อะไรคือข้อมูลสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังรอคอย หลังการปรากฏตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อย่างสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)

หากถามว่า แล้วเพราะอะไร "ข้อมูลสำคัญ" ที่ว่านี้จึงสำคัญนัก นั่นก็เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในอีก 1 ปีข้างหน้านับจากนี้เป็นต้นไปนั่นเอง!

3 ข้อมูลสำคัญที่ว่านี้ ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

     1. ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อเหนือกว่าสายพันธ์ุเดลตาหรือไม่? 

     2. ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน?

     3. จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?

แล้วทั้ง 3 ประเด็นที่ว่านี้ ปัจจุบันมีข้อมูลอัปเดตมากน้อยเพียงใดกันแล้ว หากเทียบกับข้อมูลล่าสุดที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีอยู่ ณ ปัจจุบันกัน

...

ข้อที่ 1 : ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอน?

จากรายงานล่าสุดของ WHO ที่อิงจากข้อมูลของกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 (Technical Advisory Group on SARS-CoV-2 Virus Evolution) หรือ TAG-VE อัปเดตวันที่ 28 พ.ย. 64 ระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่า "สายพันธุ์โอมิครอน" สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่า "สายพันธุ์ที่น่าเป็นกังวล" (Variant of Concern) หรือ VOC อีก 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ซึ่งปัจจุบันคือสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วที่สุดมากน้อยเพียงใด

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในโลกที่พบนั้น เบื้องต้นกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทางระบาดวิทยา ว่าเป็นเพราะเกิดจากสายพันธุ์โอมิครอน หรือมาจากเหตุปัจจัยอื่นๆ

*หมายเหตุ "สายพันธุ์เดลตา" มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา 55% และมากกว่าสายพันธุ์ที่ไม่ใช่กลุ่ม VOC ถึง 97%

ข้อที่ 2 : ผลกระทบด้านสุขภาพ?

TAG-VE ระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่าการติดเชื้อ "สายพันธุ์โอมิครอน" ทำให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์ในกลุ่ม VOC มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในเบื้องต้นชี้ให้เห็นถึงอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าผลการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแบบเฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ รายงานอาการป่วยของ "ผู้ติดเชื้อ" สายพันธุ์โอมิครอนเป็นคนแรก ซึ่งเป็นวัยรุ่นนักศึกษามหาวิทยาลัย พบว่ามีแนวโน้มว่ามีอาการป่วยเล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็ดี การศึกษาเรื่องระดับความรุนแรงของอาการป่วยหลังติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน จำเป็นต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์

ทั้งนี้ ไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเสมอ

ข้อที่ 3 : ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19?

...

TAG-VE ระบุว่า จากข้อมูลที่มีจนถึงขณะนี้ มีข้อบ่งชี้ว่า "อาจมีความเสี่ยงสูง" ที่สายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้สูงขึ้น (คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจติดเชื้อซ้ำได้ง่ายขึ้น) เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ในกลุ่ม VOC แต่เนื่องจากยังมีข้อมูลที่จำกัด จึงยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

โดยปัจจุบัน WHO ยังคงทำงานร่วมกับบรรดาพันธมิตรอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนต่อมาตรการการรับมือต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และวัคซีนต้านโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพต่อการลดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

ส่วนในด้านประสิทธิภาพการตรวจสอบการติดเชื้อ ณ ปัจจุบันนั้น TAG-VE ระบุว่า การทดสอบ PCR (Polymerase chain reaction) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ยังคงตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้เช่นเดียวกับสายพันธุ์อื่นๆ ในกลุ่ม VOC อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์โอมิครอนจะมีผลกระทบต่อการตรวจสอบประเภทอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะการตรวจสอบแบบ ATK (Antigen test Kit)

...

ขณะที่ประสิทธิภาพด้านการรักษา ณ ปัจจุบัน TAG-VE ระบุว่า ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งเป็นยาลดอาการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ และยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารชักนำการอักเสบอย่าง IL6 Receptor Blockers ยังคงมีประสิทธิภาพสำหรับในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับรุนแรง ส่วนการรักษาอื่นๆ ยังคงต้องได้รับการประเมินเพื่อทดสอบว่า ยังคงมีประสิทธิภาพเท่าเดิมกับ สายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่

สำหรับข้อแนะนำเพิ่มเติม เรื่องมาตรการในการรับมือสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศต่างๆ นั้น เนื่องจากปัจจุบัน "สายพันธุ์โอมิครอน" ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่ม VOC องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพต่อไป เพื่อลด "วัฏจักรโดยรวมของโรคโควิด-19" ทั้งหมด

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ณ เวลานี้ คือ จะต้องเร่งจัดการ "ความไม่เท่าเทียม" ในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อให้แน่ใจได้ว่า "กลุ่มเสี่ยง" และ "บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้สูงอายุ" ทั่วทุกมุมโลก จะได้รับวัคซีนครบสูตรควบคู่ไปกับการเข้าถึงการรักษาและการวินิจฉัยโรคที่ "เท่าเทียม" กัน

...

ข้อแนะนำเรื่องการปฏิบัติส่วนบุคคล?

สำหรับข้อปฏิบัติส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพที่สุด ณ เวลานี้ TAG-VE ยังคงแนะนำว่า เพื่อลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การรักษาระยะห่างทางกายภาพกับผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร การสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีผู้คนพลุกพล่าน การล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการเข้ารับการฉีดวัคซีน ยังคงเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

สำหรับข้อมูลโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ในกลุ่ม VOC เท่าที่มี ณ ปัจจุบัน

1. สายพันธุ์เดลตา (Delta)

B.1.617.2 หรือ "สายพันธุ์เดลตา" เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในโลกเวลานี้ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ แต่จนถึง ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรือไม่

โดยสายพันธุ์เดลตาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนาม (Spike protein) และสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ เป็นเหตุให้ผู้ที่เคยติดเชื้อจากสายพันธุ์เดิมแล้ว มีแนวโน้มว่าอาจจะติดเชื้อซ้ำได้อีก นอกจากนี้ยังสามารถหลบเลี่ยงจากการรักษาแบบ Monoclonal Antibody หรือแอนติบอดีที่สร้างขึ้นจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ถูกออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการ ซึ่งมีทั้งแบบผสม และ ไม่ผสม ได้อีกด้วย

2. สายพันธุ์อัลฟา (Alpha)

B.1.1.7 หรือ "สายพันธุ์อัลฟา" ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นก่อนหน้า "สายพันธุ์เดลตา" ถูกพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ก่อนแพร่กระจายไปทั่วประเทศและทั่วโลก อย่างไรก็ดีหลังการถือกำเนิดของสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบัน สายพันธุ์อัลฟา ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 50% จากการกลายพันธุ์ของยีนส์ทั้งสิ้น 23 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยหนึ่งในนั้น คือ ตำแหน่ง N501Y ที่ทำให้มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบัน สายพันธุ์อัลฟา เริ่มถูกพบการแพร่ระบาดน้อยลงมากในสหรัฐฯ ทำให้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ได้ลดระดับสายพันธุ์อัลฟาลงมาอยู่ในระดับสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การติดตาม (Variant Being Monitored) แล้ว

3. สายพันธุ์เบตา (Beta)

B.1.351 หรือ "สายพันธุ์เบตา" ถูกพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีการกลายพันธุ์ใน 2 ตำแหน่งสำคัญ คือ E484K และ N501Y ซึ่งช่วยให้สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน และแพร่เชื้อได้มากขึ้น โดยสายพันธุ์เบตา สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 50% และยังสามารถหลบเลี่ยงการรักษาด้วยวิธี Monoclonal Antibody ได้

นอกจากนี้ ผลการตรวจเลือดในโลกจริง ยังบ่งชี้ด้วยว่า "สายพันธุ์เบตา" สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วย!

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันบรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีนกระตุ้นเพื่อนำไปใช้กับสายพันธ์ุเบตาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงมากที่สุดว่าจะสามารถหลบเลี่ยงการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนที่มีในปัจจุบันได้ แม้ว่าอาจจะเกิดขึ้นในระดับหนึ่งได้ก็ตาม

4. สายพันธ์ุแกมมา (Gamma)

P.1 หรือ สายพันธุ์แกมมา ถูกพบครั้งแรกในประเทศบราซิล โดยมีการกลายพันธุ์ของยีนส์ทั้งสิ้นรวม 30 ตำแหน่ง และในจำนวนนั้นคือตำแหน่ง E484K และ N501Y ซึ่งช่วยในการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันและแพร่เชื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับการยืนยันแล้วว่า สามารถหลบเลี่ยงการรักษาด้วยวิธี Monoclonal Antibody ได้ ขณะเดียวกัน ผลการตรวจเลือดในโลกจริง ยังพบด้วยว่า สายพันธุ์แกมมา สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และที่เกิดจากวัคซีนได้บางส่วนด้วย

*หมายเหตุ: ข้อมูลที่อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลกนี้ อัปเดตสิ้นสุดวันที่ 29 พ.ย. 64

ข่าวน่าสนใจ: