• โควิดยังไม่จบ และโลกกำลังเผชิญกับโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทำให้ทุกคนต้องใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ในการเสาะแสวงหาตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ก่อให้เกิดความนิยมในการบริโภคสมุนไพรไทย

  • ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสมุนไพร ได้รับอานิสงส์จากวิกฤติโควิด มาเป็นโอกาส โดยเฉพาะการปลดล็อกกัญชง กัญชา และเปิดเสรีใบกระท่อม ซึ่งภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ ในการพลิกเศรษฐกิจ

  • จากการนำวัตถุดิบเหล่านี้ มาทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาแผนโบราณ อาหารเสริม และเครื่องสำอาง โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ประเมินปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 ล้านบาท จากการพัฒนาสมุนไพรไทยและพืชทางเลือกภูมิปัญญาของไทย

อนาคตพืชเศรษฐกิจ 3 ก."กัญชา กัญชง กระท่อม"

หนทางความสำเร็จของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย หากจะเติบโตอย่างมีศักยภาพ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ต้องควบคู่กับการศึกษาวิจัย และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะอนาคตของพืชเศรษฐกิจ 3 ก. กัญชา กัญชง และกระท่อม หากไทยทำได้จะสร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล นำรายได้ให้กับประเทศ

...

เช่นเดียวกับแนวคิดของ "สุรชาติ ประชาพิทักษ์" นายกสมาคมนวัตกรรมสมุนไพรไทย ชี้ให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด ได้เห็นความตื่นตัวของคนไทยในการใช้สมุนไพรมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากรอยาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและใช้เวลานานกว่ามาถึงไทย คงไม่ทันการณ์ ทำให้พืชสมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาไทยๆ ผ่านการถ่ายทอดมาจากปู่ย่าตายาย จนกลายมาเป็นตำรับยา ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกในการป้องกัน ทั้งฟ้าทะลายโจร ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และกระชายขาว มีฤทธิ์ต้านไวรัส จากงานวิจัยที่เชือถือได้

สุรชาติ ประชาพิทักษ์ นายกสมาคมนวัตกรรมสมุนไพรไทย
สุรชาติ ประชาพิทักษ์ นายกสมาคมนวัตกรรมสมุนไพรไทย

เมื่อสรรพคุณและประโยชน์ของสมุนไพรไทยมีมากมาย จากการต่อยอดด้วยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าวิจัย ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมากในกลุ่มเกษตรกร และอุตสาหกรรมในพื้นที่รอบๆ ปริมณฑล เช่น ปทุมธานี มีการปลูกพืชสมุนไพรจำนวนมาก ส่งขายโรงงาน และมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง หันมาวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรกันมากขึ้น

“ไม่ใช่เฉพาะฟ้าทะลายโจรเท่านั้น เพราะประเทศไทยมีตำรับยาตามแบบแพทย์แผนไทย นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยพืชสมุนไพรอื่นๆ และต้องรู้จักวิธีกินไม่ให้เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น ฟ้าทะลายโจร กินนานๆติดต่อกันไม่ดี เพราะเป็นยาเย็น ควรกินไม่เกิน 7 วัน และยังทำให้ต่างประเทศที่ใช้ยาที่สังเคราะห์มาจากสารเคมี หันมาสนใจสมุนไพรที่ไม่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง เช่น กัญชา สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้นอนหลับง่ายและหลับนานขึ้น”

ปรากฏการณ์สมุนไพรไทย โตแบบก้าวกระโดด

อีกปรากฏการณ์ได้ทำให้สมุนไพรไทย เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อมีการปลดล็อกพืชยาเสพติดประเภท 5 ทำให้เกิดการวิจัยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกัญชา มีคุณสมบัติในการเสริมฤทธิ์สมุนไพรตามตำรับยา เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพร 3 ก. ซึ่งมีกัญชง และกระท่อม จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับไทย พร้อมสรรพคุณและประโยชน์มากมาย

สรรพคุณของกัญชง นอกจากออกฤทธิ์ลดอาการเจ็บปวด ยังนำเส้นใยไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และก่อสร้าง จากการใช้นวัตกรรมสกัดเส้นใยกัญชง มาทำเป็นวัสดุทดแทนกราฟิน นำมาทำแบตเตอรี่ไฟฟ้า เสื้อกันกระสุน ทำพลาสติกแทนพอลิเมอร์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างยานยนต์ ซึ่งไทยมีการวิจัยในเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่กัญชง สามารถทำเป็นวัตถุดิบใช้แทนโลหะได้มากที่สุดในการสร้างรายได้มหาศาล

...

ขณะที่กระท่อม แม้มีการให้ปลูกอย่างเสรี แต่หาแปลงปลูกขนาดใหญ่ค่อนข้างยาก เพราะเพิ่งปลดล็อก และกินใบสดได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม หรืออาหาร ตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 คาดว่ากระทรวงสาธารณสุข จะแก้กฎหมายประมาณปลายปีนี้ เพื่อให้สามารถนำกระท่อมมาแปรรูปเป็นผงและของเหลวได้

“การกินกระท่อม ต้องมีข้อกำหนดห้ามกินเกินกี่โดส ส่วนคนท้อง และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ห้ามกิน ห้ามขายในสถานศึกษา สวนสาธารณะ สวนสนุก เพราะมีสารเสพติด หากกินในปริมาณมาก จะส่งผลต่อจิตประสาท แต่หากมีการทำนวัตกรรมเกี่ยวกับพืช 3 ก. ควรทำให้ได้มากสุด เพื่อมาเสริมร่วมกับสมุนไพรไทยตัวอื่นๆ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม”

วางยุทธศาสตร์ "ปทุมธานี เมืองหลวงกระท่อมโลก"

