ในห้วงส่งท้ายปี 2564 ที่หลายๆ ประเทศกำลังเตรียมเดินหน้าค่อยๆ ฟื้นฟูร่างกายจากความทุกข์ทรมานที่ต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ความท้อแท้สิ้นหวัง หดหู่ กับวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่มีตัวชักนำอย่างสายพันธุ์เดลตา จนเริ่มกลับมายิ้มกันได้ และใช้ชีวิตปกติเหมือนเช่นวันวาน หลังเดินเครื่องเปิดประเทศกันมาได้สักพัก แต่แล้ว... ทุกอย่างก็เหมือนจะถูกสั่นคลอน!
เมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" (Omicron) อุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้ ท่ามกลางความหวาดระแวงต่างๆ นานา ว่านี่อาจกลายเป็นความน่ากลัวครั้งใหม่ที่จะทุบทำลายเศรษฐกิจโลกให้ย่อยยับไม่ต่างจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะขณะนี้ก็พบ "ผลพวง" ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างทันทีทันใด
ย้อนกลับไปช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรายงานเป็นครั้งแรกว่า เจ้าโอมิครอนนี้ได้อุบัติขึ้นแล้ว โดยพบทางตอนใต้ของแอฟริกา แล้วเพียงไม่นานจากนั้น... โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ก็แพร่กระจายไปทั่วทุกทิศทุกทางอย่างรวดเร็วชนิดที่ใครๆ ก็ยังไม่ตั้งตัว ว่ากันว่าเริ่มจากแอฟริกานำไปสู่แปซิฟิก และจากยุโรปนำไปสู่แคนาดา
...
ซึ่งภาพที่ปรากฏขึ้นนั้น...แทบจะตรงกับคำประเมินของผู้เชี่ยวชาญที่เคยให้ไว้ก่อนที่จะเกิดการอุบัติของโอมิครอนเพียงไม่กี่วัน และนั่นก็เป็นเพียง "ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด" ของโลกเรา ณ เวลานี้
เนื้อความการประเมินระบุว่า...
จากการอุบัติใหม่ของไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุดล้วนทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยเป็น "ไข้หวัด" ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ที่พวกเราเรียกกันจนชินปาก น่าจะจบลงใน "ตัวที่ 5" หรือการอุบัติของสายพันธุ์ใหม่อีกครั้งต่อจากสายพันธุ์เดลตา
และในเวลานี้ก็เกิดขึ้นแล้ว... กับการอุบัติของ "โอมิครอน"
หากพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วของไวรัส 4 สายพันธุ์ก่อนหน้า ก็พอจะประมาณได้ว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์นั้นมีการพัฒนาความอันตรายอย่างไร และการฉีดวัคซีนที่กำลังเร่งมือดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบันจะสามารถต้านทานพวกมันได้แค่ไหนด้วย
แต่แม้ว่า ฉากทัศน์ ณ เวลานี้ จะเหมือนน่าพึงพอใจในทางความรู้สึก แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็เตรียมปรับทบทวนการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ให้ลดลงจากเดิมแล้ว
อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็มองว่า เศรษฐกิจในปีหน้า (2565) จะเติบโตอยู่ที่ 4.9% และยังคงยืนกรานว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ จะยังเป็นปัจจัยคุกคามหลักอยู่เช่นเดิม
"เอริค ลุนธ์" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ The Conference Board ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 อย่างตรงไปตรงมา
โดยระบุว่า ณ เวลานี้ อาจจะยังน่าเสียดายที่ไม่อาจประมาณการณ์ฉากทัศน์ใดๆ ได้เช่นเจนมากนัก ส่วนตัวยังคงคิดว่า เร็วเกินไปเสียด้วยซ้ำกับการที่จะมาบอกว่า เจ้าโอมิครอน (Omicron) ที่กำลังอุบัติขึ้นในหลากหลายประเทศจะมีผลกระทบอะไรบ้างต่อเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกัน... ก็อย่างที่เห็น มีบางอย่างเกิดการหยุดชะงักขึ้นแล้วแบบทันทีทันใด โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศที่เกิดการหยุดชะงักบางส่วนแล้ว
แองโกลา : ประกาศเมื่อวันเสาร์ 27 พฤศจิกายน ว่า จะปิดชายแดนที่เชื่อมต่อกับ 7 ประเทศทางตอนใต้แอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แทนซาเนีย และซิมบับเว อันเป็นความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดโอมิครอน โดยจะปิดจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2565
อาร์เจนตินา : ผู้โดยสารที่เข้าสู่อาร์เจนตินาจากทุกพื้นที่ที่ในทวีปแอฟริกาภายใน 14 วันก่อนเดินทางเข้าประเทศ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกักตัว 14 วัน โดยต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์และมีผลตรวจ PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เมื่อมาถึงอาร์เจนตินา ต้องทดสอบ ATK สำหรับนักเดินทางที่ไม่ใช่พลเมืองหรือพำนักในอาร์เจนตินาจะต้องแสดงหลักฐานประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด-19
ออสเตรเลีย : ยกเลิกเที่ยวบินขาเข้า-ขาออกไปบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย เซเชลส์ แอฟริกาใต้ และซิมบับเว อย่างน้อย 14 วัน และห้ามชาวต่างชาติที่มีประวัติเดินทางไปประเทศเหล่านั้นภายใน 2 สัปดาห์ก่อนเข้าประเทศออสเตรเลีย สำหรับกฎการกักตัวจะยังคงมีบางคนที่ได้รับอนุญาต อาทิ พลเมืองออสเตรเลียที่มีวีซ่าการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ แต่ชาวต่างชาติต้องกักตัวในโรงแรม 14 วัน บางพื้นที่อนุญาตให้กักตัวที่บ้านได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละรัฐ
...
บราซิล : ปิดชายแดนแอฟริกาใต้ บอตสวานา สวาตินี เลโซโท นามิเบีย และซิมบับเว
ชิลี : ห้ามเดินทางเข้าประเทศ หากคนๆ นั้นอยู่ในบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ในระยะเวลา 14 วัน สำหรับผู้พำนักชิลีต้องมีการทดสอบเชื้อเมื่อมาถึงและกักตัว 7 วัน
จีน : จำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด โดยยังไม่มีแผนดำเนินการสำคัญในการรับมือกับโอมิครอน
เยอรมนี, ฝรั่งเศส : ยกเลิกชั่วคราวสำหรับทุกเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้ เลโซโท บอตสวานา ซิมบับเว โมซัมบิก นามิเบีย และเอสวาตินี
"นั่นเป็นความจำเป็นที่พวกเขาต้องทำ การควบคุมการปรากฏตัวของไวรัสร้ายโอมิครอน เพื่อจัดเตรียมวิธีการรับมือที่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยคำเตือนต่างๆ มากมาย แถมยังไม่รู้ด้วยว่า พวกมันจะอยู่ไปยาวนานแค่ไหน"
"ลุนธ์" เชื่อว่า พวกเราทั้งหลายจำเป็นต้องรอและคอยเฝ้าดูว่า นักวิทยาศาสตร์จะบอกอะไรกับเราได้บ้างเกี่ยวกับความอันตรายต่างๆ นานาของสายพันธุ์โอมิครอน เช่น ว่า มันอันตรายถึงตายมากกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่? หรือมันแพร่กระจายได้เร็วแค่ไหน? กระทั่งวัคซีนยังคงได้ผลดีอยู่ไหม? ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นคำถามที่มีความสำคัญมากๆ ที่จำเป็นต้องได้รับคำตอบก่อนที่รัฐบาลและเอกชนจะตัดสินใจหาการรับมือที่เหมาะสมออกมา
เรากำลังย้อนกลับไปสู่วังวนเดิมของการโดดเดี่ยวตัวเอง?
...
"ลุนธ์" มองว่า นอกจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะงัดออกมาใช้ควบคุมสายพันธุ์ใหม่ ยิ่งกว่านั้นคือ ความกลัวการติดเชื้อของประชากรทั่วโลกอาจนำไปสู่การจำกัดการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มาจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น การออกไปนั่งรับประทานอาหารในร้าน หรือลดการบริโภคสินค้าต่างๆ ลง เพราะต้องระวังเงินในกระเป๋า นั่นย่อมส่งผลสะท้อนที่อาจกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อีกด้านหนึ่งก็พบความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อาจเกิดอาการกำเริบของภาวะวิกฤติซัพพลายเชนทั่วโลก (Supply Chain)
"การขนส่งสินค้าทางอากาศจำนวนมากที่ปกติจะกักเก็บใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร ดังนั้น หากมีการยกเลิกเที่ยวบิน ก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการจัดการสินค้าสำหรับเที่ยวบินโดยสารได้ และการดำเนินการของสายการบินจะมีความเสี่ยงอีกครั้งจากการจำกัดเส้นทางการค้า"
จุดๆ นั้นน่ากลัวแค่ไหน "ลุนธ์" มองว่า อาจย้อนกลับไปทำให้เกิดความกดดันจนกลายเป็นภาวะเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะสินค้าขาดแคลน
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประธานเฟด (FED) เจโรม พาเวลล์ ได้ออกมาเตือนด้วยตัวเองว่า โอมิครอนมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา รวมถึงจีนและสหภาพยุโรปด้วย เพราะต่างเป็นหนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยกันทั้งนั้น
แม้ว่าวันเดียวกันประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะออกมาบอกว่า สถานการณ์ของโอมิครอนยังไม่มีเหตุผลที่จะหวั่นวิตกก็ตาม
...
อีกทั้งบรรดาผู้ผลิตวัคซีนอย่าง แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือโนวาแวกซ์ ต่างก็เร่งสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอนนี้
ซีอีโอไฟเซอร์ อัลเบิร์ต บูร์ลา ย้อนว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผู้ผลิตยาจะรับรู้ดีว่า อะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการรู้มากที่สุดเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่นี้
และนั่นก็ขึ้นอยู่กับ "นักวิทยาศาสตร์" ที่จำเป็นต้องแบกภาระในการเร่งมือสืบเสาะหาตัวตนและความสามารถของโอมิครอนให้เร็วที่สุด
"ที่กล่าวมานั้น... ความแน่นอน คือ มีความเป็นไปได้ที่โอมิครอนจะทำให้เศรษฐกิจโลกแตกละเอียด หากมีการล็อกดาวน์ครั้งใหม่แบบจริงจังเข้มงวดเกิดขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับการจำกัดการเดินทางขยายวงกว้าง และก่อเกิดความสับสนในบรรดาแรงงานมากมายทั่วโลก รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากผู้บริโภคด้วย นั่นจึงเป็นศักยภาพที่เศรษฐกิจจะเสียหายเป็นวงกว้าง"
"ลุนธ์" ยอมรับกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ในตอนสุดท้ายว่า เสียใจ...ที่ไม่สามารถสรุปขั้นสุดท้ายได้อย่างชัดเจน เพราะความคลุมเครือของความสามารถเจ้าโอมิครอน หรือประสิทธิภาพในการรับมือของรัฐบาลต่างๆ ดังนั้นมันจึงเร็วเกินไปนักที่จะให้ความเห็นแบบฟันธงชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากไวรัสร้ายสายพันธุ์ที่ 5 โอมิครอนนี้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- อัปเดต "โอไมครอน" (Omicron) กับ 3 ข้อมูลสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์โลกรอคอย
- รู้จัก "โอไมครอน" (Omicron) จากรายงานของ WHO
- "โอไมครอน" (Omicron) แพร่เร็ว ยังโจมตีปอด ปีหน้าได้วัคซีน ห่วง 20 ล้านคนเข็มไม่ถึงแขน
- "คริปโต" กับเบื้องหลังที่น่ากังวล ใช้พลังงานมหาศาล สุมขยะอิเล็กทรอนิกส์
- คลัสเตอร์ ติดเชื้อพุ่ง เมื่อโควิด-19 ไม่หายไป ก็ต้องทำให้ผลกระทบลดลง