สร้างความวิตกไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย สำหรับโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุด "โอมิครอน" (Omicron) เนื่องจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งไวรัส SARS-CoV-2: B.1.1.529 พบครั้งแรกจากประเทศแอฟริกาใต้ และเวลานี้กำลังลามไปหลายประเทศ อาทิ เบลเยียม บอตสวานา เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และล่าสุดอังกฤษ

ป้องกันแบบเดิม ตั้งการ์ดให้สูงขึ้น ป้องกัน "โอมิครอน" 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ รพ.วิชัยยุทธ พูดถึงไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ล่าสุดที่ทำให้ทั่วโลกหวาดผวา ว่า สิ่งต้องเร่งทำในเวลานี้ อาจจะไม่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน หากใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็ต้องรีบไปฉีด ส่วนใครที่ยังฉีดไม่ครบโดส ก็ต้องเร่งไปฉีดให้ครบ ส่วนคนที่ครบแล้ว เว้นระยะห่างแล้วก็รีบไปบูสต์เข็ม 3 และสิ่งสำคัญคือการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด เป็นไปได้ก็หลีกเลี่ยงเดินทางไปที่แออัด หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง

"ถึงแม้ว่าเราจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็มีโอกาสที่จะป่วย ส่วนคนที่เคยป่วยเป็นโควิดแล้วก็อาจจะเป็นซ้ำก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องเร่งไปฉีดเพิ่มบูสต์อีก 1 เข็ม ณ ปัจจุบันนี้เรายังมีข้อมูลไวรัส "โอมิครอน" ไม่มาก แต่จากข้อมูลเชื่อว่ามันมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีโอกาสหลบหลีกได้มากกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ แม้กระทั่งสายพันธุ์เดลตา โดยมีข่าวว่ามันแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดลตาด้วย...น่ากลัว" คุณหมอมนูญ กล่าว

...

วัคซีนทุกชนิดในเวลานี้ ประสิทธิภาพลดลง

คำว่า "กังวล" ที่ WHO ระบุ กังวลส่วนไหนเป็นพิเศษ นพ.มนูญ กล่าวว่า เรื่องการหลบหลีกภูมิคุ้มกันก็อย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะหลบหลีกเรื่องการรักษาด้วยหรือไม่ เพราะเวลารักษาเราจะให้ "โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ที่จะไปจับปุ่มหนาม หากมันหลบหลีกได้ โมโนโคลนอลแอนติบอดี จะมีประสิทธิภาพลดลง แต่เชื่อว่า ยาต้านไวรัสตัวใหม่ๆ ที่กำลังจะออกมา อาจจะได้ผล..

"เชื่อว่าวัคซีนที่เราผลิตมาแล้ว จะมีประสิทธิภาพด้อยลง เมื่อเจอไวรัสตัวนี้ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่เริ่มผลิต เราตั้งต้นจากสายพันธุ์ "อู่ฮั่น" เมื่อปี 2019 แต่ตอนนี้ 2021 แล้ว อีกทั้งยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ"

เมื่อถามว่า มีรายงานว่า ไวรัสโควิด สายพันธุ์ "โอมิครอน" เอง ถือเป็นการกลายพันธุ์จากเชื้อแรกเริ่มตั้งแต่อู่ฮั่น วัคซีนชนิดที่ผลิตจากเชื้อตาย พอจะช่วยได้หรือไม่ นพ.มนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าประสิทธิภาพอาจจะลดลงมากขึ้นอีก ขนาดเดลตา มันยังสู้ไม่ค่อยได้ มาเจอโอมิครอน อาจจะหนักเลย และวัคซีนทุกตัวในเวลานี้ประสิทธิภาพคงลดลงทั้งหมด

ยังไม่รู้ความรุนแรง เหตุคนป่วยเวลานี้เป็นวัยรุ่น  

เมื่อถามว่า ถึงเวลานี้ มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงของอาการจากไวรัสโอมิครอน หรือยัง นพ.มนูญ เผยว่า ยังไม่มีรายงานมากนัก สาเหตุเพราะผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ในแอฟริกาใต้ ส่วนมากจะเป็นวัยรุ่น คนอายุน้อย อาการจึงไม่ค่อยแสดงออกมามากนัก คนที่ติดจึงยังไม่ค่อยแสดงอาการ หรือถูกนำส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาล

"แต่หากเชื้อไวรัสโอมิครอน แพร่กระจายไปยังกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุเมื่อไหร่ก็ไม่แน่ อาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเป้าหมายการโจมตีของไวรัส น่าจะมาที่ปอด เหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่สิ่งที่กังวลคือการกลายพันธุ์ที่หนามแหลม หรือ สไปรท์โปรตีนกว่า 30 ตำแหน่ง การกลายพันธุ์เยอะๆ จะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน อาจจะไม่ดีอย่างเดิม"

กังวลเกิดการระบาด ระลอกที่ 4 คาดวัคซีน "โอมิครอน" เร็วสุดผลิตได้กลางปีหน้า 

ตอนนี้ผู้คนเริ่มหวาดวิตกว่า อาจจะเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 นพ.มนูญ ตอบว่า มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเชื้อไวรัสนี้อยู่กับเรามาจะ 2 ปีแล้ว และมันไม่มีทางหายไปไหน มันจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะคน และไม่มีทางสูญพันธุ์ เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่ไม่หายไปไหน

...

สิ่งที่มนุษยชาติจะต้องทำก็คือ การต่อสู้กับมัน หาวัคซีนที่ทรงประสิทธิภาพมาต่อสู้ ซึ่งการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ๆ จะต้องผลิตไว้เพื่อโควิด หลายๆ สายพันธุ์ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีตั้ง 4 แบบ 4 สายพันธุ์

แต่เราจะผลิตวัคซีนมาสู้กับโควิดที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ไหวหรือไม่ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจ เชื่อว่าเราสามารถผลิตวัคซีนออกมาได้ทันภายในกลางปีหน้า ก็น่าจะผลิตออกมาได้ เพราะกระบวนการผลิตเราไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ใหม่ สิ่งที่ยากคือการเริ่มต้นครั้งแรก พอเราเจอเปลี่ยนสายพันธุ์ก็จริง แต่เราไม่ได้เริ่มต้นใหม่ ไม่จำเป็นต้องทดลองกับคน ใช้ยาหลอก หรือ ยาจริง แบบนี้ไม่จำเป็นแล้ว

สิ่งที่ห่วงที่สุด คือ คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งมีถึง 11 ล้านคน รวมเด็กๆ ก็เกือบ 20 ล้านคน ถ้ามาเมื่อไหร่ก็อาจจะเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 ฉะนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งฉีดให้เร็วที่สุด ถ้ามีวัคซีนรุ่นใหม่เข้ามาก็มาฉีดอีก เพราะเราจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่กับมัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

...

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