นำมาสู่แนวคิดในการเปิดศูนย์เรียนรู้ต้นกระท่อม ควบคู่กับพืชสมุนไพรอื่น เนื่องจากกระท่อมเป็นพืชยืนต้นใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อให้ได้สารสกัดจากใบนำไปแปรรูป เพราะฉะนั้นจะต้องปลูกพืชสมุนไพรล้มลุก เช่น หญ้ารีแพร์ ขมิ้นชัน เถาวัลย์เปรียง ว่านชักมดลูก ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรใช้กับผู้หญิง โดยจะมีโมเดลในการปลูกร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เพื่อทำการวิจัย และยังติดต่อมหาวิทยาลัยชิบะของญี่ปุ่น ในการศึกษาหาสารไมทราไจนีน ซึ่งเป็นสารระงับปวด เพื่อมาทดแทนมอร์ฟีน โดยจะสร้างมูลค่าตลาดมหาศาลประมาณ 5 แสนล้านบาท

...

สิ่งสำคัญในการก้าวไปสู่จุดนั้น ต้องรอกระท่อมสายพันธุ์ดีๆ พร้อมจะตั้งยุทธศาสตร์ "ปทุมธานี เมืองหลวงกระท่อมโลก" เพื่อแข่งกับอินโดนีเซีย ประเทศส่งออกกระท่อมอันดับหนึ่ง มีการแปรรูปบดเป็นผงสำเร็จรูป อ้างอิงสายพันธุ์ที่ดีที่สุดของไทยทั้งก้านแดง และแมงดา โดยมีตลาดหลักในสหรัฐฯ หากไทยสามารถทำได้จะสร้างมูลค่ามหาศาล เพราะไทยมีสายพันธุ์กระท่อมหนึ่งเดียวในโลกและเด่นที่สุด

นอกจากนี้ยังมีประเทศออสเตรีย และเยอรมนี ให้ความสนใจ ซึ่งอยากให้ประเทศที่มีเงินทุนมาช่วยอุดหนุนในการพัฒนาแปลงปลูกกระท่อมให้ได้มาตรฐาน ต้องเริ่มจากดินไม่มีสารโลหะและสารเคมีปนเปื้อน และน้ำต้องสะอาด มีใบเซอร์ติฟิเคทรับรอง เพื่อนำกระท่อมไปทำยา ส่วนเรื่องตลาดรองรับไม่มีปัญหา ยกเว้นเรื่องดินที่ปลูกต้องสะอาด ทำแบบออร์แกนิกเช่นเดียวกับกัญชา

“กระท่อมชอบความชื้นมาก เหมาะกับการปลูกในปทุมธานี เพราะมีน้ำตลอด ยิ่งชื้นยิ่งแฉะยิ่งดี หากนำแปลงนาข้าวมาปลูกกระท่อมก็ยิ่งดี ในช่วงราคาข้าวตกต่ำ เพราะมีโรงงานรองรับหลายโรงมาก และถ้าอยากให้โอกาสกระท่อมสดใส ต้องมีการค้นคว้าวิจัยในการแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มชูกำลังให้ร่างกายสดชื่น เฉพาะมูลค่าเครื่องดื่มหลายแสนล้านบาท และขณะนี้วัตถุดิบไม่เพียงพอ ไม่มีแปลงปลูกขนาดใหญ่ทำเชิงพาณิชย์ ก็ต้องเริ่มทำในระดับโอทอปไปก่อน เช่น เฉาก๊วยกระท่อม ชาเปลือกกระท่อม”

...

หวังนวัตกรรมพืชกระท่อม สกัดสารแก้ปวด ทำแบตเตอรี่

สำหรับสนนราคาใบกระท่อมในตลาดไท อยู่ที่ขีดละ 40 บาท ส่วนริมถนน ขีดละ 60-80 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพความสวยของใบ ซึ่งภายหลังเปิดเสรีมีแนวโน้มราคาสูง เพราะผลผลิตยังน้อย แต่หากในอนาคตมีผลผลิตออกมามาก คาดว่าราคาจะอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 100-200 บาท หรือไม่น่าจะเกิน 150 บาท ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมกับการเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในการสกัดสารไมทราไจนีนจากใบกระท่อม ช่วยบรรเทาอาการปวด จะมาทดแทนการนำเข้ามอร์ฟีน

ในอนาคตคาดหวังการสนับสนุนจากภาครัฐให้มากกว่านี้ โดยธ.ก.ส.เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อพืชเศรษฐกิจใหม่ หากปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นยังยากจน ให้หันมาปลูกกระท่อม และต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่ให้เกษตรกรเป็นหนี้ ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ สู่การแปรรูปทำอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการนำเส้นใยกัญชง มาทำแบตเตอรี่ ซึ่งดีกว่าลิเทียมไอออน จึงควรทำอย่างไรให้มีนวัตกรรมที่ดีเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ และเป็นกรีนอีโคโนมี

สรุปแล้วไทยต้องใจกว้างในการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อตั้งศูนย์วิจัย และเชื่อว่าหลายสถาบันการศึกษาในไทย มีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ในการจับมือร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรืออาจร่วมกับอาเซียนในการพัฒนาสายพันธุ์ของอาเซียน ทั้งกระท่อม กัญชง และกัญชา อย่างในต่างประเทศมีการทำโรงเรียนวิจัยในการพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง

“อยากชวนกันมาวิจัย โดยเฉพาะกระท่อมเป็นพืชที่แข็งแรง แค่มีแผ่นดินปลูกพร้อมกับการลงทุน ก็ไปได้อย่างสดใส อยู่ตรงไหนปลูกได้หมด ขอให้พื้นที่มีความชื้นและมีอากาศอบอุ่นก็พอแล้ว”.

ผู้เขียน : ปูรณิมา