รับฟังการวิเคราะห์นโยบายประชานิยมพรรคการเมืองไทย กับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง จาก “ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI...
รับฟังทัศนะและข้อคิดจาก “ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ในประเด็นเรื่อง "นโยบายประชานิยม" กับความเป็นไปได้ที่สัมพันธ์กับสถานะทางการคลังของประเทศ รวมถึงวิสัยทัศน์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่รัฐบาลไทยชุดใหม่อาจต้องเผชิญหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ผ่านการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"
...
นโยบายประชานิยม กับคำถามที่นักการเมืองต้องตอบประชาชน :
“ผมขอพูดแบบนี้ครับ...นโยบายประชานิยมที่น่าเป็นห่วงมีอยู่ด้วยกัน 2 มิติ คือ มิติแรก หากมีการใช้เงินเยอะ มันก็อาจจะไม่มีเงินมาให้ใช้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นนักการเมืองก็ต้องหาคำตอบให้กับประชาชนให้ได้ว่า เพราะอะไรจึงทำไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญซึ่งต้องไม่ลืมคือ ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นภายใต้แบ็กกราวนด์ที่ว่า เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วยังมีความเสี่ยงอยู่!
สำหรับมิติที่ 2 คือ สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไปจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ คือ ภาพของการวางแผนระยะยาวว่ามันคืออะไร? ซึ่งไม่ค่อยมี...ซึ่งเอาละ! อาจจะมีบางคน...บางที่ปรึกษาของพรรคการเมือง ที่ออกมาพูดแล้วมีแผนที่มองยาวไปข้างหน้า แต่เมื่อมองไปที่แคมเปญหาเสียงของพรรคการเมือง กลับไม่มีนโยบายอะไรที่เป็นไปในแนวทางนั้นเลย มันดูเป็นการมองในระยะสั้นไปเสียหมด
อย่างไรก็ดี...ส่วนตัวผมมีความหวังว่า หลังการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อาจจะ...มีการวางแผนระยะยาวด้านเศรษฐกิจเอาไว้แล้วก็เป็นได้ เพียงแต่ในช่วงนี้อาจจะไม่มีการพูดถึงเพราะมันอาจจะไม่ป๊อปปูลาร์มากพอสำหรับการหาเสียงก็เป็นได้...อันนี้คือสิ่งที่คาดหวังเอาไว้นะครับ!”
ประชานิยม กับนโยบายสวัสดิการ :
“ต้องแยกแบบนี้ครับ ถ้าเป็นประชานิยมมากๆ ผมไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้าเป็นบางเรื่องที่ดูแล้วเป็นนโยบายสวัสดิการหรือความคุ้มครองทางสังคมที่ดี แต่กลับถูกนำไปเหมารวมเรียกเป็นนโยบายประชานิยม เช่น นโยบายช่วยเหลือเด็กแรกเกิดซึ่งผมเห็นเกือบทุกพรรคนำเสนอ ผมขอไม่เรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม และไม่อยากให้ทุกคนเหมาเข่งว่าเป็นนโยบายประชานิยม เพราะมันคือนโยบายสวัสดิการที่ดี และจะนำไปสู่ผลตอบแทนคืนมาในอนาคตที่คุ้มค่ามาก”
ทีมเศรษฐกิจ ภายใต้ การเมือง :
“หากผมเป็นทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพรรคการเมือง ผมก็คงหนักใจพอสมควรนะครับ (หัวเราะ) เพราะหากมีแผนระยะยาวด้านเศรษฐกิจ แต่พอมาเจอพรรคการเมืองหาเสียงแนวประชานิยมกันแบบนี้ มันก็อาจจะเกิดจุดที่ไม่ลงตัวกันภายในพรรค หรือภายในรัฐบาลชุดต่อไประหว่างคนที่มองสั้น กับมองยาว ก็เป็นได้ (หัวเราะ)
ส่วนตัวผม ก็คงได้แต่หวังว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะหาจุดที่สมดุลระหว่างกันได้ ก็คือ...ทำทั้งสองส่วน ส่วนที่หาเสียงไว้ก็ทำไปบางส่วน และพยายามอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ว่า ขอเวลาหน่อยนะที่สัญญาไว้...จะทำจริงนะ แต่ไม่ใช่ทำทันที ขอเวลาสัก 4 ปี แบบนี้มันอาจจะอยู่ในวิสัย แล้วในระหว่างนั้นก็ทำอะไรที่เป็นนโยบายระยะยาวไป โดยเฉพาะเรื่องการสร้างงาน และนโยบายด้านพลังงาน แบบนี้เป็นต้น”
...
เศรษฐกิจไทย กับหนี้สาธารณะ :
“น่าเป็นห่วงแน่นอน เพราะว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีตัวเลขหนี้สาธารณะสูงถึงเกือบ 60% ของ GDP อันเป็นผลจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง...งบประมาณปัจจุบันก็ยังขาดดุลอยู่ และแม้มองไปอีก 4-5 ปีข้างหน้าก็น่าจะยังคงขาดดุลอยู่ เพราะฉะนั้น...หากมีการโหมนโยบายประชานิยมที่มีการใช้เงินกันมากๆ ถึงขั้นมีการใช้เงินในระดับ 4-5 แสนล้านบาทและทำทันทีด้วย!
ตัวอย่างเช่น นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ จากเดิมที่ในเวลานี้จ่ายกันอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านบาท แล้วขึ้นมาทันที 4-5 แสนล้านบาทแบบนั้น ก็หมายความว่า การจัดทำงบประมาณในแต่ละปีนับจากนี้เป็นต้นไปจะขาดดุลเพิ่มขึ้น 4-5 แสนล้านบาท หรือ เกือบ 3% ของ GDP ทุกปี จากเฉพาะนโยบายเพียงนโยบายเดียว
ซึ่งถ้าหากสมมุติว่ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี ปีละ 3% รวมกันเป็น 12% แล้วหนี้สาธารณะทุกวันนี้อยู่ที่เกือบ 60% ก็จะขึ้นเป็น 72% ภายใน 4 ปี จากนโยบายเพียงนโยบายเดียว! คำถามของผมคือ...เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน? และถ้าหาไม่ได้ก็มีทางเดียวคือ...ต้องกู้ แต่กรอบกฎหมายก็ห้ามเอาไว้อีกว่าไม่สามารถขาดดุลได้มากกว่านี้อีกแล้ว หรือถ้าจะขาดดุลมากกว่านี้ ก็ต้องทำกฎหมายพิเศษเหมือนช่วงโควิด-19 ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนั้นอีกก็อันตรายมาก”
...
นโยบายประชานิยม กับความเป็นไปได้ในเรื่องที่มาของเงิน :
“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก...บางพรรคก็พูดหรือมีพรรคที่ไม่พูดเลยก็มี (หัวเราะ) แต่บางพรรคที่พูด ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า...ยังไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไร เพราะในภาพรวมแล้วแหล่งที่มาของเงินที่มีการพูดขึ้นมา ยังไม่น่าไว้ใจหรือชัดเจนมากนัก...ว่าจะทำได้แบบนั้นจริง หรือบางทีก็ดูแล้วเหมือนจะมองโลกในแง่ดีมากจนเกินไป เพราะบางทีไปคาดหวังว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งเอาละบางที!...อาจจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้จริง...ปีนี้กับปีหน้าเป็นไปได้ว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มกว่าที่กระทรวงการคลังประมาณการไว้ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่สักประมาณสัก 2-3 แสนล้านบาท
แต่ว่าตรงนั้น...หากเป็นไปได้ควรจะนำไปใช้สำหรับที่เกิดประโยชน์จริงๆ ในระยะยาว เช่น การลดหนี้ หรือลดการขาดดุลลงมากกว่า (เน้นเสียง) และไม่ควรนำไปเพิ่มรายจ่ายที่ไม่จำเป็น”
...
สถานการณ์เศรษฐกิจโลก :
“สำหรับปัญหาวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ณ เวลานี้ ต้องยอมรับว่าอย่างน้อยถือว่าสงบลงได้ชั่วคราว หลังทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ หรืออียู สามารถออกมาตรการแก้ไขต่างๆ ได้เร็วจนกระทั่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง
ส่วนหากถามว่า วิกฤติธนาคารครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะเกิดขึ้นอีกได้หรือไม่? ในความเห็นของผมก็คือ สาเหตุมันเกิดขึ้นจากการมีปรับสภาพพื้นฐาน โดยเริ่มจากนโยบายการเงิน เพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อมันก็ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ไปพร้อมๆ กับการที่ เฟด ต้องดูดเงินออกจากระบบด้วย ซึ่งทางฝั่งสหภาพยุโรป หรืออียู ก็ทำคล้ายๆ กัน
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ว่านี้ มันเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่สูงมากๆ ซึ่งแทบไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบเกือบ 40 ปี เพราะฉะนั้นมันจึงมีความไม่คุ้นเคยของระบบการเงินโลกขึ้น เพราะบรรดาธนาคารต่างๆ ไม่เคยต้องอยู่ในสถานะแบบนี้มาเนิ่นนาน และเมื่อผนวกเข้ากับที่ก่อนหน้านี้ เคยมีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบจำนวนมากผ่านมาตรการ Quantitative Easing หรือ QE Tapering ทำให้เมื่อมีความพยายามดูดเงินออกจากระบบ ผลกระทบจึงเกิดขึ้นตามมาทันที
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ซึ่งมันเกิดขึ้นเนื่องจากว่า นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจเรื่องมูลค่าตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งธนาคารถืออยู่จำนวนมาก เพราะเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นเท่าไร ราคาของตราสารหนี้จะปรับลดลงมากเท่านั้น และพอธนาคารเกิดปัญหามันก็ไปกระทบกับบรรดาธุรกิจต่างๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชน จนนำไปสู่การแห่ถอนเงินออกจากธนาคารในท้ายที่สุด
ฉะนั้นหากถามต่อไปว่า...กรณีที่เกิดขึ้นกับ SVB สามารถเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆ ได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ใช่เพียง SVB เท่านั้นที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในเวลานี้ อีกทั้งไม่ใช่เพียงพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีปัญหา เพราะพันธบัตรของเหล่าประเทศในแถบยุโรปต่างก็เจอกับปัญหาแบบนี้ เช่นเดียวกันทั้งหมด เพราะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อเช่นเดียวกับสหรัฐฯ นั่นเอง ฉะนั้น มันจึงไม่ต่างอะไรกับ...ระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่
สำหรับกรณี SVB สงบลงได้เพราะ เฟด ประกาศรับประกันเงินฝากทุกดอลลาร์ ชาวอเมริกันจึงเกิดความเชื่อมั่น แต่คำถามคือ...หากมันเกิดขึ้นกับธนาคารแห่งอื่นๆ อีก จากนี้เป็นต้นไป เฟด จะมีกำลังมากพอที่จะไปรับประกันเงินฝากทุกดอลลาร์ของธนาคารเหล่านั้นอีกหรือไม่? ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า...ไม่น่าจะเป็นไปได้! (เน้นเสียง) เพราะฉะนั้น...ระเบิดเวลาลูกนี้จึงยังมีอยู่ และยังวางใจไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงตามมา คือ การชักเย่อระหว่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ เฟด กับการที่ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปเท่าไร เพราะหากลองไปสังเกตให้ดีๆ ในช่วงหลังๆ จะเห็นได้ว่าระหว่าง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และ ตลาด เริ่มจะมองกันไปคนละทิศคนละทางแล้ว
เพราะปัญหาตอนนี้ คือ นายเจอโรม พาวเวลล์ เขาก็ปากเปียกปากแฉะว่า ดอกเบี้ยจะไม่ลด แต่ตลาดกลับไม่เชื่อ ตลาดเขาเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเฟดจะลดดอกเบี้ยลงภายในปีนี้ ซึ่งไอ้ตรงนี้ที่มันแย่! เพราะถ้าทุกคนเชื่อ เฟด มันก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า Soft Landing คือ เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ลดความร้อนแรงลง และไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่คราวนี้เมื่อตลาดไม่เชื่อ เฟด การชักเย่อที่ว่านี้มันจะนำไปสู่ Hard Landing หรือ Recession ที่มันตกลงมาแรงๆได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่อีกลูกหนึ่งที่ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด
ส่วนหากถามว่าวิกฤติครั้งนี้จะรุนแรงเท่ากับ ปี 2008 หรือไม่...ส่วนตัวผมคิดว่ามีโอกาสอยู่ แต่โอกาสไม่สูงมากนัก”
วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย :
“สำหรับประเทศไทย วิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ คงบอกได้ว่า ไม่กระทบ เพราะข้อแรกสถานการณ์มันสงบลงแล้ว ข้อที่สอง ธนาคารไทย สถาบันการเงินไทย หรือนักลงทุนไทย ที่ไปเชื่อมโยงกับบรรดาธนาคารต่างๆ ที่มีปัญหา...มันน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นเมื่อทางนั้นสงบทางเราจึงไม่มีอะไรที่น่าห่วง อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของสถาบันการเงินไทย มีความแข็งแกร่งกว่าเมื่อสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งมากด้วย
ฉะนั้น หากจะเกิดอะไรที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย มันจะต้องเป็นไปในลักษณะที่มี ธนาคารล้มตามๆ กันมาอยู่เรื่อยๆ หรือเกิด Recession ซึ่งหากเป็นแบบนั้น...กระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ภาคการส่งออกที่จะย่ำแย่ลง เศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาด และหากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ...ปัญหาสารพัดที่ซุกซ่อนไว้ใต้พรม มันก็จะค่อยๆโผล่ขึ้นมา โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน หรือแม้แต่กระทั่งภาคการธนาคารไทยที่ว่าแข็งแกร่ง ก็อาจจะหนาวๆร้อนๆ ขึ้นได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน หรือลงไปได้ลึกแค่ไหน และ Recession จะแรงแค่ไหน”
ประเทศไทย กับ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม :
“เห็นด้วยนะ! แต่ว่า...ควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ขึ้นปีละ 1% จาก 7% เป็น 8% พอปีต่อไปอาจจะเพิ่มเป็น 9% แบบนี้ผมว่า...ก็น่าจะเป็นผลดี แต่ที่อยากเสนอมาก ๆ คือ หากจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีการจัดทำสัญญาประชาคมด้วยว่า เงินที่ได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มทุกบาททุกสตางค์ จะต้องนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือคนยากคนจนจริงๆ แบบนี้ผมเห็นด้วย”
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน :
“ผมขอตอบแบบนี้ครับ...หากจะทำให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวและยั่งยืน มันมีอยู่สัก 2-3 เรื่องที่ควรจะต้องทำ เช่น 1.การเพิ่ม Productivity ให้กับแรงงาน 2.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Digital หรือ Digital Infrastructure
โดยเฉพาะการให้มีอินเทอร์เน็ตใช้ได้คลอบคลุมทุกจุดทั่วประเทศ และถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นการเปิดให้ประชาชนใช้ฟรี หรืออย่างน้อย ต้องมีราคาที่ถูกมากๆ เพราะปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ในประเทศของเรา คนเมืองเท่านั้นถึงจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีใช้ แต่คนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลกลับไม่มีโอกาสนั้น ซึ่งมันเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ซึ่งสำหรับผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยควรเร่งดำเนินการอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะการลงทุนสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ผลตอบแทนคุ้มค่าครับ" ดร.สมชัย จิตสุชน ปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง