จาก "ดิจิทัลวอลเล็ต" สู่ "แจกเงินสด" กูรูคาดหาเงินไม่ทัน ติดขั้นตอนกฎหมาย เร่งตัดภัยการเมือง ชี้ นี่ไม่ใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป

"ดิจิทัลวอลเล็ต" ยังคงเดินหน้าต่อไป หลังมีข่าวออกมาว่า โครงการนี้จะปรับเงื่อนไขแจกเงินให้กลุ่มเปราะบาง ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ในวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ตามที่สภาเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าน มาใช้แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะแจกเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ส่วนประชาชนกลุ่มอื่นยังไม่ได้พิจารณา

ท่ามกลางกระแสข่าวเปลี่ยนการแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินสด ทีมข่าวฯ ได้ต่อสายตรงถึง 'ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข' คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อชวนสนทนาและสอบถามความเห็นจากกรณีดังกล่าว

"การตัดสินใจแบบนี้ความหมายทางเศรษฐกิจแปลว่า 'กำลังเปลี่ยนนโยบาย' และเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายไปเลย" ผศ.ดร.สันติ เริ่มต้นกล่าวแสดงความคิดเห็น 

...

หาเงินไม่ทัน ติดกฎหมาย เปลี่ยนนโยบายตัดภัยการเมือง? :

ผศ.ดร.สันติ ชวนมองย้อนไปจุดเริ่มต้นของโครงการเรือธงพรรคเพื่อไทยว่า จากเดิมที่บอกว่าดิจิทัลวอลเล็ต เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และใช้คำว่า IGNITE Thailand (อิกไนต์ ไทยแลนด์) ต้องลงทุนหลายแสนล้านเพื่อสร้างอิมแพ็กต์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดเก่ามีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว

แต่เมื่อรัฐบาลพยายามดำเนินโครงการกลับเจอปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการหาเงิน เนื่องจากถ้าจะไปทำโครงการระดับ 4 แสนล้าน มันมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องเกี่ยวข้อง และมีเงื่อนไขอีกมากมายว่าจะกู้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้เขาถือโอกาสตัดตอน เพื่อลดภัยทางการเมือง

ตอนนี้จะเห็นได้ว่าเงินมาจาก 2 แหล่งเท่านั้นเอง คือ เงินที่จะเบิกจากงบประมาณปี 2567 ภายในเดือนกันยายน และอีกก้อนคืองบเพิ่มเติมของปี 2567 อีกประมาณ 1.22 แสนล้านที่เพิ่งผ่าน สว. 

"เงินที่ผ่านจาก สว. ประมาณ 1.22 แสนล้านบาท บวกกับเงินจากงบประมาณอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จะรวมได้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถเบิกจ่ายได้โดยไม่มีปัญหา แล้วเงินตรงนี้ปลอดภัยกว่า 4-5 แสนล้านที่คิดอยากทำตอนแรก"

อาจารย์สันติ แสดงความคิดเห็นว่า มีข่าวว่าจะแจกเงินที่ตัวเลข 5,000 บาท และแจกให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผมเดาวิธีคิดครั้งนี้ว่า ผู้ถือบัตรคนจนมีอยู่ประมาณ 14-15 ล้านคน ผมจำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเอาไปคูณเข้ากับเงิน 5,000 บาท ตัวเลขเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าล้าน ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณ 1.22 แสนล้านบาท นี่จึงเป็นวิธีที่ผมเดาว่าทำไมเขาแจกกลุ่มนี้ก่อน

ไม่ใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป : 

จาก "ความคิดเห็น" และ "การวิเคราะห์" ที่ ผศ.ดร.สันติ ได้กล่าวมานั้น ทำให้อาจารย์สรุปเบื้องต้นว่า เพราะฉะนั้น ความหมายตอนนี้มาตรการนี้ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว แต่กลายเป็นมาตรการช่วยเหลือคนเดือดร้อน

ดังนั้น มันไม่ต่างจากมาตรการที่รัฐบาลก่อนเคยทำ คือทำนโยบายออกมาเพื่อช่วยเหลือ แต่รัฐบาลจะหาเหตุผลอะไรมาแจ้งต่อประชาชนว่าทำไมถึงเลือกอย่างนี้ นั่นก็เป็นเหตุผลของเขา แต่โดยนัยผมคิดว่ามันเปลี่ยนไปเป็นมาตรการช่วยเหลือแล้ว

...

"ตอนนี้อยู่ที่ว่าเมื่อช่วยเหลือแล้วจะช่วยได้แค่ไหน จะมีผลอย่างไรในทางเศรษฐกิจ แต่การช่วยเหลือแบบนี้ ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ ฉะนั้นถ้าจะตัดสินใจทำแบบนี้จริงๆ ผมมองว่าเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างนโยบายด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และเงินที่จะใช้ไม่ได้มีผลต่อ GDP สักเท่าไรในไตรมาส 3 และ 4"

ผศ.ดร.สันติ กล่าวว่า เมื่อตอนนี้กลายเป็นนโยบายช่วยเหลือเราต้องถามต่อไปว่า แล้วมาตรการที่รัฐบาลบอกจะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตรงไหนและคืออะไร เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร 

ผลประโยชน์ซ้ำซ้อน คนไม่ใช้จ่ายขาดความเชื่อมั่น : 

ผศ.ดร.สันติ วิเคราะห์ต่อไปว่า ในอนาคตเขาจะแจกคนกลุ่มไหน ก็ต้องรอดูตอนปีงบประมาณ 2568 ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้อีกประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ถ้าเงินตรงนั้นออกมาแล้ว รัฐอาจจะจ่ายให้กลุ่มเปราะบางอีก 5,000 บาท เพื่อให้ครบ 10,000 บาทตามสัญญาก็ได้ 

เพราะถ้ารับมุ่งจ่ายคนกลุ่มใหม่ คงต้องมานั่งต่อสู้และชี้แจงอีกว่า ทำไมถึงยังแจกแบบนี้ นี่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นการช่วยเหลือเยียวยา

...

"ปัญหาของเศรษฐกิจบ้านเรามันแก้ไม่ได้ด้วยการกระตุ้น ไม่ใช่เพราะคนไม่อยากใช้เงิน แต่เขาไม่มีเงินให้ใช้ เพราะของมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าคนมีเงินแต่ไม่ใช้ แต่พวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นกับรายได้ในอนาคต จึงตัดสินใจว่าไม่ใช้ดีกว่า"

เมื่อเป็นแบบนั้น รัฐจะต้องกระตุ้นให้เขาใช้จ่าย และวิธีการกระตุ้นที่ดีก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เขา ว่าเขาจะไม่ตกงาน มีรายได้เหมือนเดิม ไม่หายไปไหน ซึ่งการแก้ไขสิ่งที่กล่าวมา ไม่สามารถทำได้ด้วยการแจกเงินให้คนกลุ่มเปราะบาง

ผศ.ดร.สันติ มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ยิ่งเน้นแจกเงินคนกลุ่มเปราะบาง จะยิ่งทำให้คนกลุ่มอื่นไม่กล้าใช้จ่าย เหตุผลประเด็นที่หนึ่งเพราะพวกเขาไม่ได้รับเงิน เหตุผลประเด็นที่สอง พวกเขาจะเกิดการตั้งคำถามว่า ในเมื่อนโยบายนี้ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วปีหน้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

อีกทั้งการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางซึ่งถือบัตรคนจน อาจเกิดการตั้งคำถามกลับว่า คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์ทับซ้อนซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะการถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ได้รับเงินและสิทธิบางประการอยู่แล้ว

...

"อีกอย่างตอนนี้มาบอกว่าจะแจกเงินสด แล้วที่เคยโปรโมตว่าต้องแจกเงินดิจิทัลเพราะเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่ให้คนไปซื้อของมึนเมา ไม่ซื้อโทรศัพท์ แต่เมื่อเป็นเงินสดรัฐจะคุมเขายังไง ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่ผมกล่าวมา จึงทำให้ผมคิดว่าเป้าหมายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกเปลี่ยนไปหมดเลย"

ไม่มี Policy objectives : 

อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ มองว่า แม้นโยบายจะเปลี่ยนไป แต่ในแง่ของการเมืองฝั่งรัฐบาลเขาคงจะพูดว่า "นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจทำ" แต่ถูกกดดันและบังคับด้วยวิธีต่างๆ จึงต้องทำแบบนี้ เช่น นายกฯ คนเก่าตั้งใจจะดันนโยบายนี้ แต่ถูกถอดถอนไปซะก่อนจึงไม่มีโอกาสได้ทำ  

"เขาอาจจะออกมาอ้างว่า ความจริงไม่ได้อยากทำแบบนี้ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่การเมืองยังไม่นิ่ง เขาจำเป็นต้องทำเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ เหล่านี้ผมมองว่าคือแนวทางที่เขาเตรียมไว้ใช้อธิบายในทางการเมือง เพราะทุกวันนี้ฐานเสียงเขาจะบอกตลอดว่า ไม่ใช่รัฐบาลไม่อยากทำ อยากทำแต่ทำไม่ได้ เพราะโดนใช้เครื่องมือต่างๆ ทางการเมือง"

เมื่อทุกอย่างมีทีท่าจะเป็นไปดังกระแสข่าว 'ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข' จึงแสดงทรรศนะว่า ถ้านโยบายเป็นแบบนี้ ผมมองว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีทิศทางชัดเจน ถ้าเขาหาเสียงตั้งแต่แรกแล้วบอกว่าจะกู้ แต่มีวิธีหาเงินมาคืนและอธิบาย มันก็ไม่มีปัญหาอะไร

จริงอยู่ว่าทางกฎหมายอาจมีปัญหามากมายที่ต้องผ่าน แต่ถ้าชี้แจงชัดเจน ผมคิดว่ามันยังดูมีเป้าหมายของนโยบาย แต่อันนี้มันเหมือนไม่มีเป้าหมาย นึกจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ภาษาวิชาการเรียกว่า ไม่มี Policy objectives (วัตถุประสงค์ของนโยบาย)

"การแจกเงินที่กำลังคิดจะทำ วัตถุประสงค์คืออะไรกันแน่ ถ้าบอกว่าจะช่วยคนเปราะบาง แล้วเงินตรงนี้จะช่วยได้เท่าไร ได้กี่เดือน ช่วยแล้วไปรอดไหม หรือไตรมาส 4 ต้องมาช่วยอีก มันเกิดคำถามขึ้นมากมายเพราะไม่มีอะไรชัดเจน"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :