ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลประชากรสัญชาติไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 66,080,812 คน ในจำนวนนั้นมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.9 ล้านคน หรือมากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด
แนวโน้มผู้สูงอายุในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกไม่ถึง 10 ปี จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด แต่การสร้างความมั่นคงในด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุในการดูแลตัวเองในช่วงที่เหลือของชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะยังมีผู้สูงอายุอีกเป็นจำนวนมากขาดรายได้ไม่มีเงินออม หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหลังเกษียณอายุ และด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูแลตัวเอง รวมถึงลูกหลาน
ตัวเลขผู้สูงอายุที่มีสิทธิเลือกตั้งปี 2566 มีจำนวน 14,378,037 คน หรือ 27.48% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,322,824 คน ทำให้เกือบทุกพรรคการเมืองต่างชูนโยบายหาเสียงหลากหลายแข่งขันกันอย่างดุเดือด หวังได้คะแนนเสียงจากผู้กลุ่มสูงอายุ ทั้งการเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินผู้สูงอายุ การขยายเบี้ยยังชีพ สร้างบำนาญถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 แต่ละพรรคการเมืองต่างจัดหนักจัดเต็มปล่อยนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุชัดเจนมากขึ้น
...
- เริ่มจากพรรครวมไทยสร้างชาติของ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกาศมาแล้วถ้าเป็นรัฐบาลจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกช่วงอายุ จากเดิมเป็นแบบขั้นบันได 600-1,000 บาท และยังมีนโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ
- ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย หวังแลนด์สไลด์ จะได้จัดตั้งรัฐบาล แม้ยังไม่ปล่อยนโยบายผู้สูงอายุออกมาอย่างเต็มที่ แต่ประกาศจะเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้บริการโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน ไม่ต้องรอพบแพทย์นานเป็นครึ่งวัน และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
- ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณแบบภาคบังคับ พร้อมการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อจะได้มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง รวมถึงการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ และการอยู่ร่วมกันในสังคม และส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ
- มาที่พรรคพลังประชารัฐของ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นหัวหน้าพรรค จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ในรูปแบบ 3 4 5 และ 6 7 8 ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน โดยอายุ 60 ปีขึ้นไปรับเบี้ย 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 5,000 บาทต่อเดือน และจะขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 63 ปี พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อผู้สูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ และทำอาคารรองรับผู้สูงอายุ
- ขณะที่พรรคก้าวไกล นำเสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับรายได้ให้เพียงพอกับการยังชีพ และสร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง การสมทบเงินเข้ากองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น โดยมีการจ้างผู้ดูแลเฉลี่ย 1 คน ต่อผู้ป่วย 2 คน
- พรรคภูมิใจไทย เสนอนโยบายกองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไปได้รับสิทธิทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต เมื่อเสียชีวิตได้เงิน 1 แสนบาท เป็นมรดกให้ลูกหลาน และขณะมีชีวิตสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีคนค้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ สามารถนำไปต่อยอดในการลงทุน ไม่เป็นภาระลูกหลาน
- พรรคไทยสร้างไทย ชูนโยบายมาตั้งแต่ต้นในการเพิ่มเบี้ยคนชรา 3,000 บาทต่อเดือน โดยเฟสแรกช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอ และนำเสนอบำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน มีเป้าหมาย 5 ล้านคน ให้คนเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจและภาคบังคับ เพื่อสร้างระบบบำนาญประชาชนในระยะยาว จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว จากการที่ผู้สูงวัยนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- ส่วนพรรคชาติพัฒนากล้า จะเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจ ผ่านนโยบาย "ยุทธศาสตร์สีเงิน" โดยการให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ 500,000 ตำแหน่ง และมีกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ตั้งเป้าไว้ 4 ล้านครัวเรือนในปีแรก
- พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดตัวนโยบาย “WOW THAILAND” Wealth Opportunity and Welfare for All สร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ
- มาถึงพรรคเล็ก เริ่มจากพรรคเสรีรวมไทย เสนอนโยบายขยายอายุเกษียณข้าราชการ จาก 60 ปี มาเป็นอายุ 65 ปี และเพิ่มบำนาญประชาชนที่ไม่มีรายได้ หลังอายุ 65 ปี คนละ 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนพรรคประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอนโยบายเพิ่มสวัสดิการเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ขณะที่พรรคไทยศรีวิไลย์ ชูนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,000 บาทต่อเดือน
เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กระทบคลัง ประเทศเสี่ยงล่มจม
จากการรวบรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของแต่ละพรรคการเมืองในช่วงดีเบตหาเสียง อาจจะทำได้จริงหรือไม่นั้นต้องติดตามกันต่อไป หลังจบศึกเลือกตั้งและพรรคใดจะเป็นรัฐบาล แต่น่าจะใช้เงินมหาศาล จึงเกิดคำถามแล้วจะนำงบประมาณมาจากส่วนใด? เรื่องนี้มีคำตอบจาก "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า อย่างแรกในการจะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงโดยส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง หรือบางพรรคการเมืองจะให้มากกว่านี้ ถือเป็นเงินอุดหนุนในระยะสั้น เพราะยังสามารถดีเบตกันได้ในช่วงนี้ว่าเหมาะสมหรือไม่
แต่ตามหลักการวิชาการเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะจะสร้างภาระทางการคลังมากเกินไป หากเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือนจากจำนวนผู้สูงอายุ 12 กว่าล้านคน ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 4 แสน 3 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี หรือถ้าในอนาคตจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีก 7 แสนกว่าล้านบาทต่อปี
“ในระยะสั้นช่วงพรรคการเมืองกำลังดีเบตจะไม่บอกว่านโยบายนี้เหมาะสมหรือไม่ แต่ในระยะยาวจะเป็นการทำลายระบบการเตรียมความพร้อม เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ต้องให้คนเตรียมพร้อมในระดับหนึ่ง ทั้งด้านการทำงานหาเงินและเก็บออม หากไม่ส่งสัญญาณให้เตรียมตัวก็จะสร้างภาระทางการคลัง อาจทำให้ประเทศเดินไปต่อไม่ได้ จากระบบสวัสดิการที่ทำให้ไทยอยู่ไม่ไหว หรือจะต้องเลือกเก็บภาษีเพิ่มกับประชาชน”
ขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มีการเก็บภาษีกับประชาชนเป็นจำนวนมาก เพราะมีระบบบำนาญ และประกันครอบคลุม ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ดีและมีระบบคุ้มครองที่ดีพอสมควรกับคนในประเทศ และการเพิ่มเบี้ยยังชีพในการนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองในไทย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีความเหมาะสม
...
เมื่อนโยบายเหล่านี้ในระยะยาวไม่เหมาะสม ก็ควรต้องใช้กลไกร่วมจ่าย โดยประชาชนออกส่วนหนึ่งและรัฐออกอีกส่วน มีการสร้างแรงจูงใจให้คนออมเงิน เพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ ทั้งนี้จึงอยากเสนอให้พรรคการเมืองมองว่าผู้สูงอายุในขณะนี้ขาดคนดูแลเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมีคนดูแลก็ทำให้คนดูแลรับผลกรรม ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะลูกอาจต้องลาออกจากงานมาดูแล กลายเป็นคนไม่พร้อมในอนาคต หากวันหนึ่งต้องการกลับไปทำงานแต่ห่างจากการทำงานไปนานทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของนายจ้าง
ข้อเสนอดูแลผู้สูงอายุ ลดการพึ่งพิงครอบครัว
การดูแลผู้สูงอายุ ข้อแรกจะต้องทำอย่างไรเพื่อลดการพึ่งพิงจากครอบครัว ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคควรต้องไปดีเบต ข้อสองในเรื่องการพัฒนาที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ แม้ปัจจุบันมีศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือ Senior Complex แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และผู้สูงอายุมักอยากอยู่ใกล้กับครอบครัว เพราะฉะนั้นควรสร้างในชุมชนให้สามารถผนวกกับคนในครอบครัวได้ โดยมีชุมชนเข้ามาโอบอุ้ม เป็นอีกโจทย์ที่อยากให้พรรคการเมืองมุ่งเน้น
...
ข้อสุดท้ายในเรื่องช่องว่างระหว่างวัย จากในอดีตที่เชื่อว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือสำนวนอาบน้ำร้อนมาก่อน ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะเด็กรุ่นใหม่เล่นมือถือ มีทักษะด้านเทคโนโลยี ควรต้องทำอย่างไรให้คนสองวัยมาผนวกระหว่างกันให้ได้ จะต้องเสริมให้มากขึ้นในการเชื่อมต่อกิจกรรมระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการพัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนมากขึ้น
“เท่าที่เห็นนโยบายผู้สูงอายุของแต่ละพรรค เน้นเรื่องหลักประกันด้านรายได้ แต่ยังคิดไม่สุดในหลายเรื่อง อยากให้ระบบการคลังเป็นระบบร่วมจ่ายจะสร้างความยั่งยืนมากกว่า หากยังคงจะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงต้องใช้งบมหาศาล ควรต้องเลือกระหว่างการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น หรือลดรายจ่าย อาจทำให้นโยบายหาเสียงเกิดขึ้นได้ แต่หากทำไปแล้ว ก็ไม่ควรให้คนในประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย”.