยม" เรียกกระแสให้ดีขึ้น

"ม็อบ" ทำอะไรรัฐบาลได้ไหม?

รศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า เรื่องม็อบ ผมว่าไม่มีอะไร เพราะม็อบที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนจนรัฐบาลจับทางถูก ม็อบที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องจัดการอย่างไร ปฏิบัติแบบไหน คิดว่าม็อบที่เกิดขึ้นรัฐบาลเรียนรู้ และจับทางได้ รู้ทางละ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้ชุมนุมก็จะอาศัยตรงนี้เป็นแรงกดดัน ผมคิดว่าม็อบไม่น่าทำอะไรรัฐบาลได้

ปรับ ครม.ในรัฐบาล มีหรือไม่? 

ความเห็นผมว่า มีแนวโน้มปรับ ครม. คือปรับ ครม.มันไม่ยาก ปรับหลังนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) กลับมา ถ้าได้กลับนะ ช่วงที่ระหว่างนายกฯ ยังไม่กลับเนี่ย ผมว่ามีการพูดคุยต่อรองกันไปพอสมควรแล้ว ฉะนั้นการกลับมา เพื่อให้คลื่นลมให้มันสงบในตำแหน่งที่มันว่างๆ อยู่ ก็ปรับ ครม.ซะ เป็นการปรับ ครม.ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ก็แฮปปี้กันทุกคนนะ

กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ ต้องรอศาล รธน.วินิจฉัยปมสูตรนายกฯ หาร 100

รศ.ดร.ธนภัทร ระบุว่า ตรงนี้ผมเชื่อ รัฐบาลสามารถทำได้ ออกเป็นพระราชกำหนด อะไรไป เพื่อนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่มันก็คงไม่เวิร์กในมุมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีตัวแปรเหมือนกัน มันก็ทำให้การตัดสินใจ "ยุบสภา" ต้องสัมพันธ์กับกฎหมายลูกด้วย

“น่าจับตาการเมืองมาก ตั้งแต่ ต.ค.-พ.ย. ไปถึง ธ.ค. ในช่วง 3 เดือนนี้ โดยเฉพาะในการที่จะทำให้กฎหมายผ่านสภาออกมาได้ ต้องยอมรับ เมื่อกฎหมายลูกต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งต้องมีกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยแล้ว ส่วนตัวผมว่า จะเลยการประชุมเอเปกในช่วง พ.ย.ด้วย ฉะนั้นการตัดสินใจยุบสภามีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องตัวกฎหมายลูกด้วยเหมือนกัน เพราะมันจะไม่รับกัน ซึ่งก็อาจจะขยับการ "ยุบสภา" ออกไปได้อีก ถือเป็นอีกเงื่อนไขช่วงที่น่าจับตามองมากเลย ต.ค.-พ.ย. ไปจนถึง ธ.ค. หนึ่งในการตัดสินใจที่จะ "ยุบสภา" คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง ม.สวนดุสิต กล่าวทิ้งท้าย 

ในทางกลับกัน...

สมมติ "บิ๊กตู่" ไม่รอด จากศาลรธน.รัฐบาลจะเป็นอย่างไร 

สรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158-159 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 1 เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี (5 รายชื่อ 1. อนุทิน ชาญวีรกูล 2. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 3. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 4. สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ 5. ชัยเกษม นิติสิริ) โดยประธานสภาเรียกประชุมเพื่อเสนอชื่อ ลงมติ ซึ่งต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของการประชุมร่วมทั้ง 2 สภา

หากเลือกไม่ได้ เสนอชื่อนายกฯ ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ (นายกฯ คนนอก)

หากเลือกที่จะดำเนินการเลือกนายกฯ ตามรายชื่อแคนดิเดตไม่ได้ ก็ให้ดูตามวรรค 2 เลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ (นายกฯ คนนอก) โดย ส.ส.และส.ว.ต้องยื่นเสนอประธานรัฐสภา และต้องได้เสียง 2 ใน 3 ขึ้นไป ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา ของดเว้นใช้มาตรา 88 ตามรัฐธรรมนูญ โดยสภาในขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 727 คน เสียง 2 ใน 3 ก็ต้องได้เสียงเกิน 480 คนขึ้นไป โดยประธานสภาจะนัดประชุมและลงมติ แล้วจึงดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ภายในวันเดียวกัน

ถ้ายังเลือกนายกฯ คนนอกไม่ได้อีก ยุบสภาได้ไหม? 

หากที่ประชุม 2 สภา ยังดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะรักษาการตามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาการได้มาของนายกรัฐมนตรีไว้ ซึ่งก็ทำให้จะต้องมีการเลือกนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ ระหว่างนี้รักษาการนายกฯ ก็จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป อาจจนจบอายุรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ หรือจะยุบสภาช่วงไหนก็สามารถทำได้เช่นกัน

มาที่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณี หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยครบ 8 ปี รัฐสภาก็ต้องดำเนินการเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยใช้รายชื่อตามบัญชีแคนดิเดตนายกฯ หากเลือกไม่ได้ ทางสมาชิกทั้ง 2 สภา ต้องลงมติใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา ร้องให้ประธานสภางดเว้นใช้ รธน.ตามมาตรา 88 เพื่อเปิดทางให้เลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่อยู่นอกบัญชีนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งที่ประชุมจะเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้ที่เห็นว่ามีความเหมาะสม ทั้งนี้ที่ประชุมอาจเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกฯ เป็นนายกฯ บัญชีคนนอก ก็สามารถทำได้

จากนี้ไป สิ่งที่ลืมไม่ได้ คือ เมื่อ "ประยุทธ์" รอด ปม นายก 8 ปี ก็เป็นที่คาดหมายว่า การเมืองบนถนน จากกลุ่มสารพัดม็อบ น่าจะแรงขึ้น ยกเว้น "ลุงตู่" จะตัดสินใจ ลงจากตำแหน่ง ลาออก-ยุบสภา แล้วไปเลือกตั้งใหม่ 

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ยัง ติดเงื่อนไข กฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่ยังรอศาลรัฐธรรมนูญเจ้าเดิม วินิจฉัย ไม่เช่นนั้นก็ยากจะไปเลือกตั้ง 

ฉะนั้นการเมืองจากนี้ ต้องมองเน้นไปที่กลุ่มม็อบ ที่ประกาศว่า จะนำมวลชนลงถนน เพื่อประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ หลังหลุดจาก ปมนายก 8 ปี ถึงขั้นประกาศรวมพล ไม่พอใจคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ 

จับตา...บทส่งท้าย "รัฐบาลบิ๊กตู่" จะจบลงที่จุดใด

น่าสนใจยิ่ง !!! 



ผู้เขียน:เดชจิวยี่ 

กราฟิก:Theerapong Chaiyatep