นโยบายประชานิยม แบบ Helicopter Money เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้หรือไม่?
"นโยบายประชานิยม" หรือ "แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ" แบบ Helicopter Money ที่พรรคการเมืองไทยจำนวนมากกำลังหาเสียงอยู่ในเวลานี้ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้หรือไม่ รับฟังทุกมุมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก่อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้งจากทัศนะของ "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ผ่านการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”
...
Helicopter Money :
“หากจะให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือ...การพิมพ์เงินจำนวนมากๆ ออกมาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขนเงินจำนวนมหาศาลขึ้นไปบนเฮลิคอปเตอร์ แล้วออกบินโปรยหว่านเงินลงในระบบเพื่อหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยครั้งมโหฬารนั่นเอง”
Helicopter Money กับ ข้อดีและข้อเสีย :
“ผมขอแบ่งแบบนี้ครับ ตามความเชื่อกระแสหลักในปัจจุบันจะมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นด้วยว่า ต้องการ...การเติมเงินหรือไม่?
ซึ่งสถานการณ์ที่มักจะพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเช่นนี้ ก็คือ วิกฤติอะไรต่างๆ ที่รุนแรง จนกระทั่งทำให้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ หรือขนาดของเศรษฐกิจหดตัวลงมากๆ เช่น เมื่อช่วงใกล้ปี 2020 ที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ กระทั่งมีเหตุจำเป็นให้ต้องมีการอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มากถึง 6-7% เป็นต้น
อย่างไรก็หากมีการนำ Helicopter Money ไปใช้สำหรับสถานการณ์อื่นๆ มักจะพบว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผล...มักจะได้ผลลัพธ์ที่น้อยเป็นอย่างมาก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น หากเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัว หรือถ้ากลไกการอุดหมุนมันมีตัวรั่วไหล หรือมีส่วนที่ขาดประสิทธิภาพ เงินมันก็จะไม่ลงไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดมีปัญหาการคอร์รัปชัน มันก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ช้า หรือในอีกกรณี เงินที่ควรจะลงไปสู่ชาวฐานราก หรือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งมักจะใช้เงินได้เร็วกว่า แต่กลับมีเงินจำนวนหนึ่งเกิดไปอยู่ในมือกลุ่มคนที่มีฐานะ มันก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการหมุนเวียนเงินขึ้นในระบบได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะนิยมการออมมากกว่าที่จะรีบใช้เงินนั่นเอง ซึ่งหากเป็นในกรณีแบบนี้ ข้อดีของ Helicopter Money มันก็จะสูญหายไปพอสมควร!”
Helicopter Money กับ เงินดิจิทัล :
“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า สำหรับประเทศไทย ระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจมีคนจำนวนหนึ่งไม่คุ้นชิน มันมีความเป็นไปได้ว่าเงินอาจจะเข้าไปหมุนในระบบได้น้อยกว่าปกติ เพราะมันอาจมีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้นำไปใช้จ่าย ด้วยเหตุเพราะมันอาจจะใช้ได้ยากสำหรับเขา ซึ่งหากเกิดเป็นแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ มันก็อาจจะเกิดการรั่วไหล หรือเกิดการหมุนเวียนในระบบได้ช้า จนกระทั่งผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จาก Helicopter Money มันก็จะลดลงได้เช่นกัน
...
ฉะนั้น...ในความเห็นส่วนตัวผมจึงคิดว่า มันน่าจะเกิดผลดีกว่าหากมีการนำไปใช้ในระบบเดิมที่ผู้คนคุ้นชิน เพราะทุกคนก็จะมีสิทธิที่จะเข้าไปใช้ได้และไม่ได้ถูกตัดตอนไปเสียก่อน เพราะหากมีการไปตัดตอนเข้าไปในระบบที่มีต้นทุนในการเข้าถึง ร้านค้าก็อาจจะไม่อยากใช้ คนที่ได้รับเงินไปก็อาจจะไม่รู้จะเอาไปใช้ที่ไหน เพราะหากเอาไปใช้ในร้านที่เขาไม่รับมันก็อาจจะมีปัญหาขึ้นได้”
Helicopter Money กับ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ :
“โดยมากหากมีการคำนึงถึงความเหมาะสมของการกระตุ้นเศรษฐกิจ มักจะมีการตีความว่า เงินที่ออกหว่านลงไปมันมีความคุ้มค่าหรือไม่ หรือช่วยดึงเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งในกรณีที่มันดึงเศรษฐกิจได้ จนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจมันเติบโตมากกว่าเงินที่ลงไป เช่น สมมติ รัฐบาลมีการแจกเงินไป 1,000 ล้านบาท แล้วปรากฏว่าเศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท แบบนี้ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็แปลว่าเงินที่ลงไป ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้น้อยกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็แปลว่า รัฐบาลขาดทุน!
สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ...การกระตุ้นเศรษฐกิจมีต้นทุนเช่นกัน เพราะมันไม่ใช่ว่าจู่ๆ รัฐบาลจะเดินไปบอกธนาคารแห่งประเทศไทยว่า พิมพ์แบงก์ออกมาให้ 1,000 ล้านบาทได้ทันที แต่รัฐบาลจะต้องไปหาเงินจากแหล่งอื่น ซึ่งทางที่ง่ายที่สุดมันมีอยู่ 2 ทาง คือ ข้อที่ 1. ลดรายจ่ายจากส่วนอื่นๆ เช่น สมมติรัฐบาลอยากได้เงินสัก 10,000 ล้านบาท ก็อาจต้องไปลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หรือ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น แต่หากทำแบบนี้...ผลลัพธ์ที่ตามมามันก็มีความเป็นไปได้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงเหล่านั้นอาจลดต่ำลง เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
...
ส่วนข้อที่ 2. คือ รัฐบาลไปกู้เงินมา ซึ่งการกู้เงินก็แปลว่าในอนาคตรัฐบาลก็ต้องหาเงินมาชดใช้หนี้ในส่วนนี้อยู่ดี และเมื่อบวกกับการที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ก็แปลว่า Function การทำงานในอนาคตมันจะแย่ลง ฉะนั้นกล่าวโดยสรุปคือ ถ้ามันขาดประสิทธิภาพแล้ว ก็มักจะนำไปสู่ปัญหา Function การทำงานของภาครัฐอื่นๆ อาจจะด้อยลงเลยในปีนี้ หรือเป็นภาระให้เกิดขึ้นในระยะยาว”
Helicopter Money กับ การเมืองไทย :
“หากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เกือบทุกพรรคการเมืองไทยในเวลานี้ แม้จะพยายามเสนอนโยบายในลักษณะของการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน แต่มันก็ยังคงเป็นลักษณะของการแจกเงินเหมือนๆ กันเกือบทั้งหมดอยู่ดี หรือพูดง่ายๆ ทุกพรรคอยู่ในธีมแจกเงินเหมือนๆ กันหมด เพียงแต่อาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน หรือมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันเท่านั้น ทำให้สำหรับประเด็นนี้ ส่วนตัวผมจึงมองว่า ทุกพรรคกำลังพยายามแจกเงินมากเกินไป!
เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ...ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในระหว่างค่อยๆ ฟื้นตัว ฉะนั้นจึงควรมีการเลือกนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เช่น การช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่มากนัก โดยเฉพาะภาคการส่งออก หรือการลดหนี้สาธารณะ เป็นต้น
...
นอกจากนี้ ปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 3.2% ในขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จะค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.7 - 3.8% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเป็นแบบนี้ หากมีการใช้ยากระตุ้นที่แรงเกินไป มันอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้การเติบโตไม่สมดุล เพราะมันมีทั้งการก่อหนี้ และการแจกเงินที่มากเกินจำเป็น ทั้งๆ ที่เงินก้อนนี้ควรจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการทำอย่างไร...เศรษฐกิจไทยจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่า”
Helicopter Money แบบไหนจึงจะเหมาะสม :
“ผมไม่ปฏิเสธว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความสมดุลมันต้องมี ช่วยเหลือได้ไม่แปลก แต่หากมองไปที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่ามันมีส่วนต่างอยู่เพียงเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ประมาณสัก 0.5% ซึ่งหากตีออกมาเป็นตัวเลขกลมๆมันก็จะอยู่ที่เพียงประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการอัดฉีดในระดับ 100,000 ล้านบาท นั้น ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่ามีความเหมาะสม
แต่เท่าที่ได้เห็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองในเวลานี้ น้อยที่สุดมันก็ประมาณ 300,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ส่วนบางพรรคที่มากๆ ก็ขึ้นไปถึง 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นมันก็เป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นไปค่อนข้างมากเลยทีเดียว”
Helicopter Money กับ อันตรายในอนาคต :
“นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังหาเสียงกันอยู่ในเวลานี้ ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ณ ปัจจุบัน ภาพอันตรายมันอาจจะยังไม่เห็น แต่ผมเชื่อว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้ามันมีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก ซึ่งหากถามว่าเพราะอะไร...ก็เพราะระบบเศรษฐกิจมันมีความสามารถในการรองรับความไร้ประสิทธิภาพได้ในระดับหนึ่ง แต่พอเรามองไปในระยะยาวมันจะเริ่มไม่ไหว ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ มันก็เหมือนกับต้มกบในหม้อ ซึ่งกบอาจสามารถทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่งกบมันก็จะสุกแล้วก็ตายไปเลย
ฉะนั้น...สิ่งที่บรรดานักวิชาการต่างๆ พยายามจะออกมาเตือนกัน คือ ระวังกันหน่อยนะ...ตอนนี้น้ำ มันเริ่มจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เราช่วยกันคิดกันหน่อยดีไหมว่า จะทำอย่างไรให้มันเกิดประสิทธิภาพ หรือจะทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้มากที่สุด อันนี้ต่างหากคือหัวใจสำคัญ
และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผมอยากฝากให้ทุกคนได้ร่วมกันคิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมักจะไม่รวดเร็วหวือหวา เพราะมันต้องมีการปรับโครงสร้าง การไปทำอะไรเพื่อให้มันเติบโตเร็วๆ แล้วมันไม่มีรากฐานที่ดี มันก็เหมือนการสร้างปราสาททราย ซึ่งเมื่อไหร่ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติมันก็พร้อมจะพังครืนลงมาได้โดยง่าย” ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง