นายชวน หลีกภัย กับเป้าหมายจะทำอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในการเลือกตั้ง 2566...

เหตุใดเป้าหมายในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พรรคประชาธิปัตย์จึงควรมุ่งเน้นไปที่...การทำอย่างไรจึงจะได้จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มากเป็นอันดับที่ 2 รวมถึง สมรภูมิเลือกตั้งภาคใต้ฐานเสียงอันมั่นคง และไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาช้านาน หากแต่คราวนี้...ต้องลงทำศึกกับบรรดาเหล่าคนคุ้นเคยหลังการเปลี่ยนถ่ายเลือดครั้งใหญ่ มีแนวทางสำหรับแก้กลศึกครั้งนี้อย่างไร และอะไรคือทัศนะที่มีต่อฉากทัศน์การเลือกตั้ง 2566 ที่ใกล้มาถึง ทั้งหมดนี้รับฟังจาก “นายชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ในวันนี้

พรรคประชาธิปัตย์ กับ ศึกเลือกตั้ง 2566 :

“พรรคประชาธิปัตย์มีการเตรียมความพร้อมไว้เต็มที่แล้ว ส่วนผลจะออกมาอย่างไรคงไม่ไปพยากรณ์ได้ หากแต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ก็คือผลการเลือกตั้งครั้งนี้ กับ ครั้งที่แล้ว น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นระบบบัญชีรายชื่อ อันนี้ผมคิดว่าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลง เพราะสิทธิของผู้เลือกตั้งเปลี่ยนไปจากผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีสิทธิเลือกบัตรสองใบ ก็หมายความว่า แม้จะเลือกผู้แทนพรรคหนึ่ง แต่ก็จะมีสิทธิเลือกบัญชีรายชื่ออีกพรรคหนึ่ง แต่สำหรับคู่แข่งขันแต่ละเขตนั้น ผมคงไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไรครับ”

...

พรรคประชาธิปัตย์ กับ สมรภูมิเลือกตั้งภาคใต้ :

ใช่ครับ...น่าเสียดายที่คนกันเองต้องมาแข่งกันนะครับ เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสกับคน เพราะฉะนั้นคนที่เคยได้ประโยชน์จากพรรค ผมย้ำเสมอนะครับว่า พรรคนี้ให้โอกาส ผมเองก็ได้โอกาส เป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่ได้มีพื้นฐาน มีเงินทอง มีฐานะ มีตระกูลยิ่งใหญ่อะไร แต่ว่าเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาส เพราะถ้าไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ ผมก็คงไม่มีโอกาสได้มาเป็นหัวหน้า แต่ว่าเมื่อได้เป็นแล้ว ก็ได้มาทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองคุ้มกับที่เราตั้งใจจะเป็น

เพราะฉะนั้นผมก็เสียดาย ที่คนหลายคนเก่งๆ ที่ต้องออกไป แต่ว่าในทางการเมือง มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการกรองคนในยามที่พรรคมีปัญหา เวลาพรรคมีชื่อเสียงโด่งดังก็แย่งกันมานะครับ แย่งกันเข้า แต่เวลาพรรคชื่อเสียงไม่โด่งดังก็จะมีคนออก ก็ต้องหาคนใหม่เข้ามา มันก็เป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้ามองในเชิงว่า...มันก็เป็นการพิสูจน์คนว่า...ใครมีความมั่นคงแค่ไหนในยามวิกฤติ มันจะช่วยให้เราได้เห็น

ถึงอย่างไรก็ตาม...ผมมองว่าเที่ยวนี้ น่าจะดีกว่าเที่ยวก่อน ถ้ามองในภาคใต้ แต่ว่าจะดีกว่าอย่างไรนั้น คงต้องดูต่อไป เที่ยวที่แล้ว หลายคนตัดสินใจ...

ข้อแรก ประชาชนเลือกได้เบอร์เดียว เมื่อเขาเลือกผู้สมัครคนไหนก็เลือกพรรคนั้น นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในครั้งนี้

ข้อสอง เที่ยวที่แล้วมีความกังวลเรื่องความมั่นคงของบ้านเมืองจนมองว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจจะเอาไม่อยู่ ก็เลยทุ่มเทไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่านี่เป็นส่วนหนึ่ง เพราะมีหลายๆ คนเลย ที่บอกว่า เขายังไม่ได้ทิ้งนะ แต่ว่าเที่ยวนี้เขาขออนุญาตเพราะเป็นห่วงบ้านเมือง ซึ่งผมว่า สถานการณ์แบบนี้ ในขณะนี้น่าจะลดลงไป เพราะฉะนั้น คนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งก็คงจะกลับมาสนับสนุนเหมือนเดิม ผมยังมองว่าเที่ยวนี้ในส่วนของภาคใต้ ผมยังไม่กล้าพยากรณ์ตัวบุคคลว่าได้เท่าไร แต่คิดว่าน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อ ผมมองว่าจะดีขึ้นครับ

พรรคประชาธิปัตย์ กับ สมรภูมิเมืองหลวง :

...

“เที่ยวที่แล้วไม่ได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้นหากเที่ยวนี้ได้มาสักหนึ่งคน ก็ต้องถือว่าดีขึ้นนะครับ (หัวเราะ) เพราะถึงอย่างไรก็ตาม คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าเดิมเพราะเที่ยวที่แล้วไม่ได้สักคนเดียวเลยครับ (หัวเราะ)

อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า คนที่เขาเคยมั่นคงต่อพรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่ได้มีมุมมองต่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากนักหรอกครับ

แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ผมคิดว่าอย่างน้อย...5 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลานั้นเขาอาจไม่ได้มีมุมมองต่อการเมืองว่า ใครเป็นอย่างไร ใครดีใครร้าย 5 ปี ที่ไม่มีการเลือกตั้ง เกือบจะพูดได้เลยว่า ไม่รู้เลย คนที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง คนก็ลืมไป คนที่ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง คนก็ลืมไป เพราะฉะนั้น ส่วนนั้นหรือช่วงระยะเวลา 5 ปีนั้น เป็นส่วนสำคัญมาก!

ดังนั้น...4 ปีต่อเนื่องที่มาถึงตอนนี้ ผมคิดว่า ความตื่นตัวทางการเมืองก็ได้มีโอกาสทำงานต่อเนื่อง ผมก็หวังว่าความต่อเนื่องนี้ จะต่อเนื่องไปอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งประชาธิปไตยต้องอาศัยความต่อเนื่องนะครับ เพราะถ้าความต่อเนื่องมันเกิดขึ้นได้ ความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตยก็จะเกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้มากขึ้น ผมก็หวังเอาไว้แบบนั้นครับ

...

พรรคประชาธิปัตย์และโอกาส หลังการเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ :

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงมันก็มีอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่มากแล้วแต่น้อย เพราะคนแต่ละรุ่นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นะครับ ตามอายุขัย เช่น เมื่อ 54 ปีที่แล้ว ผมเข้ามาเป็นคนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่รุ่นเดิมที่เป็นหลักมั่นคงอยู่ เช่น ท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายใหญ่ ศวิตชาติ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ แต่เมื่อท่านเหล่านั้นออกไป กลุ่มพวกผมที่เข้ามาเป็นรุ่นกลาง ปัจจุบันนี้ก็เหลือเป็นรุ่นปลาย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาของมันอยู่เสมอ

แต่เที่ยวนี้ ที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ตรงที่ว่า มีคนออกไปจากพรรคมาก (ลากเสียง) เที่ยวนี้ก็ต้องยอมรับกันจริงๆ ว่า ไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 ที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในการเลือกตั้งปี 2522 ก็เหมือนกันนะครับ ตอนนั้นก็มีคนออกไปมากเสียจน หลายคนบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์คงจะล่มไป ขณะนั้นยังมีคนชวนผมไปตั้งพรรคใหม่ แต่ผมบอกว่า ผมไม่ไปหรอก เพราะว่า...สมมุติพรรคล่ม ผมก็จะกลับไปสอบเป็นผู้พิพากษาในตอนนั้นนะครับ

แต่ผมเชื่อว่า...วันเวลามันพิสูจน์ของแท้ก็ของแท้ ในที่สุดก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่นเดียวกันนะครับ พรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่โดดเด่นนักในเที่ยวนี้ แต่ว่าในโอกาสต่อไปก็น่าจะไปสู่ในทิศทางที่เหมือนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คือ เมื่อวันเวลาได้ผ่านไป แล้วพรรคทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยืนยัน เชื่อมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมามีจำนวนสมาชิกโดดเด่นแล้วก็เป็นผู้นำในการเมือง ก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอนะครับ แต่เที่ยวนี้...ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โอกาสที่จะเป็นที่หนึ่งคงจะยากลำบากครับ”

...

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กับ กลยุทธ์ลง ส.ส.เขต :

“สำหรับประเด็นนี้ผมเห็นด้วยนะครับ ในกรณีที่ใครอยู่ในพื้นที่ใด ถ้าสามารถลงในพื้นที่ของตัวเองได้ก็ดี แต่นั่นต้องหมายถึงว่าพื้นที่นั้นไม่มีผู้สมัครที่เป็นฐานสำคัญอยู่แต่เดิม เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดการแย่งพื้นที่กันได้”

สายเลือดใหม่พรรคประชาธิปัตย์ ที่น่าจับตา :

“เท่าที่ผมได้มีโอกาสติดตามผ่านสื่อต่างๆ นะครับคนใหม่ๆ บางคน แม้กระทั่งน้องๆ ผู้หญิง เช่น ลูกสาวของคุณชินวรณ์ บุณยเกียรติ หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุงหน้าใหม่ หรือในกรุงเทพฯ รวมทั้งที่อื่นในบางจังหวัด ก็มีแววที่ดีหลายคนนะครับ อันนี้ก็ต้องให้โอกาสเขาครับ”

การเมืองสุจริต VS ธุรกิจการเมือง :

“เที่ยวนี้หลังพ้นจากตำแหน่งประธานรัฐสภาอย่างเป็นทางการแล้ว ผมก็จะออกไปช่วยหาเสียงเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย เหมือนเที่ยวที่แล้ว ที่ผมออกไปทั่วประเทศเพื่อหวังช่วยให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็หวังว่าเผื่อได้คะแนนรวมเป็นที่ 2 แล้วรวมเสียงได้มากก็ตั้งเป็นรัฐบาลได้ ก็ตระเวนไป แต่ว่า...เหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เที่ยวนี้ก็ต้องออกไปช่วยครับ เหมือนอย่างที่เคยช่วย

แต่ว่า...ด้วยสถานการณ์ที่มันไม่เหมือนเดิม ก็รวบรวมพวกเราที่เป็นหลักๆ อยู่ ก็มาแบ่งงานกันทำ เช่น เมื่อยุบสภาแล้ว ก็จะมาแบ่งกันว่า ใครจะไปในพื้นที่ภาคไหน แต่อย่างไรก็ตามก็จะยังคงยึดแนวการเมืองเดิมที่ผมทำมาตลอดชีวิต คือ การเมืองสุจริต อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางนี้ แม้ว่าในช่วงต่อไปนี้ มีแนวโน้มว่ามันจะเป็นระบบการใช้เงินที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น หรือ พูดง่ายๆ คือ ธุรกิจการเมือง ซึ่งมันไม่เคยเป็นผลดีต่อบ้านเมืองเลยนะครับ”

ประชาธิปัตย์ กับ ยุทธศาสตร์หาเสียง :

“พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ทั้งริเริ่มและลงมือทำเรื่องการดำเนินนโยบายที่มีผลต่อความยั่งยืนของประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนะครับ ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา, นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ, นโยบายนมโรงเรียน, นโยบายเบี้ยเลี้ยง อสม. , กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สามารถพิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า นอกจากจะเป็นนโยบายที่ดีและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ประชาชนยังให้การยอมรับด้วย และแม้..ต่อมาภายหลัง บางพรรคการเมืองอาจจะไม่ยอมรับและไม่ทำต่อเนื่อง แต่ก็ไม่กล้ายกเลิกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี...ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกันว่า ประชาชนอาจจะไม่ค่อยได้รู้ว่านโยบายเหล่านั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า นโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ทำจะเน้นไปในเรื่องของความยั่งยืน เพราะไม่ได้มองเพียงเฉพาะเรื่องการหาเสียง แต่มองเรื่องของอนาคตและประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ”

ชวน หลีกภัย กับการเลือกตั้ง 2566 :

“ผมลงเขตมา 11 สมัยนะครับ จนกระทั่งมาเป็นหัวหน้าพรรค กฎหมายเปลี่ยนแปลงไปก็อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อมาตลอดที่ผ่านมา 5 สมัย เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็คงจะอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อครับ”

พรรคประชาธิปัตย์ กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ :

“ผมได้เคยหารือกับ คุณอภิสิทธิ์ ในประเด็นเรื่องอยากให้มาช่วยพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงก่อนหน้านี้นานแล้ว ครับ ซึ่งนอกจาก คุณอภิสิทธิ์ แล้ว ก็ยังได้มีโอกาสหารือกับ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งทั้ง คุณอภิสิทธิ์ และ คุณอภิรักษ์ รวมถึงอีกหลายๆ คน ถือเป็นกำลังและความหวังของพรรคต่อไปในอนาคต หลังจากรุ่นของผมที่จะค่อยๆ ถอยตัวออกไป”

บทบาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในศึกเลือกตั้ง 66 :

“สำหรับประเด็นนี้ ผมยังไม่ทราบเลยนะครับ ยังไม่กล้าตอบ แม้กระทั่งทุกคน ขณะนี้ยังไม่กล้าตอบอะไรเลยเพราะยังไม่ได้รับรายงาน หรือ แจ้งว่า...เช่น ผู้สมัครของเราบางคนในจังหวัด ที่พบผมส่วนตัว ท่านบอก เที่ยวนี้ท่านขอหยุด แต่ท่านไม่ออกจากพรรคแน่ แต่ท่านขอหยุด เป็นต้น สำหรับกรณี คุณอภิสิทธิ์ คงต้องรอถามท่านหัวพรรค และ คุณอภิสิทธิ์ เป็นการส่วนตัว

อย่างไรก็ตามในเรื่องของอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ เราได้มีการพูดคุยกันมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว ถึงการที่จะร่วมกันทำงานกันอย่างไร เพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับมามีความมั่นคงและเป็นความหวังของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราทำต่อเนื่องยาวนานคือประโยชน์ของชาติ และการรักษาระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“แล้วในมุมของท่านคิดว่า บทบาทคุณอภิสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การลงสมัครรับเลือกตั้งกับการช่วยหาเสียงแบบไหนพรรคจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามอีกครั้ง

นายชวน จึงกล่าวตอบว่า “ผมคิดว่า...ถ้าคุณอภิสิทธิ์ลงสมัคร ก็ได้ประโยชน์มากกว่าครับ แต่ก็คงแล้วแต่ว่า คุณอภิสิทธิ์ จะตัดสินใจอย่างไร?”

ฉากทัศน์ ศึกเลือกตั้ง 2566 จากมุมมองของ ชวน หลีกภัย :

“ผมไม่แน่ใจนะครับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้จำนวนรวม สส. ทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อในลำดับที่เท่าไหร่ แต่ส่วนตัวคิดว่า...จะทำอย่างไร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ จึงจะได้เป็นลำดับที่ 2 เพราะเป็นที่หนึ่งคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งก็คงต้องไปขอจากพี่น้องประชาชนว่า จะเลือกใครก็ตามเป็นผู้แทนก็ตาม แต่ในส่วนของการเลือกพรรคขอให้ช่วยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีความมั่นคงยั่งยืน ซื่อสัตย์สุจริต และทำงานให้กับบ้านเมืองมาตลอดเวลา 70 กว่าปี

ส่วนระบบเขตเลือกตั้งนั้น อันนี้ก็คงไม่กล้าไปพยากรณ์ หรือหวังว่าจะได้มากน้อยเพียงใด เพราะเท่าที่ดูจากการทำโพลของหน่วยงานต่างๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นภาพ ณ ขณะนี้ แต่ว่ามันก็ยังพอมีเวลาอยู่ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็หวังว่าพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจหรือตัดสินใจแล้วก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาไตร่ตรองเหตุผล ข้อมูลอะไรทั้งหลายแล้ว ก็อาจจะตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตความอยู่รอดของบ้านเมืองที่ต้องอาศัยนักการเมืองที่ดี นักการเมืองที่สุจริต มาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ซึ่งแน่นอนว่าในจุดนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป

ในความเห็นผมนะครับ เมื่อประชาชนเห็นว่าควรเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งผมเชื่อว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งไปทางนี้ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคก็คงอยากเป็นรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีจุดเด่นอันหนึ่งคือ เป็นฝ่ายค้านก็ได้ เป็นรัฐบาลก็ได้

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า อยู่ที่ผู้บริหารพรรคในอนาคต ครั้งที่ผ่านมาคณะผู้บริหารและสมาชิกลงมติร่วมเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นเที่ยวต่อไปพวกเขาก็ต้องตัดสินใจกันอีกทีหนึ่ง แต่ว่าตอนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยครับ” นายชวน หลีกภัย กล่าวปิดท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง