• โควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" แพร่เร็วและระบาดแรง แผลงฤทธิ์เขย่าโลกให้อยู่สภาวะตื่นตระหนก หวาดกลัว
  • ปิดตาย 8 ประเทศเสี่ยงห้ามบินเข้าไทย หลังติดกันทั่วโลกกว่า 22 ประเทศ ไทยสั่งพร้อมวางแผนรับมือ เร่งฉีดวัคซีนสู้ไวรัสสายพันธุ์ร้าย
  • "กองทัพ" สั่ง "กรมแพทย์ทหารบก" ประเมิน เฝ้าระวัง ยึดมาตรการป้องกันกำลังพลพ้นภัยโควิด-19


ผวากันทั่วโลก เมื่อชะตากรรมมนุษย์ยังต้องเผชิญกับโควิด-19 ไปอีกนาน และเชื้อไวรัสตัวนี้จะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคน ที่จะต้องเรียนรู้ ปรับตัว ป้องกัน และเฝ้าระวัง ล่าสุดทำให้เกิดความน่าเกรงกลัวเข้าไปอีก เมื่อโควิดได้มีการกลายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า "โอมิครอน" โผล่ขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังจะผ่อนคลาย เพื่อต้อนรับปีใหม่

จนทำให้ทุกประเทศกลับมาสู่สภาวะตื่นตระหนก เกรงกลัว เพราะโควิดโอมิครอน ซึ่งมีชื่อรหัสทางพันธุกรรมว่า บี.1.1.529 ที่องค์การอนามัยโลก WHO ตั้งชื่อใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขาน มันกลับมาเขย่าโลกให้ตื่นกลัว ต้องเฝ้าระวังตัวกันอีกครั้ง

...

เพราะหลังจากนักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้พบเชื้อตัวนี้เป็นครั้งแรกที่จังหวัดโกเต็ง ในแอฟริกาใต้ เมื่อ 24 พ.ย. 64 ก่อนจะแจ้งเตือนต่อองค์การอนามัยโลกโดยทันที เนื่องจากเห็นได้ชัดว่านี่คือเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ไปจากเชื้อดั้งเดิมมากที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา

โดยไวรัสตัวนี้จะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต้องระวัง เพราะเชื้อสามารถแพร่ระบาดในอัตราเร็วที่สุด เร็วกว่าการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ทั้งหลายที่ผ่านมา เพราะการตรวจพบโอมิครอนเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการที่อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ของแอฟริกาใต้พุ่งสูงมากของประเทศ โดยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเรามากกว่า 10 ตำแหน่ง ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นภูมิจากวัคซีนแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน จมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี ไม่ค่อยมีไข้ แต่พบว่ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ ซึ่งอาการคล้ายกับสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าอาการจะรุนแรงกว่าหรือไม่

ขณะเดียวกันก็พบว่าได้มีการแพร่ระบายไปหลายประเทศ หลายทวีปแล้ว โดยมี ทวีปแอฟริกา : แอฟริกาใต้, บอตสวานา, มาลาวี, เอสวาตินี, โมซัมบิก, ซิมบับเว, เลโซโท และนามิเบีย ทวีปยุโรป : อิตาลี, อังกฤษ, เดนมาร์ก, เยอรมนี, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ทวีปเอเชีย : อิสราเอล ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนทวีปออสเตรเลีย : ออสเตรเลีย


หวั่นสถานการณ์เลวร้าย เกิดคลัสเตอร์ เตรียมแผนรับมือป้องกัน

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาย้ำเตือนการรับมือโรคอุบัติใหม่คือ การประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพื่อที่จะเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่เลวร้าย ก็ไม่เป็นไร เพราะโอมิครอนมีการยกระดับการแพร่กระจายได้เร็วในประเทศแถบแอฟริกาใต้ แม้ในประเทศที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วจากโครงสร้างที่มีการปรับเปลี่ยนในหลายท่อนของรหัสพันธุกรรม ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องยอมรับว่ามาตรการห้ามคนเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้ามาไทย ทำได้เพียงหน่วงเวลาที่โอมิครอนจะเข้ามาเท่านั้น

...

ในขณะที่ประเทศไทย แม้สถานการณ์ภาพรวมของโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นทั้งยอดผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต ลดลงมาก รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน และดูแลตัวเอง ป้องกัน เฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ จนทำให้หลายพื้นที่มีการป้องกัน ผนึกกำลัง ร่วมมือร่วมใจดูแลคนในชุมชนกันเอง

ปิดตาย 8 ปท.กลุ่มเสี่ยงเข้าไทย เชื่อฉีดวัคซีนป้องกันได้

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงมาตรการรับมือโควิด-19 "โอมิครอน" ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาแล้ว ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ยกเว้นคนไทยยังเดินทางกลับมาได้ แต่ต้องเข้าสู่ระบบกักตัว 14 วัน ส่วนประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาต้องเข้าระบบกักตัว 14 วันเช่นกัน

ส่วนคนเดินทางเข้าประเทศที่ก่อนหน้านี้ที่จะเปลี่ยนการตรวจหาเชื้อ เมื่อมาถึงประเทศไทยทันที จาก RT-PCR เป็น ATK ล่าสุด สั่งการให้กลับมาใช้วิธี RT-PCR จนถึงสิ้นปี แล้วค่อยมาพิจารณาอีกรอบ ถือว่าด่านอากาศเรามีมาตรการเข้มงวด ส่วนด่านบกก็ต้องเข้มงวดเช่นกัน อย่างที่จะนำร่องเปิดด่านหนองคาย วันที่ 16 ธ.ค. ก็ยังมีเวลาให้ติดตามสถานการณ์เชื้อโอมิครอน

...

"โควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีการติดเชื้อใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ราวๆ 2-3 วันจะดีขึ้น ยังไม่พบอาการรุนแรง ซึ่งการฉีดวัคซีน และวัคซีนที่มีการฉีดให้กับประชาชนสามารถป้องกันได้ รวมถึงเราต้องมีมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง"

กรมแพทย์ ทบ. ติดตามโอมิครอน กำชับประเมิน เฝ้าระวังให้กำลังพล

ขณะที่ฟากกองทัพ ได้ผุดมาตรการรับมือโควิดโอมิครอน โดย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. เผยว่า ศบค.19 ทบ. โดย กรมแพทย์ทหารบก ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทุกเรื่อง รวมทั้งสายพันธุ์ "โอมิครอน" อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินและให้คำแนะนำกับหน่วย กำลังพล พร้อมรองรับตามมาตรการของสาธารณสุข และที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ผบ.ทบ.ได้ย้ำให้หน่วยทหารกำกับดูแลให้กำลังพลและครอบครัวปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล ทั้งในส่วนการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน



"กองทัพให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรอง และประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ทุกคนที่ไม่มีข้อจำกัด ไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการรุนแรง ทั้งนี้ ทบ.มอบให้หน่วยทหารให้เฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงการฝึกทหารใหม่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด"

...

ทหารใหม่ต้องยึดมาตรการป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาลป้องกันโควิด

สำหรับการดูแลกำลังพล "กองทัพบก" ยังให้ความสำคัญต่อการ "หน่วยฝึกปลอดโรค เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ทหารใหม่ปลอดโรค" ซึ่งเป็นไปตามที่ "บิ๊กบี้" พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้ย้ำให้ทุกค่ายทหารที่รับ "ทหารใหม่" เข้าสู่หน่วยทหาร ต้องดำรงความเข้มงวดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญในช่วงการกักตัว 14 วัน ก่อนเข้ารับการฝึก ทหารใหม่ทุกนายจะต้องถูกดูแลเรื่องสภาพความเป็นอยู่ด้านกายภาพ

ทุกอย่างต้องดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องทำอย่างเคร่งครัด และย้ำทุกหน่วยต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยจะมีการตรวจคัดกรองโควิดด้วย ATK เป็นระยะ เพื่อสร้างความปลอดภัย และหากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง หรือผลตรวจเป็นบวก จะแยกเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทหาร ครอบครัว และหน่วย


กอ.รมน. หวั่น โอมิครอน แพร่มาจากแรงงาน เร่งแก้ปัญหาลักลอบเข้าเมือง

ด้าน พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร โฆษก กอ.รมน. ย้ำว่า กอ.รมน.มีนโยบายขับเคลื่อนเน้นย้ำการป้องกัน การเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล จึงสั่งการให้ กอ.รมน.ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เตรียมการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเป็นการบริหารจัดการแรงงานได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ โดยเฉพาะด่านตรวจคนเข้าเมือง และส่วนอื่นๆ จะต้องเข้มงวดมาตรการคัดกรองโควิด-19


ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะต้องบูรณาการความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเข้มงวดการเฝ้าระวัง สกัดกั้น และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนใน พร้อมขยายผลการกวาดล้างจับกุมให้ถึงขบวนการต้นตอ และหมั่นลงตรวจพื้นที่ชั้นในอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย

ขณะที่ในภาคเศรษฐกิจ ในหลายพื้นที่มีความต้องการแรงงานสูงถึงประมาณ 450,000 คน รัฐบาลจึงมีนโยบายการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ลาว เมียนมา และกัมพูชา มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ตามบันทึกข้อตกลง MOU ซึ่งเป็นกระบวนการนำเข้าอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ ธ.ค. 64 นี้


เน้นย้ำเฝ้าระวังพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะบุคคลที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

ในส่วนศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก ศบค.ส่วนหน้า เปิดเผยผลจากการเร่งรัดปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติ ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ ย้ำจากการเปิดประเทศ หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการทุกภาคส่วนเข้าดำเนินการในทุกมิติ ทั้งการรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีน การจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ATK และการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ (CCRT) ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุก และการเสียชีวิต ลดลงมาโดยลำดับ

นอกจากนี้ สำหรับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ผบ.ทบ.ได้เน้นย้ำเรื่องของการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีการสั่งการให้กองกำลังป้องกันชายแดนได้มีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้ดำเนินการสกัดกั้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน"นั้นเอง