คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เตรียมประชุมเพื่อพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ภายหลังธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความกังวลจากหลายฝ่ายถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยของไทย อาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ในระบบ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ไทยมีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง
“ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว” ที่ปรึกษา สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ประเมินว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของไทยน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติโควิด ถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำมาก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทย ส่งผลให้ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายการลงทุนที่น้อยลง แต่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมให้กับประชาชน โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหนี้จากการผ่อนบ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุก 1% จะเป็นภาระให้ภาคครัวเรือนไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และทุก 1% ที่เพิ่มขึ้นจะส่งให้ครัวเรือนไทยต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 2,000-3,000 บาทต่อเดือน จึงส่งผลต่อกำลังซื้อของแต่ละครอบครัวต่อจากนี้
“คนวัยทำงานช่วงอายุต่ำกว่า 40 ปี จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลายคนที่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเลือกผ่อนบ้านที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยชะลอตัว เนื่องจากคนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ลดลง เพราะไม่อยากแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้น”
...
วางแผนการเงิน ก่อนดอกเบี้ยปรับขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนจะมีมาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย “ดร.สุทธิกร” ให้คำแนะนำดังนี้
1.หากผ่อนบ้านครบ 3 ปี ควรรีไฟแนนซ์กับธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนธนาคารก็สามารถติดต่อกับธนาคารเดิม เพื่อขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสม
2.ควรวางแผนการเงินอย่างรัดกุม เพราะธุรกิจและอาชีพการทำงานในอนาคต จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่รวดเร็ว หากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมอาจเจอกับปัญหาทางการเงิน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ไม่ใช่การเก็งกำไร
3.สถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นคนที่ลงทุนซื้อหุ้นกู้หรือฝากประจำ ไม่ควรเลือกลงทุนแบบระยะยาว หุ้นกู้อาจจะต้องดูที่ไม่เกิน 2 ปี เงินฝากประจำควรเลือกระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี
4.จากการประเมินคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ 3-5 ปี ยกเว้นจะมีผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในต่างประเทศ ที่อาจจะเกิดได้จากทั้งในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยชะลอตัว หรืออาจเปลี่ยนทิศทางได้
5.ประชาชนทั่วไปควรใช้เงินอย่างประหยัด วางแผนการเงินในการสร้างช่องทางการหารายได้ ไม่ควรคาดหวังจากรายได้ช่องทางเดียวเหมือนยุคก่อน รวมถึงเตรียมความพร้อมหากมีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้ตนเองและครอบครัวได้รับผลกระทบที่รุนแรง.