การค้นหาผู้สูญหายจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยจมลงทะเล ยังไม่สิ้นสุด ล่าสุดบ่ายวันนี้ (20 ธ.ค. 65) พบผู้รอดชีวิตอีก 1 นาย มีรายงานพบผู้ประสบภัยแล้ว 82 นาย เสียชีวิต 6 นาย สูญหายอีก 23 นาย ท่ามกลางความหวังในการค้นหาผู้รอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ แนะนำการเอาตัวรอด ลอยคอข้ามคืนข้ามวัน เพื่อฝ่าเอาชีวิตรอดในน้ำทะเลเย็นจัด

โดยในการแถลงข่าวล่าสุด “พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์” ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยล่ม ว่า เรือลำนี้ใช้งานมาแล้ว 36 ปี ปกติอายุการใช้งานของเรืออยู่ที่ 40 ปี ตามอายุราชการ ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมเรือครั้งใหญ่เป็นเวลา 2 ปี

วันเกิดเหตุมีคลื่นลมแรง ทำให้มีเรือสินค้าจมหลายลำ จากข้อเท็จจริงเบื้องต้น มีน้ำเข้าเรือจำนวนมาก โดยเข้าบริเวณหัวเรือ ทำให้ระบบไฟฟ้าเรือมีปัญหา ทั้งนี้ลูกเรือพยายามสูบน้ำออก แต่ไม่สามารถสูบน้ำได้ทัน ทำให้มีน้ำทะเลไหลบ่าเข้ามาจำนวนมาก

จากการพยายามสูบน้ำออกจากเรือแต่ไม่เป็นผล ทำให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ โดยเครื่องยนต์เรือด้านซ้ายเสียหาย จนสูญเสียการควบคุมใบจักร สุดท้ายน้ำท่วมในเรือทำให้ไฟฟ้าดับ ทำให้เรือลอยลำอยู่กลางทะเลในลักษณะเอียง

การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ ที่ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำนำ้ทะเลออกจากเรือ แต่ไม่สามารถทำได้ สำหรับการช่วยเหลือชีวิตลูกเรือจะมีเสื้อชูชีพ และแพชูชีพบรรจุกำลังพลได้เพียงพอ แต่เรือเริ่มเอียง และจมจากด้านท้ายเรือ ช่วงขณะเกิดเหตุทำให้เกิดความชุลมุนของกำลังพลบนเรือ

...

กำลังพลบางส่วนได้ลงเรือยาง แต่อีกบางส่วนได้พลัดตกลงไปในทะเล ขณะนั้นช่วยเหลือกำลังพลได้ 75 นาย สูญหาย 30 นาย ผู้บาดเจ็บบางส่วนได้รับผลกระทบริเวณศีรษะ จากนั้นมีการค้นหาผู้สูญหายที่เหลือ และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 5 นาย พบผู้สูญหายแล้ว 81 นาย อยู่ระหว่างการค้นหาอีก 24 นาย

หลังจากนี้กองทัพเรือ ยังดำเนินการค้นหาผู้สูญหายต่อไป โดยยังมีความหวังค้นพบผู้รอดชีวิต เพราะอย่างกรณีการค้นพบรายล่าสุด กำลังพลลอยคอห่างจากจุดเกิดเหตุมาแล้ว 41 ชั่วโมง แต่ยังพบว่ามีชีวิตอยู่ ดังนั้นกำลังพลนายอื่นๆ ที่สูญหายก็ยังมีความหวังอยู่


วิธีลอยคอเอาตัวรอดในทะเลลึก

“สหภพ กรินสูงเนิน” หัวหน้าชุดปฏิบัติการทางน้ำ มูลนิธิพุทธธรรมการกุศล หน่วยกู้ภัย ฮุก 31 วิเคราะห์เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย กับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนที่เรือหลวงสุโขทัย จะจมลงสู่ก้นทะเล อุปสรรคสำคัญเกิดจากคลื่นลมที่แรง มีผลต่อการทรงตัวในน้ำ แม้มีการสวมใส่เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง ขณะเดียวกันลักษณะเรือที่กำลังจม มีส่วนทำให้ลูกเรือหนีออกมาจากเรือได้ยาก

“การเอาตัวรอด หากต้องลอยคออยู่ในทะเล ต้องพยุงตัวด้วยปอด โดยการหายใจเข้าลึกๆ ให้ปอดขยายพองลม ทำให้สามารถพยุงตัวอยู่ท่ามกลางคลื่นที่รุนแรงได้ดีมากขึ้น และควรกางแขนให้อยู่ในท่าปลาดาว จะช่วยทำให้พยุงตัวอยู่ในคลื่นแรงได้ประมาณ 1 ชั่วโมง”

เหตุการณ์นี้จำเป็นต้องพยุงตัวให้ไหลไปตามคลื่น ไม่ควรออกแรงว่ายน้ำ เพราะยิ่งทำให้หมดแรง จนเหนื่อยและหมดสติกลางทะเล ส่วนปัจจัยอุณหภูมิของน้ำทะเลที่หนาวเย็นในเวลากลางคืน ถ้ายิ่งออกแรงว่ายจนเหนื่อยจะทำให้เกิดตะคริว และทำให้ควบคุมทิศทางการทรงตัวได้ลำบาก บางรายมีโอกาสจมน้ำทะเล เมื่อถูกคลื่นสูงมาปะทะได้

“ปกติการออกกำลังกายบนบก การเผาผลาญของร่างกายจะออกมาในรูปแบบของเหงื่อ แต่การออกกำลังกายในน้ำ อุณหภูมิของน้ำจะดูดเอาความร้อนจากร่างกายทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย ที่ผ่านมามีคนที่จมน้ำเสียชีวิตในลักษณะนี้หลายราย แม้จะสวมเสื้อชูชีพ”

อีกประเด็นสำคัญ หากออกแรงว่ายจะทำให้ใช้พลังงานมากกว่าปกติ ยิ่งทำให้ผู้ประสบภัยต้องการน้ำและอาหารมากกว่าเดิม ซึ่งสภาวะที่ลอยคออยู่กลางทะเลจะหาอาหารเพื่อประทังชีวิตยาก ขณะเดียวกันถ้าดื่มน้ำทะเลที่มีความเค็ม จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างเฉียบพลันได้

การทรงตัวในน้ำทะเลที่มีคลื่นสูง การออกแรงว่ายทวนกระแสคลื่นจะทำให้หมดแรง โดยการหมดแรงของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันด้วยสภาพร่างกาย แต่ในคนที่แข็งแรง จะว่ายน้ำทวนคลื่นได้ประมาณ 1 ชั่วโมง กรณีเรือหลวงสุโขทัย คาดว่ากำลังพลที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ได้ผ่านการฝึกจนเชี่ยวชาญในการเอาตัวรอดกลางทะเลทำให้รู้ถึงวิธีการเอาตัวรอด

อีกสิ่งสำคัญ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์เรือจม ต้องพยายามลอยคอเกาะกลุ่มกันไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหา เพราะผู้ที่ช่วยเหลือจะสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าการลอยคอกลางทะเลเพียงลำพัง

...

สำหรับการค้นหาผู้สูญหายต่อจากนี้ เจ้าหน้าที่จะแบ่งพื้นที่ในการค้นหาบริเวณที่เรือจม โดยจะไล่ไปตามพื้นที่ และต้องใช้เครื่องบินในการช่วยตามหา เพื่อมีทัศนวิสัยที่ไกลกว่า นอกจากนี้ต้องดูทิศทางลม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัดหาผู้สูญหายไปตามกระแสน้ำ

“ด้วยระยะเวลาของเรือที่จมมาหลายวัน คาดว่าผู้สูญหายน่าจะถูกคลื่นซัดไปไกลจากจุดเกิดเหตุ เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้คนทั่วไป ต้องใช้ความระมัดระวังระหว่างการลงเรือ และควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา” “สหภพ” สรุปทิ้งท้าย