การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2022 ซึ่งเวทีสำคัญของการประชุม “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือเอเปก 2022 (APEC 2022 Thailand) มีผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วม ถือเป็นเวทีที่ไทยในฐานะเจ้าภาพ คาดหวังในการผลักดันให้เกิดฉันทามติ รับรอง "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals)" ซึ่งไทยชูเรื่องเศรษฐกิจที่มีความความยั่งยืนมาเป็นจุดขาย ทั้ง "เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว" โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ที่ต้องขับเคลื่อน
1. การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
3. การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนและอนรักษ์ความหลาหลายทางชีวภาพ
4. การลดและบริหารจัดการของเสีย

โดย ร่าง "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG" ที่ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปกผลักดัน ถูกเสนอผ่านความเห็นชอบจากหลายเวที ตั้งแต่เวทีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปก มาจนถึง การประชุมรัฐมนตรีเอเปกเต็มคณะ ก่อนที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ จะลงฉันทามติรับรอง และจะเป็นการปิดฉากการประชุมเอเปก ครั้งที่ 29 ลงอย่างเป็นทางการ   

คำถามที่ตามมาก็คือ ไทยในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดฉันทามตินี้ จะมีแนวทางไหน? ที่จะทำให้ไทยและประเทศสมาชิกเอเปก สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงในภูมิภาค เพื่อไม่ให้ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เป็นแค่แผ่นเอกสาร ที่ถูกบันทึกเป็นมรดกหลังจากการประชุมจบลงเท่านั้น “ฟังมุมมองการวิเคราะห์เรื่องนี้ จาก รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย”

...

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

"ไทยต้องทำให้เกิด NEW APEC ยุคใหม่ ที่เราจะเดินไปด้วยกันอย่างจริงจัง เพราะตลอด 33 ปี ที่มีการเริ่มประชุมเอเปก ก็ถูกดูแคลนว่า เป็นการประชุมที่ไม่ได้ช่วยทำให้เกิดอะไรขึ้น เป็นการประชุมกันเฉยๆ แล้วก็หายไป" เป็นคำพูดที่ "รศ.ดร.อัทธ์" กล่าวกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ไทยควรทำในฐานะเจ้าภาพ ให้ต่างจากการประชุมเอเปกในอดีต 

"รศ.ดร.อัทธ์" ให้มุมมองเริ่มต้นว่า แนวคิด "BCG" ถือว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคต ถ้ามองดูโดยเฉพาะในอาเซียน หลายประเทศก็มีแนวทางในการพัฒนา BCG อยู่เช่นกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็อาจเรียกไม่เหมือนกัน แต่สำหรับประเทศไทยของเราใช้ BCG 3 ตัว ทั้ง "เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว" แต่การที่ไทย จะผลักดันให้ เศรษฐกิจ BCG เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ต้องมีการขับเคลื่อนหลายมิติ  "รศ.ดร.อัทธ์" ยกมา 8 ข้อสำคัญ ที่หากว่าไทยสามารถเดินเกมตามนี้ได้ ก็มีโอกาสที่ "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จะถูกขับเคลื่อนให้เห็นผลลัพธ์ชัดเจน"

8 ข้อ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายกรุงเทพฯ

1. เมื่อไทยผลักดันเรื่อง เศรษฐกิจ BCG และเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ทำเรื่องนี้เช่นกัน ไทยควรผลักดันเรื่องของ Bangkok Goals ให้สามารถเชื่อมกับนโยบายของประเทศอาเซียนก่อน และต้องนำนโยบายของแต่ละประเทศมาเชื่อมกับเป้าหมายกรุงเทพฯ ผ่านทางการประชุมเอเปกให้ได้

2. ไทยต้องกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจ BCG เช่น อุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติ ที่มีการเชื่อมโยงทั้ง เกษตรและอุตสาหกรรม อีกตัวอย่างก็คือ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งทั้งโลกต้องการลดการใช้น้ำมันจากปิโตรเลียม น้ำมันปาล์มชีวภาพ ก็คือ ส่วนหนึ่งของ Bio-economy เราสามารถผลักดันเป็นให้เป็นต้นแบบได้

3. ต้องให้ความสำคัญกับ คาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการขายคาร์บอนเครดิต เช่น การขายคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารา 

4. สนับสนุนใการใช้พลังงานทางเลือก จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก

5. รัฐบาลในภูมิภาคนี้ ต้องเป็นผู้ซื้อหลักและเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมที่ใช้แนวคิด BCG

...

6. ต้องมีการจัดตั้งกองทุน BCG Fund เพื่อให้มีแหล่งทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมในภูมิภาค ไปสู่เป้าหมายของการเป็นอุตสาหกรรม BCG

7. สถาบันทางการเงินที่จะปล่อยกู้ ต้องเอาคำว่า "BCG" มาเป็นเกณฑ์ในการปล่อยกู้ ยกตัวอย่าง ถ้าหากมีภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ อยากพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ตามทิศทาง BCG ก็ควรจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น การให้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ หรือการได้รับวงเงินกู้มากกว่าปกติ

8. ให้สิทธิด้าน BOI หรือ สิทธิด้านการลงทุนเพื่อจูงใจ ควรให้สิทธิอุตสาหกรรมที่ดำเนินการตามแนวทาง BCG ได้รับสิทธิมากเป็นพิเศษ

"ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ไทยควรสร้างแนวทาง โมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนเอเปก"

ต้องปิดจุดอ่อนของการประชุมเอเปก ที่มักพูดถึงเรื่องของฉันทามติ แต่จะต้องเป็น "นิวเอเปก (NEW APEC) ที่หลังจากมี ฉันทามติแล้ว และมีการปฏิบัติ (Take Action) เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการประชุมเอเปกในครั้งถัดไป ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ก็จะมีการพูดคุยเรื่องอื่นต่อไป อาจทำให้ "Bangkok Goals" อาจจะหายไป

...

สหรัฐฯ-จีน กุญแจสำคัญขับเคลื่อน BCG

ในบรรดา 21 เขตเศรษฐกิจชาติเอเปก มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 80% ของเศรษฐกิจอยู่ที่จีนและสหรัฐฯ

ส่วนอีก 20% อยู่กับ 19 ประเทศที่เหลือ เพราะฉะนั้นหากอยากให้ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG บรรลุเป้าหมาย ต้องให้ จีน กับ สหรัฐฯ ลงมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน เพราะประเทศอันดับต้นๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดก็คือ จีนและสหรัฐฯ ทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีบทบาทและต้องมีเงินทุน ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้อีก 19 ประเทศ ไปสู่เป้าหมาย BCG ให้ได้

“เศรษฐกิจ BCG ถือเป็นแนวการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคต ซึ่งทั้งโลกจะต้องไปในทิศทางนี้แน่ๆ ทั้งสหรัฐฯ-จีน ต้องเป็นตัวนำในการตั้งกองทุน BCG”

แต่สิ่งที่นาห่วงก็คือ ประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เวทีเอเปกเดินได้ช้า และหลายประเด็นก็ไม่ถูกขับเคลื่อนต่อ แม้ต่อหน้าทั้ง 2 ประเทศนี้จะคุยกันด้วยดี แต่ลับหลังก็เล่นกันทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

...

ต้องมีกลไกติดตามผลเพื่อบรรลุ "เป้าหมายกรุงเทพฯ"

ในแต่ครั้งของการประชุม "เอเปก" 33 ปีที่ผ่านมา มีการประชุมตามหัวข้อ (Theme) แล้วก็หายไป เราไม่เคยกลับไปประเมินเลย ว่าหัวข้อที่มีการประชุมกันในแต่ละปี ที่หลายประเทศเป็นเจ้าภาพ มีความคืบหน้าไปถึงไหน?  ประสบความสำเร็จ หรือมีจุดอ่อน จุดที่ไม่สามารถผ่านไปได้อย่างไร? ไทยควรใช้โอกาสนี้ ในการตั้งคณะกรรมการ เพื่อคอยติดตามประเด็นที่พูดคุยกันไว้ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกแล้ว

แน่นอนว่าไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกครั้งนี้ ก็ควรจะเป็นประธาน ตั้งข้าราชการแต่ละกรมที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องมาเข้าร่วม และดึงเอาประเทศสมาชิกเอเปกเข้ามาเป็นกรรมการในแต่ละเรื่องที่ต้องการติดตาม จากนั้นต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น ก่อนจะถึงการประชุมเอเปกครั้งหน้า ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ มีเรื่องไหนที่คณะกรรมการต้องติดตามความคืบหน้า แล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้นตามเป้าหมายอย่างไร? รวมทั้งต้องมีโรดแม็ปที่ชัดเจน เมื่อถึงการประชุมเอเปกครั้งหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งคาดกันว่าประเด็นหลัก ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ BCG เรื่องของความยั่งยืน เรื่องของสภาพภูมิอากาศ ก็นำเอาประเด็นที่คณะกรรมติดตามไว้ไปสานต่อในเวทีเอเปกครั้งหน้า

"รศ.ดร.อัทธ์" กล่าวในตอนท้ายว่า "เป้าหมายกรุงเทพฯ" อาจจะไม่ได้สำเร็จภายใน 1 ปี แต่จะเป็นฐานสำคัญให้กับเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปีถัดๆ ไป ในการทำให้มันสำเร็จ  ขณะเดียวกัน สาระสำคัญของ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG อาจจะทำให้เอเปกเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็ม การประชุมสำคัญอื่นๆ เช่น การประชุมการค้าเสรี FTA ประชุม COP27 ให้ถึงเป้าหมายได้

"ถ้าไทยผลักดันเศรษฐกิจ BCG ได้สำเร็จ การประชุมเอเปกก็จะมีเสน่ห์ มากกว่าการประชุม 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องใช้บทบาทในฐานะเจ้าภาพครั้งนี้นำไปสู่ NEW APEC เพื่อให้เกิดขับเคลื่อนในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก อย่างจริงจัง"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง