เหตุใด? นโยบายประชานิยมและการประกาศเงื่อนเวลาว่าจะทำทันที อาจนำไปสู่การถูกยุบพรรคได้...

“นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” ในฐานะอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้การกำหนดนโยบายใดของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน นอกจากให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแล้ว การประกาศนโยบายนั้นอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ 1. วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ซึ่งมีกำหนดเส้นตายที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องส่งคำชี้แจงไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า...

สำหรับข้อกฎหมายนี้ในความเห็นส่วนตัว เชื่อว่า กกต. จะมีอำนาจเพียงการกำกับให้แต่ละพรรคการเมืองต้องส่งคำชี้แจงดังกล่าวมาให้กับทาง กกต. เท่านั้น อย่างไรก็ดี หากพรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกต. ก็จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

...

ส่วนหากถามว่า กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการตีความว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใดที่เป็นไปไม่ได้ เข้าข่ายเกินจริง หรืออาจทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายทางด้านวินัยการเงินการคลังหรือไม่นั้น ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า กกต. ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยดังกล่าว!

“ผมเชื่อว่า กกต.ไม่มีอำนาจการวินิจฉัยในประเด็นนี้ หรือหากในกรณีที่มีอำนาจ คำถามคือ กกต.จะมีเวลามากพอสำหรับการวินิจฉัยได้อย่างไร เพราะมันเป็นประเด็นเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งผมก็เชื่อว่า กกต. คงจะดูร้อยพันนโยบายไม่ไหวหรอก เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ส่วนหากถามว่าแล้วแบบนี้ กกต. จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เท่าที่ผมได้ติดตามข่าวมา กกต.น่าจะมีความตั้งใจเพียงนำเอานโยบายทั้งหมดนี้ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ กกต. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปรับชมและพิจารณาเท่านั้น ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ก็คงเหมือนกับการทำเพียง รับทราบ และพิจารณาเพียงว่ามีการชี้แจงครบทั้ง 3 ข้อหรือไม่”

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 :

วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ คือ :

“ผมขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้แล้วกัน สำหรับประเด็นเรื่องวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ มันก็คือ พรรคการเมืองจะต้องชี้แจงว่า นโยบายข้อนี้ต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไรต่อปี และเงินทั้งหมดเท่าไหร่ต่อปีนี้ มาจากแหล่งที่มาของงบประมาณจากส่วนไหน เช่น 1. ต้องจัดเก็บภาษีเพิ่ม หรือ 2. ปรับลดงบประมาณในส่วนรายการที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องมีการชี้แจงด้วยว่า จะปรับลดในส่วนไหนบ้าง?”

ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย คือ :

“พรรคการเมืองต้องวิเคราะห์ว่านโยบายดังกล่าวทำไปแล้ว เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างไร หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ แสดงให้เห็นถึงข้อดีของนโยบายหาเสียงนั่นเอง”

ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย คือ :

“ผลกระทบและความเสี่ยงก็คือ พรรคการเมืองจะต้องชี้แจงว่า เมื่อดำเนินนโยบายนี้ไปแล้วมันจะกระทบกับอะไรบ้าง เช่น พอมีการใช้งบประมาณไปกับนโยบายนี้ไปแล้ว อาจทำให้งบกลางฯ หรืองบสำหรับการลงทุนน้อยลง และมีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จ เพราะอาจไปขัดต่อกฎหมายอื่นๆ เป็นต้น”

นโยบายใดที่เข้าข่าย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 :

“หากนโยบายใดที่เป็นการใช้เงินงบประมาณก็ถือว่าเข้าข่ายกฎหมายนี้ทั้งหมด และที่น่ากังวลคือ หากเป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และเกิดมีผู้ไปร้องขึ้นมา เชื่อว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรแน่ๆ (หัวเราะ) เพราะอาจเป็นการกระทำความผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญาว่าจะให้คนและชุมชน และ มาตรา 73 (5) การหลอกลวงให้เกิดความสำคัญผิดได้”

...

นโยบายหาเสียงที่อาจนำไปสู่การยุบพรรค :

“ในกรณีที่เกิดมีผู้ร้อง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันก็ต้องยอมรับว่าอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ เพราะ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 ถือเป็นมาตราหลักในเรื่องของการทุจริตการเลือกตั้ง ก็คือ...ใครทำคนนั้นก็ต้องรับผลไป ซึ่งในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองทำ พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบด้วย (หัวเราะ)”

เหตุใดการประกาศกำหนดเงื่อนเวลาจึงอาจนำไปสู่ปัญหา :

“ณ ปัจจุบัน ความเห็นส่วนตัวคิดว่ามีหลายพรรคการเมืองที่อาจเข้าข่ายทำผิดในกรณีได้ เนื่องจากมีการออกนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากๆ และมีการกำหนดเงื่อนเวลาเอาไว้ชัดเจน อันเป็นผลมาจากการที่มักจะชอบระบุเอาไว้ว่าจะทำทันที (หัวเราะ) ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองบางพรรคในอนาคตได้เช่นกัน!

ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองชี้แจงถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ สำหรับนำไปใช้ในนโยบายหนึ่งว่า จะนำมาจากการเพิ่มการจัดเก็บภาษี แบบนี้มันก็ไม่รอด เพราะการจัดเก็บภาษีมันจะต้องรอไปอีกหนึ่งปีถึงจะรู้ได้ว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เท่าไร เพราะการจะมาจัดเก็บระหว่างปีแล้วมาปรับยอดกันมันทำยาก หรือ หากระบุว่าจะมีการปรับลดงบประมาณในรายการที่ไม่จำเป็น ปัญหาคือ...รายงานการจัดทำงบประมาณมันมีการตั้งเอาไว้หมดแล้ว ซึ่งโดยสัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 80:20 คือ 80 เป็นงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายตามกฎหมาย และ 20 เป็นงบลงทุน ซึ่งงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายตามกฎหมายนี้มันไปแตะต้องไม่ได้ เพราะคุณจะไปลดเงินเดือนข้าราชการ หรือจะไปขอไม่ใช้หนี้ในปีนี้ได้อย่างไร หรือคุณจะไปไม่จ่ายงบผูกพันของปีก่อนๆ ที่ผูกพันมาถึงปีนี้ได้อย่างไร? เป็นต้น

...

หรือเอาละ...งบลงทุน คุณอาจปรับลดลงมาได้ แต่เมื่อคุณปรับลดงบลงทุน คุณก็ต้องเติมงบลงทุนกลับเข้าไปอยู่ดี เพราะมันมีกติกาว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี เพราะฉะนั้น แม้คุณจะตัดงบจัดซื้อรถถังไป คุณก็ต้องสร้างโรงเรียน หรือถ้าคุณตัดงบจัดซื้อเรือดำน้ำ คุณก็ต้องสร้างโรงพยาบาล (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นแม้คุณจะตัดงบซื้อเครื่องบิน F-16 คุณก็ไม่สามารถนำมาจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้กับประชาชนได้เช่นกัน...ซึ่งมันก็ไปไหนไม่รอด

ทีนี้หากคิดจะไปปรับลดงบกลางฯ ได้ไหม...เอาละ งบกลางฯ ก็มีการตั้งขึ้นมาจริง แต่ว่า...งบกลางฯ เป็นการตั้งงบประมาณเผื่อเอาไว้ในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินระหว่างปี ทีนี้ถ้าหากว่าคุณเอางบกลางฯ ไปหมด ถ้าหากว่าในระหว่างปีมันเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา...ประเทศก็ไม่มีเงินใช้ ฉะนั้นการประกาศนโยบายที่ต้องใช้เงินมากๆ ในระดับ 5 แสนล้านบาทหรือมากกว่านั้น และประกาศว่าจะทำทันที มันจึงอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้!

แต่กลับกัน...ในกรณีที่ไม่ได้มีการประกาศเงื่อนเวลาเอาไว้ว่าจะทำเมื่อไหร่ หรือพลาดท่าไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดี่ยวขึ้นมา แบบนี้มันก็อาจจะมีช่องทางในการหลีกเลี่ยงได้อยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)” นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวปิดท้ายการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

...

**หมายเหตุ มีรายงานจากแหล่งข่าวใน กกต. ระบุว่า สิ้นสุด ณ เวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 เม.ย. มีพรรคการเมืองส่งคำชี้แจงนโยบาย ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 57 รวมกันแล้วทั้งสิ้น 25 พรรคการเมืองจากทั้งหมด 70 พรรคการเมือง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :