โควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน มีแนวโน้มจะแพร่กระจายไปทั่วโลกทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ของโปรตีนหนามในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากเทียบกับสายพันธุ์อื่น
หวังว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้อาการป่วยเล็กน้อย และวัคซีนในปัจจุบันใช้ได้ผล หากดื้อต่อภูมิคุ้มกันในกรณีเลวร้าย เพราะอันตรายของสายพันธุ์นี้ จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวหยุดชะงักซ้ำอีก หากต้องล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลายเป็นความวิตกกังวลในขณะนี้ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวรุนแรง
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของไทยจะต้องโดนแรงกระเพื่อมอย่างแน่นอน แม้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะยังไม่เข้ามา แต่ถ้ามีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ความเจ็บปวดในการเป็นอยู่ของผู้คนจะเพิ่มมากขึ้นและมากขึ้นอย่างสุดแสนสาหัสในปีหน้า เพราะหลายปัญหาจากเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังมานาน ก่อนโควิดจะเข้ามาเสียอีก
เป็นคำเตือนให้ชนชั้นกลางในไทย ได้เตรียมรับมือ จากการฉายภาพให้เห็นของ "ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข" ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า หากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ระบาดในไทยจะเกิดผลกระทบแน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการคาดหวังกับการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งต่อให้ไม่มีประเด็นโควิดสายพันธุ์นี้ ยังมองไม่เห็นจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากอย่างที่คาดหวังเดือนละ 1 แสนกว่าคน หรือ 10 เดือน มีนักท่องเที่ยว 1.5 ล้านคน เพราะคนที่เดินทางเข้ามาไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นตัวเลขของคนเดินทางเข้ามาเท่านั้น
...
“โอมิครอน ยิ่งทำให้เกิดการระแวงในการเดินทาง ถามว่ามีอิมแพ็กหรือไม่ ก็มี เพราะยิ่งสร้างความกังวล และถามว่าจะระบาดรุนแรงหรือไม่ ก็อาจจะไม่ใช่ หรือหากระบาดจริงๆ จะใช้มาตรการแบบเดิมไม่ได้แล้ว และฟังจากรัฐมนตรีคลัง การที่เศรษฐกิจโตก็เกิดจากเงินของรัฐเข้ามาในระบบเป็นล้านๆ มีแนวโน้มต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น ส่วนการขยายเพดานหนี้จาก 30% เป็น 35% ในงบประมาณรายปี ไปจ่ายประกันรายได้ชาวนา ก็เป็นการประกันราคาไม่ต่างจากจำนำข้าว เป็นการผลาญเงินเหมือนกัน แม้ตอนนี้สถานะภาพเงินในระบบยังเพียงพออยู่ แต่ไม่ทราบว่าจะนานแค่ไหน”
ในกรณีเลวร้ายหากโอมิครอน เข้ามาในไทย จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไปอีก และช้ากว่าคนอื่น อย่างขณะนี้เวียดนามไปไกลกว่าไทย และการฟื้นตัวช้าของไทยมีนัยมาก นั่นหมายถึงจะมีคนจนเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 4 ล้านคน ขยับมาเป็น 9.6 ล้านคน ตามตัวเลขของธนาคารโลก หากคุมโอมิครอนไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทย จะทำให้เปิดประเทศไม่ได้ 100% และคนไม่อยู่ในอารมณ์ในการท่องเที่ยว
เมื่อคนกังวลไม่เดินทางยิ่งทำให้ไทยรับผลกระทบ เพราะรอแต่ให้คนเดินทางเข้ามา เมื่อคนไม่เข้ามาจะทำให้คนจนเพิ่มมากขึ้น และรัฐจะทนไหวหรือไม่ ในการแจกเงินต่อไป ทั้งโครงการคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน ต้องใช้เงินเพิ่มเติมลงไปอีก และจากที่กู้ไป 5 แสนล้าน ไม่ได้รวมอยู่ในนี้ เพราะต้องไปช่วยเอสเอ็มอี แต่หากเจอปัญหาไปต่อไม่ไหว กลายเป็นว่าเติมเงินเท่าไรก็ไม่พอ
ที่ผ่านมาเป็นปัญหาในเชิงนโยบายที่ไทยไม่เคยทำอย่างจริงจัง ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างงาน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งๆ ที่มีการเติบโต 2 หลักในหลายประเทศ ยกตัวอย่างจีน เศรษฐกิจฟื้นได้เพราะรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเวียดนาม แต่ไทยขายแต่รถยนต์สันดาป และไปเพิ่มภาษีรถยนต์ไฮบริด ในขณะที่น้ำมันราคาแพงมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมและแก้กฎหมายเอื้อให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
เพราะฉะนั้นแล้วการคาดการณ์จีดีพีปีหน้า จะโต 4% จะไม่มีทางเกิดขึ้น หรืออย่างแบงก์ชาติประเมินไว้ที่ 3% และหากไทยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะเห็นจีดีพีโต 3% เท่านี้ตลอดไป 20 ปี ทั้งๆ ที่โควิดเป็นตัวผลักดันให้ต้องทำอะไร แต่ไทยไม่ขยับในทิศทางที่จะพัฒนาขึ้น รอแต่การท่องเที่ยว ซึ่งต่อให้การท่องเที่ยวกลับมา ก็จะไม่เหมือนเดิมมีตัวเลขนักท่องเที่ยวปีละ 38-40 ล้านคน
...
“เพราะธุรกิจท่องเที่ยวไม่ปรับเปลี่ยน เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวไปเมืองหลักเลย แล้วเมืองรองจะไปอย่างไร และกิจการที่ป้องกันความสุ่มเสี่ยง แทบไม่มี จากนโยบายแบบผิวๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หากโอมิครอนระบาด คิดว่าจีดีพีปีหน้า โตไม่ถึง 1.5% โดยเฉพาะครึ่งปีหลังน่ากลัวมาก เพราะไตรมาส 1-2 ยังพอมีโมเมนตัม”
ปีหน้าครึ่งปีหลัง คนชั้นกลางเจ็บปวดหนัก หนี้เพิ่ม
สิ่งที่คนไทยจะต้องเผชิญในครึ่งปีหลังในปี 2565 เป็นห่วงคนชั้นกลางจะเจ็บปวดมากสุด จากเงินเฟ้อค่าครองชีพแพง และการเป็นหนี้เพิ่ม ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐฯ เงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะนำเม็ดเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน ให้คนมีรายได้ แต่เงินเฟ้อของไทย เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มี ไม่มีการใช้จ่าย เพราะคนไม่มีเงิน
สุดท้ายคนชั้นกลางค่อนประเทศที่ใช้เงินจากรัฐที่ยัดให้ ก็จะตายเพราะเงินเฟ้อ จากต้นทุนสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ราคาเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมันแพง ทำให้ไม่แปลกใจที่การนำเข้าขณะนี้สูงกว่าการส่งออก เป็นต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นจากวัตถุดิบที่นำเข้ามาในลอตใหม่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ส่งออกจะโต 14% ในปีหน้า และหากไปดูรายงานการส่งออกที่สอดไส้ มีแต่ส่งออกถุงมือ ส่วนส่งออกรถยนต์หายไปกว่าครึ่ง ถามว่าส่งออกจะโตได้อย่างไร
...
สถานการณ์เงินเฟ้อจะยังคงเป็นภาระของคนชั้นกลาง และทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ เพราะเราใช้น้ำมันราคาแพง และภาระหนี้สินจะเข้ามาซ้ำเติมคนในประเทศอย่างแน่นอน ทำให้คนเดือดร้อนมาก เพราะเงินไม่พอใช้ เมื่อไม่พอใช้ก็ต้องไปกู้ และเมื่อแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ก็ต้องไปกู้นอกระบบ โดยภาพเหล่านี้จะเห็นมากขึ้นในครึ่งปีหลังปี 2565 และไม่รู้ว่ารัฐจะแจกเงินไปอีกนานแค่ไหน หากกลัวคะแนนเสียงตก คงจะงัดเงินมาแจกอีก
“ปีหน้าจะเหนื่อยกันมากขึ้น และหากโอมิครอนเข้ามาจะยิ่งหนัก อยู่ที่ว่านโยบายรัฐจะมีประสิทธิภาพเพียงใด แม้บางคนอาจเชียร์ให้รัฐแจกเงิน แต่ควรทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยคนเป็นหนี้ คิดนโยบายให้ทันสมัย เช่น การเพิ่มงาน ให้คนนำเงินไปใช้หนี้ มีการเพิ่มชั่วโมงการทำงานเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน ให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน และหยุด 3 วัน ให้คนไปทำอาชีพเสริมหารายได้เพิ่ม และมาตรการเหล่านี้ใช้งบไม่มาก ดีกว่าแจกเงิน และการทำงาน 4 วัน เทียบกับ 5 วัน พบว่าประสิทธิภาพไม่ต่างกัน จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
เป็นข้อเสนอที่น่าจะดีกว่าการแจกเงิน แต่ไม่สามารถไปต่อยอดในการหาเงินเพิ่มได้ หรืออย่างน้อยหากจะแจกเงิน อาจเป็นในลักษณะค่าโอทีให้กับคนทำงาน ระบบทำงาน 4 วัน หยุด 3 ซึ่งสงสัยว่าที่ผ่านมาทำไมรัฐไม่ทำ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาให้กับคนชั้นกลาง ซึ่งปีหน้าจะอยู่ยากมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยปัญหาสังคมจำนวนมาก จากค่าครองชีพแพง และทำให้คนกินเงินเดือนเจ็บปวดอย่างแน่นอน.
...