อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ “เรือหลวงสุโขทัย” ของกองทัพเรือไทย เกิดอับปางจนกระทั่งจมลงสู่ท้องทะเลขณะปฏิบัติภาระกิจลาดตระเวนที่จุด แบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 40 เมตร เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของคืนวันที่ 18 ธันวาคม 2565

ความเก่าแก่ของเรือและการชำรุดที่มองไม่เห็น :

"เรือหลวงสุโขทัย" เข้าประจำการในกองทัพเรือไทยมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2530 หรือ เมื่อ 35 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเหล็กเมื่อแช่อยู่ในน้ำทะเลมายาวนานร่วม 35 ปี ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผุกร่อนขึ้น ถึงแม้จะมีการซ่อมบำรุงตามวงรอบก็ตาม

เพราะการซ่อมบำรุงย่อมไม่สามารถตรวจได้ทุกจุด ว่าจุดไหนมีการเสื่อมสภาพ หรือ ผุพัง ได้ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือตัวเรือมีความยาวมากถึง 80-90 เมตร ฉะนั้น การซ่อมบำรุงจึงอาจตรวจสอบได้เพียงบางจุด ส่วนบางจุดที่อยู่ภายใน หรือ อยู่ลึกเข้าไปในเรือ อาจจะมีปัญหาได้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเกิดเหตุชำรุดหรือไม่ โดยเฉพาะการผุกร่อนของเนื้อในเหล็ก บริเวณท้องเรือซึ่งอาจจะเสื่อมสภาพลงได้ตามอายุการใช้งานที่ยาวนาน

...

“เหล็กเมื่อถูกแช่อยู่ในน้ำทะเลมายาวนานถึง 20-30 ปี สนิมที่อยู่ในเนื้อเหล็กจะทำให้เกิดเป็นฟองอากาศ จากรูพรุนต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน ซึ่งการผุกร่อนเหล่านี้โดยมากจะอยู่ด้านใน ทำให้สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก”

ลำดับต่อมา...แม้เรือรบโดยปกติจะมีค่าจุดศูนย์ถ่วงของเรือ (Center of Gravity) หรือ CG ต่ำ แต่ก็เป็นเรือที่มีน้ำหนักมาก จากการต้องบรรทุกอาวุธยุทธภัณฑ์และกำลังพล ด้วยเหตุนี้ เมื่อออกเรือไปเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย คลื่นลมทะเลไม่ปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องแล่นเรือฟันคลื่นระดับ Sea state 4 (คลื่นปานกลาง คลื่นสูง 1.25 - 2.5 เมตร) หรือ Sea state 5 (มีคลื่นจัด คลื่นสูง 2.5-4 เมตร) เรือที่มีน้ำหนักๆเป็นพันๆตันเมื่อเวลาโดนคลื่นโยนขึ้นไปแล้วตกลงมากระแทกกับน้ำทะเล มันก็จะไม่ต่างอะไรกับการเอารถบรรทุกสิบล้อ 20-30 คัน ทิ้งลงมาบนเรือพร้อมๆกัน จนทำให้เกิดแรงอัดมหาศาลระหว่างบริเวณใต้ท้องเรือกับน้ำทะเลอยู่เกือบตลอดเวลา

มันจึงมีความเป็นไปได้ที่ การผุกร่อนของเหล็กใต้ท้องเรือ อาจทำให้เกิดรูโหว่ขึ้นใต้ท้องเรือในระหว่างที่เรือเผชิญคลื่นลมในทะเลที่ไม่ปกติ และทำให้น้ำไหลเข้าตัวเรือจนกระทั่งทำให้เรือเอียงข้าง และทำให้ระบบไฟฟ้าในเรือขัดข้อง เป็นผลให้เครื่องสูบน้ำในเรือไม่ทำงาน จนต้องไปอาศัยเครื่องสูบน้ำ P250 อย่างไรก็ดี การที่เรือต้องเผชิญหน้ากับคลื่นลมทะเลที่รุนแรงขนาดนั้น เครื่องสูบน้ำ P250 ย่อมไม่สามารถสูบน้ำออกจากเรือได้ทันอยู่แล้วเพราะเรือหลวงสุโขทัยมีขนาดใหญ่ และเมื่อน้ำทะเลทะลักเข้ามาในเรือมากขึ้นๆ จึงเป็นเหตุให้เรือต้องอับปางลงในที่สุด

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น เพราะการหาสาเหตุที่แท้จริงนั้นจะต้องมีการกู้เรือขึ้นมาตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งจากกองทัพเรืออย่างละเอียดอีกครั้งในภายหลัง

คลื่นลมทะเล ณ จุดเกิดเหตุ :

บริเวณที่เรือหลวงสุโขทัยจม อยู่ที่จุด แบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 40 เมตร

ทั้งนี้ ปกติในช่วงมรสุมสภาวะทะเลในบริเวณดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ Sea state 4 หรือ Sea state 5 นอกจากนี้ หากดูจากคลิปที่ถูกถ่ายในระหว่างการกู้ภัย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สภาวะทะเลในเวลานั้นไม่อยู่ในสภาวะปกติ นอกจากนี้ บริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าวในหน้ามรสุมก็มักจะมีเรือบรรทุกสินค้า หรือ แม้กระทั่งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ก็มักจะถูกคลื่นทะเลพัดเกยตื้นชายฝั่งอยู่เสมอๆ

...

ความอันตรายของทะเลฝั่งอ่าวไทยในช่วงมรสุม :

ในช่วงมรสุมฝั่งอ่าวไทย นอกจากคลื่นทะเลจะสูงแล้ว อุณหภูมิในน้ำทะเลจะอยู่ในระดับต่ำในช่วงเวลากลางคืนด้วย ฉะนั้น จึงค่อนข้างอันตรายหากต้องร่างกายต้องอยู่ในน้ำทะเลเป็นเวลานานๆ เนื่องจากร่างกายอาจเกิดอาการช็อกขึ้นมาได้ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่ไม่ได้ถูกฝึกฝนให้อยู่กับทะเลมาอย่างยาวนาน

คำเตือนถึงนักท่องเที่ยวในช่วงมรสุม :

หลังมีการเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวติดชายฝั่งทะเลชื่อดังหลายแห่งในภาคใต้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานราชการต่างๆ จึงควรมีการเพิ่มมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางทะเลในช่วงมรสุมให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย “โศกนาฏกรรมเรือฟีนิกซ์” ที่เกิดอับปางในทะเลบริเวณเกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต จนส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตหลายรายเมื่อปี 2561

ด้วยเหตุนี้ การนำระบบลงทะเบียนเพื่อติดตามนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ช่วยสามารถบอกพิกัดที่ชัดเจนในเวลาที่นักท่องเที่ยว หรือ เรือรับนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุ เพื่อให้ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ทันเวลามาใช้งาน เช่น โครงการ Smart Pier ที่ถูกออกแบบขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรมเรือฟีนิกซ์” จึงควรมีการหยิบยกขึ้นมาใช้งานอย่างจริงจังอีกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...