เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับสูง โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 7.61% YoY ชะลอลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7.66% YoY โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากราคาพลังงานและอาหารที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าดัชนีราคาหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปรับลดลงมาตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแต่ก็ยังคงทรงตัวในระดับสูง
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งหักอาหารสดและพลังงานออกแล้วเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 2.99% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.51% YoY สะท้อนให้เห็นว่าการส่งผ่านต้นทุนจากไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและในวงกว้างขึ้น
ดังนั้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะย่อลงมาบ้างและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงเล็กน้อย แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ดังนั้น กนง. มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักต่อปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางอย่างผู้มีรายได้น้อย
แม้ว่าเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นจะมาจากปัจจัยในฝั่งอุปทานเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้โดยตรง อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่าเงินเฟ้อจะได้รับการดูแลไม่ให้สูงขึ้นต่อไปในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.00%-1.25% ณ สิ้นปี โดยจุดจับตาจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีจากการท่องเที่ยวคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กนง. พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ ขณะที่ อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อโลกอาจอ่อนแรงลงได้บ้าง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและการจ้างงานของชาวอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่จะย่อตัวลงในระยะข้างหน้า ส่งผลให้เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ และยังมีส่วนต่างกับดอกเบี้ยเฟดอยู่มาก ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพภายนอกประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ไทยคงเข้าใกล้จังหวะการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากแล้ว โดยช่วงที่เหลือของปี 2565 นั้น กนง.ยังเหลือการประชุมนโยบายการเงินอีก 3 ครั้ง คือ ในเดือน ส.ค. ก.ย และ พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50-0.75% มาที่ 1.00-1.25% ภายในช่วงสิ้นปี 65 นี้ ก่อนที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในช่วงต้นปี 2566
สำหรับ ธนาคารพาณิชย์ สถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ผนวกกับยังมีลูกหนี้ที่เคยขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน และยังอยู่ระหว่างการปรับตัวในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้อีกจำนวนมากนั้น คงทำให้เผชิญแรงกดดันต่อการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ออกไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ Net Interest Margin: NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ดังนี้
- สมการการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะในปี 2566 ทั้งนี้ ในภาวะปกติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมพร้อมๆ กัน จะส่งผลบวกต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 55-70% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดจะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (ขึ้นกับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง) จึงทำให้ได้รับประโยชน์ทันทีในไตรมาสที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานอย่าง เช่น MOR, MLR และ MRR
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 25% ของเงินฝากทั้งหมด โดยธนาคารพาณิชย์จะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังเงินฝากประจำลอตเดิมครบกำหนด นั่นคือ อีก 3, 6, 12 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นปัจจุบัน ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน หรือภายหลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่นาน
ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานข้างต้น มีโอกาสเลื่อนออกไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้า แม้ว่าในทางปฏิบัติ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง จะขึ้นอยู่กับโครงสร้างฐานลูกค้า สภาพคล่อง และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แตกต่างกันก็ตาม
- ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานเลื่อนออกไป 3-6 เดือนนั้น จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะปรากฏชัดเจนในปี 2566 เนื่องจากต้องทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2565
ทั้งนี้ หากเทียบกับกรณีที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปกติแล้ว จะพบว่าการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานออกไป 3-6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ประมาณ 0.04-0.06% และกระทบปี 2566 ประมาณ 0.08-0.18% ตามลำดับ
หากระบบธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ แม้จะด้วยการปรับขึ้นในขนาดไม่มากนัก (สมมติให้ปรับขึ้น 0.125% ในช่วงที่เหลือของปี 2565) แต่ผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 0.05-0.07% ในปี 2565 และ 0.15-0.25% ในปี 2566
ทำให้สุดท้ายแล้ว แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในกรณีนี้ แทบจะไม่แตกต่างไปจากที่เห็นในปี 2564 ที่ 2.54% และต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดที่ 2.78% อย่างมีนัยสำคัญ
- ความกังวลเพิ่มเติมจะอยู่ที่คุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปี 2565 จะไปเพิ่มแรงกดดันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเป็นจังหวะที่อัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF จะต้องถูกปรับขึ้นอีก 0.23% กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ทำให้อาจเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศดูเสมือนว่าจะปรับขึ้นแรงกว่าที่ควรจะเป็น และอาจกระทบต่อธุรกิจและครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน การยืนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินอื่นๆ ปรับขึ้นแล้ว อาจสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ทั้งที่มีความเสี่ยงปกติและความเสี่ยงสูงเข้ามากู้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม ซึ่งหากมีส่วนผสมจากลูกหนี้กลุ่มหลังมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพพอร์ตสินเชื่อในภาพรวมได้
นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย. 66 จะเป็นจังหวะที่ธุรกิจที่เข้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟูจะเริ่มทยอยถูกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่จ่ายดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา (แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐาน เพราะเป็นลูกค้าที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของโครงการสินเชื่อฟื้นฟู) ขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อย่างเช่น โครงการพักทรัพย์พักหนี้ก็จะสิ้นสุดกำหนดการรับเรื่องขอเข้าร่วมโครงการเช่นกัน