เปิดมุมการศึกษาไทย เมื่อแรงบันดาลใจจากครูคนแรก และเสียงเพลง ทำให้ทิ้งชีวิตเมืองมุ่งกลับดอย สู่การค้นพบปัญหาการศึกษาบนพื้นที่สูง และเรื่องราวชีวิตผู้สอน ที่ถูกสะท้อนผ่านครูดอยรุ่นใหม่ แห่งบ้านขุนแม่เหว่ย จ.ตาก


"ผมหวังว่าถ้าบทสัมภาษณ์นี้ถูกเผยแพร่ คนจะเห็นพวกเรามากขึ้น การศึกษาบนดอยจะได้รับการพัฒนา"

-ธรรมรัตน์ อุดมรักพันธ์พง (ครูเด)-


จากการมุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อน 'การศึกษาไทย' ให้ดีขึ้น ทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พยายามแสวงหาบุคลากรทางการศึกษา ที่ถูกเปรียบว่าเป็น 'เรือจ้าง' มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน และสะท้อนแง่มุมของการศึกษาจาก 'ชีวิตและประสบการณ์จริง'

และแล้ว… ทีมข่าวฯ ก็ได้พบกับ จิตวิญญาณความเป็นครู ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ห่างจากถนนวิภาวี ที่ตั้งของไทยรัฐไปประมาณ 650 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายที่ชื่อ 'ธรรมรัตน์ อุดมรักพันธ์พง' หรือ 'ครูเด' ครูอัตราจ้าง ณ โรงเรียนบ้านแม่อมกิ ห้องเรียนสาขาบ้านขุนแม่เหว่ย ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต่อสายตรงถึงจังหวัดตาก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ แต่เป็นครั้งแรกที่ผู้ให้สัมภาษณ์ ต้องพยายามหาเวลาจากภาระงานที่มีอยู่ เพื่อสนทนากับเรา 

แม้จะยุ่งแค่ไหน แต่เขาก็อยากพูดคุย เพราะครูเดให้ความเชื่อมั่นและหวังว่า บทสนทนานี้จะเป็นเสมือนกระจกสะท้อนความจริงจากดอยสู่เมือง และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต

อีกหนึ่งหน้ากระดาษแห่งความจริง 'การศึกษาไทย' กำลังจะเริ่มต้นขึ้นนับจากนี้…

บทเพลงแห่งดอยสูง ชักจูงใจคืนสู่ดอย : 

'ธรรมรัตน์ อุดมรักพันธ์พง' จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ หลังจากสำเร็จตามที่มุ่งหวัง เขาได้เลือกที่จะทิ้งชีวิตในเมืองและมุ่งหน้ากลับสู่ดอย ด้วยความตั้งใจอันเต็มเปี่ยม ว่าจะกลับไปเป็น 'ครู'

ครูเด เล่าหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเป็น 'ครูดอย' ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เรียนจบ เขาได้ฟังบทเพลงหนึ่ง ของศิลปินดอย มีเนื้อความประมาณว่า "เราเป็นคนดอย พอเข้าไปศึกษาในเมือง เรามีเป้าหมาย กลับมาพัฒนาบนดอย"

นั่นจึงกลายเป็นลำนำแห่งท่วงทำนองที่ปลุก 'จิตวิญญาณครู' ในตัวชายคนนี้ขึ้นมา

"ตอนนี้ผมอายุ 26 ปี เป็นครูอัตราจ้างมาได้ 3 ปีแล้ว หลังจากเรียนจบก็กลับขึ้นมาเป็นครูดอยเลย เพราะได้ฟังเพลงที่บอกแล้วเกิดแรงบันดาลใจขึ้นอีกครั้ง ที่จริงก็มีโอกาสจะได้เข้าไปสอนในเมือง แต่ผมไม่อยากไปและเลือกที่จะมาอยู่ตรงนี้ ตอนแรกเคยเป็นครูที่ โรงเรียนบ้านแม่อมกิ ห้องเรียนสาขาบ้านซอแขระกลา แต่ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่ ห้องเรียนสาขาบ้านขุนแม่เหว่ย" ครูเด กล่าวกับเรา

...

ครูคนแรก แรงบันดาลใจทำให้อยากเป็นครู :

ไม่ใช่แค่เพียงบทเพลงจากดอยสูง แต่อีกสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ 'เด' อยากเป็น 'ครูเด' เกิดขึ้นเมื่อได้พบกับ 'ครูคนแรก' เพียงแต่ว่าบทเพลงนั้นได้ช่วยปลุกความตั้งใจนี้มาอีกครั้ง

"ครูคนแรก ผมชอบในทัศนคติของครูเขามาก เขาสอนเนื้อหาให้เราเข้าใจได้ โดยไม่ต้องเน้นเชิงวิชาการทั้งหมด แต่เขาอิงบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการเรียน ผมชอบมากเลย ผมจึงยึดแนวทางนั้นมาปรับใช้ ให้เข้ากับการสอนทุกวันนี้ 

เมื่อไรที่เราทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนได้ เรื่องวิชาการจะตามมาโดยอัตโนมัติ ผมดีใจและโชคดีที่เจอครูดี ครูทำให้ผมตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะเป็นครูตั้งแต่ตอนนั้น"

เรื่องราวแรงบันดาลใจในวัยเด็กของครูเดนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า 'ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน' เด็กมักจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่ และสภาพเป็นจริงโดยรอบอยู่เสมอ

ถือเป็นโชคดีของครูเด และโชคดีของนักเรียน โรงเรียนบ้านแม่อมกิ ห้องเรียนสาขาบ้านขุนแม่เหว่ย ที่ในอดีตนั้น 'ครูเด' ได้ 'ครูดี' ทำให้อยากเป็น 'ครูดอย' วันนี้เขาจึงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองแห่งการศึกษาไทย ที่จะพาอนาคตของชาติไปสู่สิ่งดีงาม

...

บทบาท 'ครูดอย' ของ 'ครูเด'

ต้องบอกก่อนว่า โรงเรียนบ้านแม่อมกิ ห้องเรียนสาขาบ้านขุนแม่เหว่ย จัดการเรียนการสอน ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตอนนี้มีครูอยู่ 2 คน เป็นหนึ่งในโรงเรียนลูกข่ายที่มี โรงเรียนบ้านแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นโรงเรียนแม่ ซึ่งผู้อำนวยการจะดำรงตำแหน่ง และประจำอยู่ที่นั่น

ทีมข่าวฯ สอบถามไปยังปลายสายว่า เป็นครูดอยต้องทำอะไรบ้าง?

ครูเด บอกกับเราว่า ภาระงานในภาพรวมของครูดอย ทำทุกอย่างตั้งแต่ 'ผู้อำนวยการ' ยัน 'ภารโรง' บางครั้งมีเอกสารที่ต้องส่ง เราก็ต้องขับรถจากดอยลงไปข้างล่าง สภาพความเป็นจริงของการเดินทางไม่สะดวกเท่าไร ยิ่งตอนฝนตกยิ่งลำบาก ส่วนจำนวนนักเรียนที่ผมสอนตอนนี้เหลือประมาณ 20 คน จาก 2 ปีก่อนที่มีประมาณ 40 คน 

นอกจากนั้นครูเดยังต้องทำอาหารให้เด็กๆ กินอีกด้วย แต่เด็กๆ มักจะมาคอยช่วยครูอยู่เสมอ ทำให้เขามองว่านี่เป็นเรื่องดี เพราะเด็กจะได้ซึมซับทักษะด้านนี้ไปในตัวโดยปริยาย

...

'การสื่อสาร' อุปสรรคแรกในการเรียนและการสอน : 

แน่นอนว่าการจะเป็นครูเพื่อพัฒนาเด็กสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเป็น 'ครูดอย' นั้น ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปใหญ่

ครูธรรมรัตน์ บอกกับเราว่า อุปสรรคเรื่องแรกของการสอน คือ 'ภาษา' เพราะว่าเรานำโครงสร้างหลักสูตรการสอน จากกระทรวงศึกษาธิการใช้สอนเด็ก ทำให้เด็กต้องได้ 'ภาษาไทยกลาง' ก่อน ถึงจะสามารถเรียนรู้ได้ แต่ติดอยู่ตรงที่พื้นเพของเด็กๆ จะมีบริบทภาษาถิ่นเยอะ การสอนจึงยากมากขึ้น เพราะอุปสรรคคือ 'การสื่อสาร'

กว่าจะสื่อสารได้ ถือว่าต้องใช้เวลาปรับตัวนานพอสมควร ก่อน ป.1 ครูจะปูพื้นฐานเรื่องพยัญชนะและตัวสระทั้งหมดให้ได้ และพยายามสอนประโยคที่ใช้สื่อสารเบื้องต้น เช่น กินข้าว, ไปไหนมา ฯลฯ เมื่อถึง ป.1 เด็กๆ จะเริ่มได้คำศัพท์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมา ก้าวสู่ ป.2 จะเริ่มใช้ภาษาคล่องขึ้น และ ป.3 ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนไปสู่การศึกษาในระดับต่อไปที่โรงเรียนอื่น 

"ผมสอนทุกวันนี้ ผมพยายามสื่อสารด้วยภาษาไทย แต่เด็กอาจจะไม่ค่อยกล้าพูดสักเท่าไร เพราะยังรู้สึกเขินอายอยู่ พวกเขาก็พยายามปรับตัวอยู่ตลอด แต่ก็ต้องใช้เวลา"

แล้วแบบนี้เด็กจะเรียนรู้เรื่องเหรอครับคุณครู?

"อาจจะมีรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องมาก แต่เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พยายามประคับประคองกันไป เราต้องอดทนและพยายามให้ดีที่สุด ใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารเพื่อให้เขาคุ้นชิน เพราะเมื่อไรที่เราหลุดและเผลอใช้บริบทของเด็ก (ภาษาถิ่น) เด็กก็จะซึมซับบริบทของตัวเอง" ครูเดกล่าว

'หลักสูตรการสอน' ที่ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ : 

'โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาไทย' ต้องอ้างอิงเนื้อหาและการสอนจากกระทรวงศึกษาธิการฯ แต่ในความเป็นจริงนั้น บริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้เหตุนี้เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำหรับเด็กดอย 

ครูเด กล่าวว่า บางครั้งพอเป็นหลักสูตรเดียว มันอาจจะใช้ได้ดีกับเด็กในเมือง แต่สำหรับเด็กในกลุ่มอื่นๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก มันจึงส่งให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเด็กไม่ได้หลักสูตรแกนกลาง การวัดผลสัมฤทธิ์จึงมีปัญหา ผลกระทบก็มาเกิดที่ครูด้วย กลายเป็นว่าครูทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ 

"ความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่าหาก 'หลักสูตรการศึกษา' อ้างอิงตามบริบทความเป็นจริงของพื้นที่ได้ เด็กจะเข้าใจและเข้าถึงการเรียนมากขึ้น อาจจะทำให้พวกเขาเห็นโอกาสทางการศึกษาในระดับต่อไป เพราะเขาเข้าใจในตัวตน เข้าใจในเนื้อหา สามารถเชื่อมโยงบริบทเข้ากับการศึกษาได้"

ครูเด แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ผมอยากให้เขตการศึกษา หรือใครก็ตามที่ออกนโยบายเกี่ยวกับการศึกษา มาลงพื้นที่ก่อนจะออกหลักสูตร เราต้องพยายามคิดให้เหมาะสมกับพวกเขา เพราะแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดที่ต่างกัน ผมเชื่อว่าถ้าทำกันได้ เราจะพัฒนาเด็กได้ดี

สื่อการสอนไม่เพียงพอ : 

อุปสรรคเรื่องต่อไป คือ อุปกรณ์และสื่อการสอน ค่อนข้างน้อย

ครูธรรมรัตน์ ให้ความเห็นว่า โรงเรียนเราจะได้รับสื่อการสอน และอุปกรณ์น้อยกว่าคนอื่น ที่อยู่ในเมือง หรือน้อยกว่าโรงเรียนแม่ เหตุผลอาจจะมาจากพวกเราอยู่ไกล และอีกส่วนน่าจะมาจากที่โรงเรียนลูกข่ายมีทั้งหมด 13 สาขา จึงทำให้การกระจายอาจจะไม่ทั่วถึง

แล้วครูเดได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เบื้องต้นอย่างไรบ้าง?

ปลายสายตอบเราว่า การสอนนั้นจำเป็นต้องอิงโครงสร้าง ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกธาธิการฯ แต่ด้วยบริบทและอุปกรณ์ที่อาจจะไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร ผมจึงพยายามใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามาผสานกับหลักสูตรกลางเท่าที่ทำได้

"ในชุมชนของเรามีปราชญ์ชาวบ้านอยู่หลายคน แต่ละคนจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทุกวันศุกร์ ผมจะวางแผนการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น การจักสาน การทอผ้า การเล่นดนตรีพื้นถิ่น เป็นต้น"

การเรียนการสอนบนดอยสูง และการแก้ปัญหาด้วยหลัก 'บวร' : 

อย่างที่เราได้ให้ข้อมูลไปตั้งแต่ช่วงต้น ว่าโรงเรียนแห่งนี้ 'มีครู 2 คน' ทำให้ครูเดของเรา ต้องสอนเนื้อหาทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แล้วแบบนี้จะสอนไหวหรือนี่?

ครูเดบอกกับเราว่า ที่จริงแล้วให้สอนทุกวิชาก็พอจะทำได้ แต่อย่างที่บอกไป ความยากหลักๆ คือการสื่อสาร และยังมีอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพออีก ผมจึงต้องใช้วิธีบูรณาการสิ่งที่มีเข้ากับเนื้อหาวิชาการให้ได้ 

"ด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่ เราจึงไม่ได้เน้นเนื้อหาตามหลักสูตรเป๊ะๆ แต่ไม่ได้ทิ้งเนื้อหาใดเลย เราพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าบนดอยหลายพื้นที่ น่าจะใช้การสอนคล้ายๆ กัน คือ เน้นเรียน 2 วิชาหลัก ภาษาไทย และคณิตศาสตร์ เพราะถ้าเด็กได้ภาษา จะสามารถไปต่อในวิชาอื่นได้"

หลักการทำงานของผม ผมใช้หลักที่เรียกว่า 'บวร' คือ บ้าน วัด โรงเรียน เราไม่อยากให้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนต้องหายไป ซึ่งชุมชนเองก็มีเสียงสะท้อนมาว่าอยากธำรงวัฒนธรรมและประเพณีหลายๆ อย่าง ให้ยังคงอยู่ อย่างที่มีปราชญ์ชุมชนเข้ามา ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักนี้

นอกจากนั้นยังได้บูรณาการการสอนกับพื้นที่ในชุมชน เช่น เดินทางไปที่ไร่หมุนเวียน ดูจำนวนต้นไม้ นี่ก็จะได้ในส่วนของคณิตศาสตร์ ส่วนใบไม้สีต่างๆ ก็เก็บมาทำเป็นงานศิลปะได้ หรือจะเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็จะดูช่วงเวลาการเติบโตของพืชในท้องถิ่น 

ค่าตอบแทนของครู ที่สวนทางกับงานที่ต้องทำ : 

แม้คนหนึ่งคน จะมีความตั้งใจกับการทำงานใดงานหนึ่งมากแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันโลกรุดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ 'เงิน' กลายเป็นส่วนจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวว่า ค่าตอบแทนของบุคลากรการศึกษานั้นน้อยเกินไปต่อภาระงานที่มี ทำให้ครูหลายคน เลือกทิ้งจิตวิญญาณเรือจ้าง มุ่งหน้าสู่อาชีพใหม่ เพื่อความอยู่รอดของปากท้อง 

สำหรับครูธรรมรัตน์ เขายอมรับว่า 'ค่าตอบแทน' ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจริงๆ 

"โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าค่าตอบแทนยังถือว่าน้อยเกินไปสำหรับงานที่ต้องทำ เพราะงานที่มีอยู่ไม่ใช่เพียงการสอน แต่ยังมีงานเอกสารอื่นๆ ที่มาจากข้างนอก ตัวผมก็ทำเต็มที่ทุกงาน จากที่เคยพูดคุยกับเพื่อนครูหลายคน ต่างก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะใช้เป็นข้ออ้างให้ตัวเองทำงานน้อยลง หรืออยากเลิกเป็นครู เพราะถึงตอนนี้ยังไม่ได้เป็นข้าราชการครูโดยตรง ยังเป็นครูอัตราจ้างอยู่ แต่ผมกล้าพูดเต็มปากว่าใจรักอาชีพนี้เต็มร้อย แค่รู้สึกว่าถ้าเงินเดือนครูเพิ่มขึ้นได้ ก็น่าจะดีกว่านี้ ไม่ใช่แค่สำหรับผม แต่หมายถึงครูทุกคนทั่วประเทศ"

ความหวังพัฒนาเด็กดอย สู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม : 

ครูธรรมรัตน์ บอกว่า การพัฒนาศักยภาพเด็กดอยนั้นเกิดขึ้นได้ หากได้รับสื่ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนการศึกษา ผมเชื่อว่าถ้ามีของดีให้พวกเขา เด็กบนดอยจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้พอๆ กับเด็กในเมือง

"อนันต์ ไมค์ทองคำ เคยศึกษาที่โรงเรียนบ้านแม่อมกิ (โรงเรียนแม่) เขาได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ดี ตรงกับสิ่งที่เขาชอบทำ เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่า เด็กดอยมีความสามารถ ขาดแค่โอกาสและการสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพของพวกเขา"

ครูเด กล่าวต่อว่า ผมอยากให้เด็กได้เรียนต่อในระดับสูงๆ เพราะผมเห็นคนดอยหลายคนแล้ว ที่ไม่ได้เรียนต่อ พอเข้าไปทำงานในเมืองก็โดนกดเงิน รายรับที่ได้ไม่คุ้มกับแรงที่ลงไป จึงอยากให้เด็กไปในระดับที่ดีๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเด็กบางส่วนปรับตัวกับการเรียนได้ แต่อาจจะไม่ได้รับการแนะแนวสำหรับการศึกษาต่อ ทำให้เด็กตีตัวออกห่างจากการศึกษาเลยก็มี ผมพยายามสื่อสารกับชาวบ้านตลอด เพราะอยากให้เด็กได้ศึกษาในระดับสูงๆ เพื่ออาชีพและอนาคตของเขาที่จะเกิดขึ้น ไม่อยากให้เด็กคนไหนต้องหลุดจากระบบ

"การศึกษาสำคัญมาก เคยมีน้องคนหนึ่งจบ ม.6 มีความรู้เรื่องของช่าง และสามารถสื่อสารได้ดี วันหนึ่งที่มีนโยบายของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในพื้นที่ จนส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ทั้งเรื่องดูแลป่า การใช้พื้นที่หากิน 

แต่น้องคนที่ผมพูดถึง เขารู้ภาษา รู้การสื่อสาร น้องจึงเป็นตัวกลางกับหน่วยงานรัฐ ทำให้ชุมชนสามารถพูดคุยกับคนข้างนอกได้ นี่เลยแสดงให้เห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ"

ความตั้งใจที่ยังไปต่อ และภาพฝันบนดอยสูง : 

แม้ว่าดอยจะยังมีสิ่งที่ขาด และความลำบากจะท้าทายชีวิตครูหนุ่มคนนี้มากแค่ไหน แต่เขาก็ยังมั่นคงและยึดมั่น พร้อมบอกกับทีมข่าวฯ ว่า "จะไปต่อ"

การศึกษาบนดอยในยุคของผม หลายคนที่รู้จักมีหน้าเฟซบุ๊กที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนแรก เช่น บรรจุคนแรก, รับราชการคนแรก ดังนั้น ภาพฝันที่อยู่ในหัวของผมตอนนี้ คือในอนาคตเด็กที่อยู่บนดอยจะได้รับการศึกษาต่างๆ เทียบเท่ากับเด็กในเมือง และมีอาชีพที่มั่นคงให้กับชีวิตได้

ธรรมรัตน์ อุดมรักพันธ์พง กล่าวส่งท้ายก่อนวางสายว่า ทุกวันนี้ที่สอนอยู่ผมไม่เบื่อเลยครับ ผมคิดว่าตัวเองมีจิตวิญญาณความเป็นครู รักในอาชีพครู เราเห็นเด็กมีความสุข และชาวบ้านยังร่วมขับเคลื่อนเด็กๆ ไปกับเรา จึงทำให้ผมยังคงหยัดยืนที่จะอยู่ตรงนี้ ผมคิดเสมอว่า ถ้าสมมติเราไม่อยู่ตรงนี้ เด็กจะไปต่อยังไง เราอยากทำให้เด็กซึมซับการศึกษา และสิ่งดีๆ ให้ได้มากที่สุด

ภาพ : ธรรมรัตน์ อุดมรักพันธ์พง (ครูเด)


อ่านบทความการศึกษาที่น่าสนใจ :