อะไรคือ "จุดขาย" และ "จุดเด่น" ที่รัฐบาลไทยควรหยิบฉวยเพื่อนำเสนอในฐานะเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ บ้าง ในวันนี้ "เรา" มี ข้อเสนอแนะจาก รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย ที่อยากฝากถึง "รัฐบาลไทย"
...
โอกาสสำคัญในการนำเสนอประเทศไทย :
“สิ่งที่ประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด ในการจัดประชุมเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) คือ การทำประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ส่วนในประเด็นอื่นๆ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะมีมรรคมีผลอะไรมากมายนัก นั่นเป็นเพราะเอเปก เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เป็นเรื่องของเจตนารมย์ เป็นเรื่องของความสมัครใจ เพราะฉะนั้นยิ่งมีผู้นำในระดับโลกมากันมากเท่าไหร่ ภาษาชาวบ้านเขาก็คงเรียกว่า เราก็คงตีปิ๊ปได้ดังมากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำระดับโลกมากันไม่มากนัก การตีปิ๊ปของเรามันก็คงแผ่วลง”
ประเด็นหลักที่ไทยควรนำเสนอต่อชาวโลก :
ในความเห็นส่วนตัว คิดว่า ประเด็นที่รัฐบาลไทยพยายามนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสมดุลเรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renevable Energy) ซึ่งจะมีการนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว นั้น แม้จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากเป็นการนำเสนอที่ใกล้เคียงกับการประชุมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ COP27 ซึ่งถือเป็นเวทีในระดับนานาชาติที่พูดประเด็นเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว
ทำให้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า จริงๆแล้ว รัฐบาลไทยน่าจะใช้โอกาสครั้งสำคัญนี้ ในการนำเสนอประเด็นที่เป็น “จุดขาย” มากกว่านี้ เช่น ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย พร้อมกับนำเสนอวิธีการที่จะนำพาชาวโลกไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมากกว่า
การนำเสนอประเทศไทย ในเวทีประชุมเอเปก :
“จุดเด่นสำคัญของประเทศไทย คือ ที่ตั้งของเราไม่อยู่ในจุดที่ล่อแหลมต่อความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์”
รัฐบาลไทยควรพยายามนำเสนอเรื่องข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เป็นแนวโน้มเรื่องนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC , โครงการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า , บริการด้านสุขภาพ และ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของประเทศในเวลานี้ เพื่อให้ นักลงทุนต่างชาติได้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน เข้ามาท่องเที่ยว หรือ แม้กระทั่ง เข้ามาใช้บริการเรื่องสุขภาพ เพราะทั้งหมดนี้คือ “จุดเด่น” ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก
...
“นี่คือโอกาสสำคัญที่ รัฐบาลไทยต้องพยายามตอกย้ำเรื่องจุดเด่นทั้ง 3 เรื่อง คือ ภาคการลงทุน ท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ ให้ปรากฏแก่สายตานักลงทุนต่างชาติให้ได้มากที่สุด”
สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ในสายตานักลงทุน นั้น ที่ตั้งของประเทศไทยถือเป็นจุดที่ไม่ล่อแหลมมากนักต่อความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ฉะนั้น ในแง่ของการลงทุนจึงเป็นจุดที่เหมาะสมมากๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่างชาติ คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยมากๆว่าจะใช้การประชุมเอเปกครั้งนี้ สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้ดีมากน้อยเพียงใดด้วย
ปัญหาความขัดแย้ง กับ การประชุมเอเปก :
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้โลกได้แบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายกันอย่างชัดเจนแล้ว ฉะนั้น การประชุมเอเปกในประเทศไทยครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้น”
ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ การประชุมรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติเอเปก เมื่อเร็วๆนี้ ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมออกมา ทั้งๆที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ควรสามารถพูดคุยกันได้ และนี่คือ ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดว่า ชาติมหาอำนาจที่เข้ามาร่วมประชุมเอเปก กำลังแข่งขันกันเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในการบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ ซึ่งการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยก็คงหนีจากการที่ประเทศมหาอำนาจ จะพยายามใช้เวทีเอเปกเพื่อนำเสนอประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกันนี้ได้ยากเช่นกัน
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง