จากครูเอกคอมพิวเตอร์ เห็นเด็กพิเศษถูกบูลลี่ สู่การปลุกจิตวิญญาณครูให้ลุกโชน เรื่องราวแห่งใจรัก และความตั้งใจที่อยากเห็น 'เด็กพิเศษ' เติบโตในสังคมโลก และสังคมไทยอย่างมีความสุข...

'การศึกษา' เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ชีวิตของคนคนหนึ่งให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างสวยงาม แต่น่าเสียดายที่เด็กบางส่วนมีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนทั่วไป หลายคนจึงต้องตกขบวนรถไฟแห่งอนาคตนี้ และถูกทิ้งไว้ข้างหลังไร้คนเหลียวแล 

'เด็กพิเศษ' หรือ 'เด็กที่มีความต้องการพิเศษ' เป็นคนอีกกลุ่มในสังคมที่มี 'ข้อจำกัด' พวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล และรับการศึกษาต่างจากเด็กทั่วไป

ทำให้หลายคนมองว่า การพัฒนาเด็กพิเศษ หรือการจัดการศึกษาพิเศษเป็นเรื่อง 'ยาก' จนอาจจะท้อไม่ไปต่อเพื่อพวกเขา แต่สำหรับ 'พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์' คำว่า 'ล้มเลิก' จะไม่อยู่ในพจนานุกรมชีวิต ตราบใดที่การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อ 'เด็กพิเศษ'

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านทุกท่านเปิดโลกของเด็กพิเศษ ในช่วงวัยแห่งการศึกษา ผ่านมุมมอง และชีวิตที่อุทิศเพื่อเด็กอย่างยิ่งยวดของ 'พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์' หรือ 'ครูอ้อ' ครูผู้สอนประจำศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล

อะไรที่ทำให้อดีตนักศึกษา สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ผันตัวจากครูโรงเรียนปกติ สู่ครูเด็กพิเศษ แล้วทำไมถึงต้องพยายามอย่างหนักเพื่อเด็กกลุ่มนี้?

มาร่วมติดตาม และหาโอกาสทางการศึกษานี้ไปพร้อมกัน....

พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์
พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์

'เห็นเด็กโดนแกล้ง' จากเอกคอมพิวเตอร์ศึกษา สู่ครูของเด็กพิการ :

พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์ เริ่มต้นชีวิตครูครั้งแรกเมื่อปี 2558 ด้วยฐานะ 'ครูอัตราจ้าง' ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากบ้านของตนนัก การสอนในแต่ละวันดำเนินไปอย่างปกติ จนกระทั่งครูอ้อได้เริ่มเห็นเด็กพิเศษในโรงเรียน เช่น เด็ก LD (Learning Disorder : โรคการเรียนรู้บกพร่อง) หรือ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with Mental Retardation)

ทำให้ครูอ้อรู้สึก 'สงสาร' เพราะเมื่ออยู่ในห้องเรียน เด็กคนอื่นๆ จะมองพวกเขาเหมือนเป็นจุดด้อยของห้อง จึงมักทำให้โดนเพื่อนแกล้ง การได้เห็นภาพฉายซ้ำๆ ของเด็กเหล่านั้น จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของความคิด และชีวิตไปตลอดกาล

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ผมสนใจในเรื่องของเด็กพิเศษ เมื่อสนใจจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล และไปประจวบเหมาะกับศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษที่ 6 ลพบุรี ประกาศรับสมัครครูการศึกษาพิเศษ จึงตัดสินใจลองสมัคร เพื่อต้องการจะรู้ว่าเด็กพิเศษเป็นอย่างไร และสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง"

...

ครูเด็กพิเศษ เล่าต่อว่า ตอนที่เริ่มทำ เราไม่มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเด็กพิเศษเลย เพราะว่าเราจบครูปกติ ซึ่งครูปกติกับครูเด็กพิเศษจะต่างกัน เรารู้ตัวแค่ว่าเรามี 'จิตวิญญาณความเป็นครู' เราต้องการพัฒนาเด็ก องค์ความรู้เรามาหาเอาข้างหน้า ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็มีการจัดอบรม มีการส่งเราเข้าการพัฒนาตัวเอง ตัวเราเองก็สะสมและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากรุ่นพี่

หมายเหตุ : ต่อจากนี้ 'ครูอ้อ' จะเรียกเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในระหว่างการสนทนาว่า 'เด็กปัญญา'

เรื่องตกใจในวันแรกของการทำงาน :

ด้วยความ 'ไม่รู้' แต่มีจิตวิญญาณครู บวกกับ 'ใจรัก' ทำให้ครูอ้อเลือกที่จะก้าวเดินอย่างมุ่งมั่นเพื่อเด็กพิเศษ แต่วันแรกของการทำงานเขาก็มีเรื่องที่ต้อง 'ตกใจ' 

ครูพงษ์ธวัช เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า วันแรกที่เข้าไปทำงาน ทางศูนย์ฯ ให้เข้าไปอยู่ 'ห้องแรกรัก' เพื่อดูแลเด็กดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) ซึ่งตอนแรกเขาก็เล่นกับเราปกติ จับแก้มเรา ยิ้มให้เรา แต่เพียงแค่ช่วงวินาทีเดียว เขาตบหน้าเรา 'ผลัวะ' เราก็ตกใจแล้วนิ่งไป แต่เราเองก็ต้องหยุดพฤติกรรมเด็กให้ได้ไวที่สุด เราบอกเขาว่าอย่าทำ แล้วค่อยๆ จับมือเขาไปตีที่แก้มตัวเอง 'เบาๆ' เพื่อให้เขารู้ว่า ถ้าทำแบบนี้จะเจ็บ และเขาเองก็ทำกับคนอื่นไม่ได้

...

หลังจากนั้นจึงทำให้ครูอ้อเริ่มเข้าใจ และรู้ว่า "งานที่ทำไม่ตรงกับสิ่งที่คิด"

"ตอนอยู่ที่โรงเรียนปกติ เห็นแค่เด็ก LD เด็กเรียนร่วม แต่พอมาอยู่ที่ศูนย์เด็กพิเศษ เราจะเจอเด็กทุกประเภท จากที่ไม่เคยต้องเช็ดอุจจาระ ปัสสาวะ และอ้วกของเด็ก เราก็ทำทุกอย่าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ มันจะทำให้เด็กรู้สึกไว้ใจเรา และมองเราเหมือนพ่อแม่คนที่ 2"

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้ครูอ้อคิดจะยอมแพ้ แต่เลือกที่จะไปต่อ เพราะได้เรียนรู้ว่า 'นี่คือความจริงของชีวิต'

...

ความยากในการสอนเด็กพิเศษ :

จากครูที่สอนเด็กปกติ สู่ครูสอนเด็กพิเศษ ทำให้ครูอ้อพบว่าความยากในการทำงานนั้นมี 2 ข้อ คือ ครูต้องเข้าใจเด็ก และ ครูต้องเข้าถึงผู้ปกครอง

ข้อแรก 'ครูต้องเข้าใจเด็ก' ซึ่งส่วนนี้จะต้องมี 'ครูต้องใจเย็น' และ 'ครูต้องรักเด็ก' พ่วงเข้าไปด้วย ครูอ้อให้เหตุผลอธิบายไว้ว่า หากเป็นเด็กปกติเราสามารถสอนทั้งหมดได้ เช่น ถ้าจะสอนวาดรูปวงกลม ก็สามารถสอนได้พร้อมกันทั้งห้อง

ในทางกลับกันเด็กพิเศษแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แค่เราจะสอนวาดวงกลม ทุกคนจะมีข้อจำกัดของตัวเอง เช่น เด็กบางคนจับดินสอไม่ได้ เด็กบางคนนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ เด็กบางคนเห็นกระดาษแล้วร้อง ฯลฯ เราในฐานะ 'ครู' จึงต้องปรับรูปแบบ และพลิกแพลงวิธีสอน เพื่อให้เขายอมทำตามที่เราต้องการสื่อสาร

ส่วนความยากอีกอย่างหนึ่งคือ 'การเข้าถึงผู้ปกครอง' เนื่องจากผู้ปกครองบางส่วน 'ไม่ยอมรับว่าลูกตัวเองเป็นเด็กพิเศษ' ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเด็กออทิสติก (Autistic) แม้ว่าภายนอกจะเหมือนเด็กทั่วไป แต่นิสัยจะต่างกัน เด็กออทิสติกจะไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิว แต่ฝั่งผู้ปกครองก็จะบอกว่า "ลูกดีแล้ว ไม่ได้เป็นอะไร" แม้จะมีข้อมูลจากทางการแพทย์ยืนยัน แต่ผู้ปกครองก็ยังเลือกที่จะปฏิเสธ ทั้งที่ลึกๆ ก็รู้ความจริงอยู่แล้ว

"จุดนี้จึงยากที่ต้องทำให้ผู้ปกครองยอมรับลูกให้ได้ เพราะถ้าเขาไม่ยอมรับ หากเราพัฒนา หรือสอนเด็ก พอกลับบ้าน ผู้ปกครองก็จะไม่ต่อยอด หรือปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กจะไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น" ครูพงษ์ธวัช กล่าว

การทำงานนอกสถานที่ของครูเด็กพิเศษ :

ความจริงของชีวิต ยิ่งผลักดันให้อดีตครูเอกคอมพิวเตอร์ศึกษา เข้าใจชีวิตของเด็กๆ มากขึ้น...

"เด็กพิการส่วนมากจะอยู่กับผู้ปกครองที่ยากจน ยิ่งเวลาที่เราได้ไปเยี่ยมบ้านเด็ก เราจะเห็นชัดเจนว่าพวกเขาลำบากแค่ไหน ผมยกตัวอย่างของศูนย์ผมจะมีอยู่ทั้งหมด 11 อำเภอ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่หากจะเดินทางไปศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นศูนย์หลักนั้นจะอยู่ไกล 

อย่างของผมถ้าจะเดินทางไปศูนย์หลัก ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนไม่สะดวกพาเด็กไปรับบริการ ทาง ผอ.สำนักเล็งเห็นว่าควรมีการจัดตั้งหน่วยบริการ ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้"

ครูอ้อ เล่าให้เราฟังว่า เด็กในละแวก อ.ชัยบาดาล ที่ผมดูแลอยู่ประมาณ 48 คน เขาก็สามารถเดินทางมารับบริการ หรือมาเรียนได้ วันนึงเฉลี่ยประมาณ 20-25 คน ส่วนที่เหลือจะเป็นเด็กตามบ้าน ซึ่งเด็กตามบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กร่างกายติดเตียง หรือเด็กบางคนมีพฤติกรรมรุนแรงจึงไม่สามารถมาเรียนได้ 

"เด็กที่ผมไปตามบ้าน ผมก็จะประสานงานกับ อสม. ชุมชน กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นกำลังเสริมในการช่วยเหลือ ผมจะดูแลเรื่องการศึกษากับกายภาพฟื้นฟู จะมีนัดกายภาพบำบัดจากศูนย์ใหญ่ไปร่วมทำกายภาพกับเด็กที่บ้าน เด็กกลุ่มนี้จะเจอครูเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง"

ทางศูนย์ฯ จะสอนผู้ปกครองทำกายภาพ และจะติดตามผลว่าผู้ปกครองได้ทำตามแบบที่เราสอนไปหรือไม่ แต่บางครั้งจะมีปัญหานิดนึง คือ เราสอนผู้ปกครองไปแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่ได้ทำต่อ เด็กก็กลับมากล้ามเนื้อยึด หรือกล้ามเนื้อเกร็ง เราก็ต้องกลับไปฟื้นฟูอีกครั้ง

เราพยายามชี้ให้ผู้ปกครองเห็นว่า หากไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วจะเกิดผลอย่างไร หรือบางครั้งผู้ปกครองเช็ดแผลให้ลูกโดยไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง เราก็ต้องประสาน อสม.ให้มาคอยช่วยเหลือ หรือช่วยดูแลส่วนนี้

"เราเหมือนมีหน้าที่ประสานงานเครือข่ายโดยรอบ ทุกภาคส่วนที่จะช่วยเหลือในกลุ่มนี้ เด็กบางคนไม่มีบ้าน อาศัยอยู่ในเพิง เราก็ติดต่อกับอำเภอ กิ่งกาชาดอำเภอ เพื่อช่วยกันรวมเงินระดมทุน จนสามารถสร้างบ้านให้เด็กสำเร็จได้ เด็กก็มีชีวิตที่ดีขึ้น" ครูเด็กพิเศษกล่าวอย่างภาคภูมิในความสำเร็จที่ผ่านมา

การเรียน-การสอน :

หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่าที่นี่เขาเรียน หรือสอนกันอย่างไร?

"ที่ศูนย์ของเรา หลักๆ จะสอนเรื่องทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นทักษะที่สำคัญ" 

ครูอ้อ กล่าวต่อว่า การดูแลเด็กของ 'ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล' จะ เป็นการดูแลเด็กระยะ EL (Early Intervention) หากเทียบให้เข้าใจง่ายกับเด็กปกติ ก็จะอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อม หากเด็กคนไหนเตรียมความพร้อมดีแล้ว เราก็สามารถส่งต่อไปที่โรงเรียนเฉพาะทางได้ แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่าเด็กยังไม่พร้อม เราก็ต้องปรับจนกว่าเด็กๆ จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

ทักษะที่สอนจะเน้นไปที่ 5 ทักษะ ได้แก่ ทักษะทางสังคม, ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่, ทักษะวิชาการ, ทักษะอารมณ์ และทักษะภาษา สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเราพยายามจะสอนเพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด และยังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้กิจกรรมบำบัด ในส่วนของทางศูนย์ฯ จะมี ศิลปะบำบัด, อาชาบำบัด, ดนตรีบำบัด, กระบือบำบัด, ว่ายน้ำบำบัด และศาสนาบำบัด เป็นการเรียน และการสอนแบบบูรณาการ

"ความโชคดีของศูนย์ฯ เรา คือการมี 'มทบ.13' (มณฑลทหารบกที่ 13) อยู่ไม่ไกลนัก ทางนั้นมีโครงการ 'อาชาบำบัด-กระบือบำบัด' ซึ่งเป็นการใช้สัตว์มาบำบัดเด็กออทิสติกให้นิ่ง"

เอ๊ะ! ผู้อ่านคงจะสงสัยใช่ไหมครับว่า 'ม้า' กับ 'ควาย' จะช่วยบำบัดเด็กออทิสติกได้ยังไง?

การบำบัด คือ การเอาเด็กไปขี่ม้า หรือขี่ควาย ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านั้นนิ่งขึ้น

ครูอ้อ อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทำให้เด็กนิ่ง เนื่องจากเมื่อพวกเขาขึ้นไปนั่งบนหลังม้า หรือควาย เด็กจะต้องออกแรงเกร็ง นั่นเป็นการใช้ทักษะการทรงตัว เป็นลักษณะการบังคับไปในตัว ว่าเขาจะต้องนั่งยังไง แรกๆ เด็กทุกคนกลัว และร้องไห้ แต่ผ่านไปสัก 2-3 ครั้ง เด็กจะเริ่มชอบ เพราะเวลาที่เด็กขี่ เขาจะไม่ได้นั่งเฉยๆ แต่จะมีกิจกรรมให้เด็กทำบนหลังม้า

"หลังจากที่เด็กกลุ่มนี้ได้ฝึกมาบ้างแล้ว พวกเขาจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก่อนเด็กบางคนจะไม่นั่งเก้าอี้เลย พอเราจะให้นั่งเก้าอี้ เขาก็จะไปที่อื่น แต่หลังจากได้รับการฝึก พวกเขานิ่งขึ้น และนั่งเก้าอี้ง่ายขึ้น"

เด็ก 1 คน = 1 แผนการเรียนรู้ :

คุณพงษ์ธวัชในฐานะของครู ต้องออกแบบการสอนเองทั้งหมด เพราะผู้สอนจะรู้เองว่าควรพัฒนาเด็กในด้านใด

"การคิดออกแบบการสอนถือว่าค่อนข้างยาก เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่าง มีความชอบ และความต้องการก็ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องคิดและบูรณาการสื่อ 1 ชิ้น ต่อ 1 คน เราต้องเป็นผู้ประดิษฐ์ให้เขาเอง"

ความ 'ยาก' ไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่เพิ่มระดับทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อ "เด็กแต่ละคนจะใช้แผนการสอนที่ต่างกัน"

หากเราไปดูการสอนของโรงเรียนทั่วไป จะเห็นว่า 1 แผนการเรียนรู้ จะเป็นหน่วยวัดกลางสำหรับเด็กทั้งห้อง หรือทั้งระดับชั้น แต่สำหรับการศึกษาพิเศษ ครูอ้อ บอกว่า ถ้ามีเด็กออทิสติกทั้งหมด 4 คน เด็ก 4 คนนี้ก็ต้องใช้แผนการเรียนรู้คนละแผน เพราะคนหนึ่งอาจจะจับดินสอได้ แต่อีกคนหนึ่งอาจจะจับดินสอไม่ได้ แต่ใช้กรรไกรเป็น 

"บางทีช่วงตี 1 ตี 2 เรากับครูอีกคนที่อยู่ประจำ มานั่งช่วยกันคิดว่าจะสอนอะไรเด็ก ถ้าคิดได้แล้วเราก็ต้องรีบทำสื่อ เพื่อให้ทันสอนเด็กตอนเช้า"

ตัวอย่างการสอนสำหรับเด็กพิเศษ :

ครูอ้อ เล่าว่า การสอนในแต่ละครั้งจะต้องแยกประเภทเด็ก เช่น ถ้าจะสอนเด็กออทิสติก กับเด็กปัญญา ใช้กรรไกร ก็ต้องมีวิธีที่แตกต่างกัน เด็กออทิสติก จะต้องใช้กรรไกรที่ไม่คม พวกเขาจะตัดได้แค่เส้นตรง  เพราะว่าบุคลิกไม่นิ่ง ส่วนเด็กปัญญาจะมีบุคลิกนิ่ง ซึม ช้า สามารถตัดกระดาษเป็นวงกลมได้

"ครู 1 คน สามารถสอนเด็กปัญญา 3 คนได้พร้อมกันได้ แต่สำหรับเด็กออทิสติกจะต้องสอนแบบ 1 ต่อ 1 เราต้องดูแลความปลอดภัยของเขาอยู่เสมอ เด็กออทิสติกบางคนแค่เอามือเข้าไปตรงที่จับกรรไกร เขาจะไม่ชอบ และสะบัดออก เราต้องค่อยๆ สอนเขา"

ความน่าสนใจในความพยายามเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อครูอ้อเล่าให้เราฟังต่อว่า บางครั้งเราต้องเอาริบบิ้นมาพันตรงกรรไกร เพื่อให้มีสีสันสวยงาม เด็กถึงจะยอมจับ บางคนต้องตัดกระดาษรูปการ์ตูนที่เขาชอบ มาแปะไว้ที่กรรไกรถึงจะยอมจับ หรือถ้าอยากให้เด็กบางคนฝึกตัดกระดาษ อาจจะมีตัวการ์ตูนที่เขาชอบมาแปะไว้ที่จุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย โดยที่ทั้งสองจุดต้องเป็นรูปเดียวกัน 

"เราจะต้องพยายามดึงความชอบของเขาออกมาให้ได้ เพราะถ้าทำได้เขาจะทำกิจกรรมกับเราได้ดี อะไรที่ไม่ชอบ เขาจะไม่ทำเลย อีกเรื่องหนึ่งคือ ทักษะทางสังคม สิ่งนี้เราเน้นย้ำมาก หลังจากการแยกเรียนกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงชั่วโมงเรียนรวม เราจะนำเด็กมารวมกัน เพื่อให้พวกเขาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเน้นไปที่ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด และศาสนาบำบัด"

กิจวัตร 1 วัน ของครูเด็กพิเศษ :

ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 6 จ.ลพบุรี หน่วยบริการชัยบาดาล ที่ทำงานของปลายสาย มีข้าราชการ 2 คน พี่เลี้ยง 2 คน นักกายภาพ 1 คน รวมคนดูแลเด็กๆ ทั้งหมด 5 คน โดยที่ 'ครูอ้อ' จะพักอยู่ประจำศูนย์ฯ ร่วมกับครูอีกหนึ่งคนชื่อ 'ครูปอง-ธีรภัทร เลียงวัฒนชัย'

คุณพงษ์ธวัช เล่ากิจวัตรของตนเองในฐานะ 'ครูอ้อ' ให้ทีมข่าวฟัง โดยประมาณระยะเวลาในแต่ละวันคร่าวๆ ให้เราฟังว่า

05.00 น. จะต้องตื่นไปตลาด เพื่อจัดหาซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารให้เด็กกิน 

07.30 น. ผู้ปกครองเริ่มเดินทางมาส่งเด็ก ในช่วงนี้ 'ครูปอง' จะเป็นผู้อยู่ประจำด้านหน้าเพื่อรอรับ ส่วนครูอ้อ และพี่เลี้ยง จะเข้าไปเตรียมอาหารอยู่ในครัว

09.00 น. เมื่อเด็กทุกคนมากันพร้อมหน้า จะเริ่ม 'กิจกรรมวงกลม' เช่น เข้าแถวเคารพธงชาติ กิจกรรมร้องเพลง กิจกรรมแนะนำตัวเอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมนันทนาการให้เด็กตอนเช้า

09.30 น. จะแบ่งเด็กออกเป็น 3 ห้อง คือ ห้องเด็กออทิสติก ห้องเด็กปัญญา และห้องเด็กร่างกาย เด็กแต่ละกลุ่มจะเรียนกับครูแต่ละคน

10.30 น. ให้เด็กๆ พักผ่อน และในช่วงนี้ครูจะไปเตรียมอาหารกลางวันให้พร้อม

11:30 น. เด็กๆ กินอาหารกลางวัน

13:00 น. ให้เด็กพักผ่อน วิ่งเล่น ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป

14.00 น. กลับสู่ห้องเรียน สอนทักษะต่างๆ

15.30 น. ผู้ปกครองเริ่มทยอยมารับเด็กกลับบ้าน

ครูอ้อ เล่าเพิ่มเติมว่า ที่อื่นๆ อาจจะตักอาหารวางไว้ที่โต๊ะ แล้วให้เด็กนั่งประจำที่ แต่ที่นี่เราไม่ทำแบบนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาพักกลางวัน เด็กๆ จะลุกไปล้างมือ และจะไปหยิบแก้วที่เราห้อยไว้ข้างผนัง ซึ่งแต่ละแก้วจะมีการแปะรูปของเด็กๆ เพื่อให้เขาจำได้ "อะไรที่เป็นของเขา หรือของประจำ เราก็จะใช้การแปะรูปให้เขาจำได้"

หลังจากนั้นเด็กจะเดินมาเข้าแถวเพื่อรอครูตักอาหารให้ เมื่อตักเสร็จก็จะมานั่งรอกล่าวพิจารณาอาหารพร้อมกัน และเริ่มกินข้าว เมื่อกินข้าวเสร็จแล้วเด็กๆ จะนำจานไปเก็บไว้ตรงที่ล้างจาน ซึ่งเราไม่ได้ให้เด็กล้างเอง เพราะว่าอาจจะไม่สะอาด

"เด็กที่มาใหม่ในช่วงแรกจะยังทานข้าวเองไม่ได้ เราต้องคอยป้อน เพื่อให้เขาคุยกับเรา เมื่อเขากล้าคุย เราจะลองจับมือ สอนให้ตักข้าวเข้าปาก จะทำไปเรื่อยๆ จนเขาสามารถทำเองได้ แม้ว่าโต๊ะจะเปรอะเปื้อนแค่ไหน เราก็ต้องยอม 

ส่วนช่วงที่รอผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน บางครั้งก็อาจจะมารับช้ากว่าปกติ แต่เราเข้าใจ เพราะว่าผู้ปกครองบางคนทำงานรับจ้าง กว่าจะเลิกงานก็เย็นมากแล้ว หรือบางคนอาจจะติดธุระ ในช่วงนี้เราก็ต้องดูแลเด็กไปก่อน หากเขาหิว เราก็ต้องหาข้าวให้เด็กกินไปก่อนด้วย"

ความใจเย็น และการรู้จักปรับตัว สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน :

"การมาทำตรงนี้สอนให้เราใจเย็นขึ้น เรามีความอดทน เราคิดต่างจากเดิมมากขึ้น"

ครูอ้อ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเพื่อนๆ จะรู้ว่าผมเป็น 'คนอารมณ์ร้อน' ทำให้พอมาทำงานตรงนี้ เพื่อนสงสัยว่าเราอยู่ได้ยังไง เพราะอะไรเราถึงใจเย็นได้ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะเพราะการดุ หรือด่าเด็กพิเศษไม่ได้ทำให้เกิดผลที่ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เขาฟังเรามากขึ้น เพราะเวลาเราดุเขาไป เขาก็จะหันมายิ้มให้เรา เมื่อเด็กยิ้มเราก็เบาลงแล้ว 

อีกอย่างคือ 'การปรับตัวให้ทันเด็ก' ขอยกตัวอย่างของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนใกล้เคียงส่งมาให้ช่วยดูแล เพราะเขามีพฤติกรรม และอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง ตอนอยู่ที่โรงเรียนปกติ เขาใช้กรรไกรไล่แทงครู ทำร้ายครู ด่าครู ดังนั้นพอมาอยู่กับเรา เราจะไม่ดุเขา พยายามคุยด้วยเหตุผล หลังจากเริ่มสังเกตพฤติกรรม พบว่าเขาไม่มีพฤติกรรมรุนแรงกับเรา 

"เราเคยลองถามถึงเหตุผลของการกระทำ เมื่อครั้งยังอยู่ที่โรงเรียนปกติ เด็กเล่าให้ฟังว่า เขาต้องการเรียกร้องความสนใจ จึงพยายามคิดหาวิธีของตนเอง เขาคิดแค่ว่าเมื่อเขาทำร้ายครู เขาจะเด่น และได้รับความสนใจ เราจึงค่อยๆ ปรับ ให้ความรักกับเขา และเขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ แต่เราเข้าใจครูโรงเรียนปกตินะว่าทำไมต้องดุ เพราะว่าครู 1 คนดูแลเด็กจำนวนมาก เขาจึงต้องคุมเด็กให้อยู่"

'เด็กพิเศษ' เรื่องที่อยากให้สังคมยอมรับ :

แม้เทคโนโลยี องค์ความรู้ หรือสหวิชาการบนโลกในบี้จะทวีความก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมบางส่วนยังไม่ยอมรับ 'เด็กพิเศษ'

ครูพงษ์ธวัช กล่าวว่า สังคมยังไม่ยอมรับเด็กในกลุ่มนี้เท่าไร และมักจะเหมารวมว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา อยากให้สังคมเข้าใจพวกเขามากขึ้น เด็กทุกคนสามารถเข้าสังคมได้ ไม่อยากให้รู้สึกรังเกียจเขา อยากให้เข้าใจถึงความผิดปกติของเด็ก 

"ตอนนี้การศึกษาเราก็มีความเฉพาะทางเรื่องความพิการมากขึ้น ด้วยนโยบายของสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ที่มีการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพิ่มขึ้น แต่เด็กจะไปอยู่ตรงนั้นได้เด็กก็มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องผ่านจากเราไปก่อน ถ้าเขาพร้อม เราถึงจะส่งต่อเขาไปได้ 

แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเฉพาะทาง จะเป็นโรงเรียนประจำ เขาต้องดูแลเด็ก 24 ชั่วโมง ดังนั้นเด็กจึงต้องมีความพร้อมก่อนจะไปอยู่โรงเรียนประจำ อย่างน้อยต้องอาบน้ำได้ แต่งตัวได้ กินข้าวเองได้"

จิตวิญญาณความเป็นครู และใจรัก :

นอกจากครูอ้อจะบอกกับเราว่าเขามี 'จิตวิญญาณความเป็นครู' แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูคนนี้ได้เป็นที่รักของ 'เด็กพิเศษ' ก็คือ 'ความรัก-ความตั้งใจ'

"การจะมาอยู่ตรงนี้ต้องใช้ทั้งความรัก และความตั้งใจ บางคนก็บอกเราว่าทำไมไม่ทำงานให้ตรงสายที่เรียนมา แต่ในใจเราก็คิดว่าถ้าเราไปแล้วเด็กกลุ่มนี้ใครจะมาทำให้เรา"

ครูอ้อ กล่าวถึงเรื่องที่ตนเองภูมิใจให้เราฟังว่า มีเด็กที่สอนได้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำ นอกจากนั้นยังสามารถส่งเด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม และอารมณ์ เข้าโรงเรียนปกติได้ ซึ่งทุกวันนี้สามารถเรียนปกติแบบไม่มีปัญหาอะไร อีกคนหนึ่งเป็นเด็กออทิสติกที่เข้าไปอยู่ในโรงเรียนเรียนรวมได้ ส่วนอีกคนเป็นเด็กโสต (บกพร่องทางการได้ยิน) เราเคยสอนภาษามือพื้นฐานให้ เมื่อเขาไปอยู่โรงเรียนอื่นแล้ว เขาได้ภาษามือเพิ่มมากขึ้น และสามารถกลับมาคุยกับเราได้ 

"เด็กเหล่านั้นคือความภาคภูมิใจของเรา ที่เราสามารถทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นได้" เสียงปลายสายจากครูเด็กพิเศษ กล่าวกับเรา

ทีมข่าวฯ ถามครูอ้อว่า การทำงานตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และจะทำไปอีกนานแค่ไหน?

พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์ บอกว่า การทำงานปัจจุบันถือว่าลงตัวกับสิ่งที่ทำ เพราะว่าเราทำด้วยความรัก ถึงแม้จะยากลำบาก แต่เมื่อใจเรารัก เราจึงทำแบบไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ตอนนี้ยังไม่คิดจะเลิกทำ อยากทำต่อไปเรื่อยๆ รักที่จะอยู่ตรงนี้ อยากฝากเด็กพิเศษไว้ในใจทุกคน เพราะพวกเขาก็เป็นคน และมีหัวใจเหมือนกับเรา 

"ในอนาคตคิดว่าจะทำไปจนกว่าจะเกษียณ แม้จะเกษียณแล้ว ผมเชื่อว่าความเป็นครูก็จะยังมีอยู่ในตัว ผมน่าจะยังดูแลเด็กต่อไป แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยสอนเต็มที่ แต่เรายังมีส่วนอื่นๆ ที่สามารถคอยสนับสนุนเท่าที่เราจะทำได้".

ภาพ : พงษ์ธวัช กลิ่นสุคนธ์

อ่านบทความที่น่าสนใจ :