• สมุนไพรไทย วัตถุดิบชั้นเลิศในตำรับตำรายาโบราณของไทยและเป็นภูมิปัญญาไทย ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษสั่งสมมาหลายร้อยปี ในการนำต้นไม้ ใบหญ้า และธาตุวัตถุทั้งหลาย นำมาใช้ประกอบเป็นยา

  • แม้สมุนไพรมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเหมือนดาบสองคม ต้องใช้ให้ถูกต้องและมีความเชี่ยวชาญ ในการนำมาดูแลสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคโควิดระบาด โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณเยี่ยมยอดในการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายสู้กับเชื้อไวรัสร้าย



  • โรงพยาบาลอภัยภูเบศร หน่วยงานขับเคลื่อนภูมิปัญญาของไทย ในการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาโรคในหลายรูปแบบมานานกว่า 30 ปี เพื่อเป็นทางเลือกด้านการแพทย์แผนไทย และยังแปรรูปเป็นเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง ผ่านการวิจัยพัฒนาจนเกิดองค์ความรู้ในการถ่ายทอดกับประชาชน และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในชุมชน

...

บัวบก ลดการอักเสบ ลดพังผืดปอด ผู้ป่วยหลังโควิด

ในฐานะผู้บุกเบิกพัฒนายาจากสมุนไพร “ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร” หรือหมอต้อม เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ได้ดำเนินการพัฒนาสมุนไพรชนิดต่างๆ รวมถึงการปลดล็อกกระท่อม กัญชา มาสู่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนา “บัวบกศาลายา 1” ที่มีน้ำหนักและสารสำคัญสูงกว่าสายพันธุ์ปกติมากถึง 5 เท่า และผ่านการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ทำให้ไม่สามารถนำสายพันธุ์ มาแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกได้

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

ที่ผ่านมาจากการคลุกคลีกับชาวบ้าน และการวิจัยพบว่า บัวบกมีผลต่อระบบประสาท เช่น ช่วยฟื้นฟูความจำ เพิ่มกลไกการทำงานของระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งดีต่อโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงมีฤทธิ์ที่ดีต่อโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุ และมีฤทธิ์สมานผิว ลดรอยแผลเป็น เพิ่มระดับสารต้านออกซิเดชัน ลดกระบวนการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนแก้ปัญหาผิวหนังเหี่ยวย่นมีริ้วรอย

ล่าสุดมีงานวิจัยในการนำบัวบก มาใช้ในผู้ป่วยหลังโควิด มีฤทธิ์ลดการอักเสบ เพิ่มการสร้างหลอดเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน มีแนวโน้มที่ดีในการลดพังผืดที่ปอด ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก และยังไม่มียารักษา

“บัวบก มีประโยชน์มากมาย ครอบคลุมหลายมิติ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ถือว่ามาถูกทาง จะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเกษตรกร ช่วยให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน และดีต่ออุตสาหกรรมสามารถพัฒนาเป็นสารสกัดที่มีสารสำคัญสูงเพื่อการส่งออกได้ รวมถึงด้านการปศุสัตว์ จะพัฒนาสู่อาหารสัตว์ในอนาคต”

ต่อยอดเจาะตลาดผู้สูงอายุ เร่งพัฒนาผลิตยาในประเทศ

ดร.ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า มีเป้าหมายในการนำสมุนไพรมาแก้ปัญหาของสังคม เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาโรคจำนวนมากที่ประเทศต้องนำเข้า เราไม่สามารถผลิตได้ แม้กระทั่งสารตั้งต้นของกระบวนการผลิตยา ซึ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายยกระดับสมุนไพรของไทย นำไปใช้ประโยชน์ใน 3 ทาง เพื่อดูแลสุขภาพโดยประชาชนเอง ใช้เพื่อการให้บริการในระบบสุขภาพ และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางพาณิชย์

...

ดร.ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว
ดร.ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว

เบื้องต้นมองถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดผู้สูงอายุ และจำหน่ายสารสกัดให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้ภายใน 1 ปี ในขณะเดียวกันจะเร่งวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ป่วยหลังโควิด ให้มียาที่มีประสิทธิผล สามารถผลิตได้เองในประเทศ

...

ผุดสปา ภูมิปัญญาสมุนไพร รักษาแบบพื้นบ้าน หลากหลาย

ในส่วนของการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ดำเนินการมามากกว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับการส่งมอบคุณค่าให้กับสังคม วัฒนธรรมภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพ ที่อาจไม่ได้ส่งต่อไปยังลูกหลานหากเราไม่นำมาใช้ประโยชน์ ต้องทำอย่างคู่ขนาน ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

“คนสุขภาพดีไม่ได้ หากปากท้องยังไม่อิ่ม จึงพัฒนาอภัยภูเบศร เดย์สปา เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสปาไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในสปาต้องนำเข้า และอภัยภูเบศร มีพื้นฐานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์แผนไทย คิดว่าน่าจะผสมผสานเข้าด้วยกัน ใช้องค์ความรู้เรื่องเจ้าเรือนและหลักสมดุล ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยในการออกแบบบริการ”

...

ที่ผ่านมาได้งบประมาณจากจ.ปราจีนบุรี และกลุ่มจังหวัดอบรมให้ผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เองในสปา การออกแบบระบบการบริการและอาหารสุขภาพ และติดตามผลการใช้ รวมทั้งการส่งเสริมการตลาด และในอนาคตอภัยภูเบศร เดย์สปา จะนำภูมิปัญญาดั้งเดิมด้านสมุนไพร ตั้งแต่กัญชา กัญชง กระท่อม รวมถึงสมุนไพรอื่นๆ พร้อมกับวิธีการรักษาแบบพื้นบ้าน ที่ใช้ได้ผลดีและมีความปลอดภัย เช่น การย่างยา ย่างไฟ การฝังดิน มาใช้ให้มีความหลากหลาย เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และอนุรักษ์ไว้ซึ่งอัตลักษณ์การดูแลสุขภาพของคนไทย.

ผู้เขียน : ปูรณิมา