การประชุมเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (APEC) ครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจและประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะได้อะไรจากการประชุมในครั้งนี้ รวมไปจนกระทั่งถึง บทบาทของรัฐบาลไทยภายใต้โลกที่ร้อนระอุจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นมากขึ้นทุกที ควรวางตัวอย่างไร ทั้งหมดนี้ มีคำตอบจาก "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

"รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

เอเปก 2022 :

“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การประชุมเอเปกครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อาจไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจเท่าใดนักในสายตาของขาวโลก สาเหตุเป็นเพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง APEC เมื่อปี 1989 จนถึงทุกวันนี้ ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งยังไปไม่ถึงไหน” รศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นการสนทนา กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

...

อย่างไรก็ดีในอีกด้านหนึ่ง หากมองในกรอบของสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ยังคงมีความสำคัญโดยเฉพาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่คือ ข้อที่ 1 เป็นอีกหนึ่งตัวเสริมสำคัญเพื่อเพิ่มเติมส่วนที่ขาดในการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และข้อที่ 2 มีการเปิดประเด็นไปสู่การลดอุปสรรคทางด้านการค้า การอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและทางเทคนิค ซึ่งถือเป็นการเพิ่มเติมในประเด็นความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเหนียวแน่นมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก

สาระสำคัญที่น่าจับตาในการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ :

ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีความพยายามผลักดัน 3 ประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ คือ...

1. เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) หมายถึงการเปิดกว้างทางการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรี

2. สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) หมายถึง หลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะมีการฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยผ่านการจัดตั้งกลไลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ

3. สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) หมายถึง การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไรผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

โดยในความเห็นส่วนตัวคิดว่าในข้อที่ 3 นี้ เป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจมาก เพราะจะมีการพูดถึงคือ 1.การสร้างความสมดุลในเชิงของเพศ ซึ่งจะมีการส่งเสริมสิทธิสตรีผ่านการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth)

2. การสร้างสมดุลเรื่องพลังงานหมุนเวียน (Renevable Energy) ซึ่งจะมีการนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาปรับใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตถรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

3.การสร้างสมดุลด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งจะมีส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล

4.การสร้างสมดุลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งในประเด็นนี้ “บราซิล” คงกลายเป็นจุดสนใจไปโดยปริยายเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าอเมซอนซึ่งถือเป็นปอดของชาวโลก หายไปแล้วถึง 1 ใน 4

...

สิ่งที่ประเทศไทยจะได้จากการประชุมเอเปก :

1. ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ในความเป็นจริงประเทศไทยอยู่ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมปี 2564 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีหลายสิบครั้ง ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สำคัญๆอีก 3 ครั้ง และการจัดประชุมย่อยๆอีกหลายร้อยครั้งซึ่งในแต่ละครั้งมีทั้งผู้เข้าร่วมการประชุมและสื่อต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทยหลายพันหลายคน ด้วยเหตุนี้จึงเท่ากับเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาวโลกได้รู้จัก และยังทำให้เกิดการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆภายในประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และ ภูเก็ต อีกด้วย

2. การประชุมนอกกรอบ

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อปี 2002 การประชุมนอกกรอบเอเปกที่ประเทศเม็กซิโก ทำให้เกิด ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP มาแล้ว

ฉะนั้น รัฐบาลไทยจึงน่าจะใช้โอกาสในการประชุมนอกกรอบ พูดคุยในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆเพื่อหารือเรื่องกรอบการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และ ภาคการท่องเที่ยว

...

นัยยการเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมของผู้นำประเทศ :

“เรื่องนี้หากถามว่ามีไหม ก็คงต้องตอบตรงๆว่า มีครับ”

เหตุใด "ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง" ของจีน จึงเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย ยกเว้นการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่ประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้นำจีนต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนยินดีที่จะเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศที่เป็นมิตรรวมถึงต้องการแสดงบทบาทของจีนบนเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับประเทศไทยด้วย

ส่วนหากถามว่าเหตุใด "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน" จึงไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่ประเทศไทย ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า สาเหตุสำคัญของประเด็นนี้ น่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่พอใจกับการที่ไทย เลือกที่จะงดออกเสียง มติประณามรัสเซียเรื่องการผนวกดินแดนที่ยึดครองจากยูเครน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากนี้ อาจจะเป็นเพราะก่อนหน้าการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเพียงไม่กี่วัน ผู้นำสหรัฐฯจะได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่อยากพูดคุยด้วยมากที่สุดในเวลานี้ อย่าง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย (13-16 พ.ย.) อยู่แล้ว

...

เอเปก กับ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ :

“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะการจะดึงให้สหรัฐฯและรัสเซียมาพูดคุยกันเป็นเรี่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในเวลานี้”

ปัญหาสงครามยูเครน หรือ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าที่จะใช้เวทีเอเปกในการแก้ไขปัญหา เพราะในเวทีระดับองค์การสหประชาชาติเองก็ยังหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ยาก

นอกจากนี้ หากมองให้ลึกลงไป เพียงการเจรจาเพื่อทำเขตการค้าเสรีในเอเปก ซึ่งดำเนินความพยายามมาตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จคืบหน้าไปถึงไหนเลย เพราะการทำให้ทั้ง 21 ประเทศเห็นพ้องต้องกันนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้โดยง่าย

ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับ บทบาทเจ้าภาพเอเปก :

“เรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.เราวางตัวอย่างไร และ 2.เขามองว่าเราวางตัวอย่างไร ซึ่งหากจะให้มองเห็นภาพนี้ได้อย่างชัดเจน คือ ผมอาจพยายามวางตัวโดยการพูดคุยกับคุณดีมากๆเลย แต่บางทีผมอาจเผลอพูดอะไรไปโดยไม่ทันได้คิด อาจทำให้คุณเริ่มโกรธได้”

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ข้อเท็จจริง 2.การยอมรับ ซึ่งหากถามว่ารัฐบาลไทยในเวลากำลังทำอะไร ในแง่ข้อเท็จจริง คือ กำลังพยายามวางตัวในลักษณะที่เป็นกลาง ซึ่งคำว่าเป็นกลางในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการทิ้งระยะห่าง เพราะหากทิ้งระยะห่างนี้เราตายได้เลย เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่เอาเราแน่ๆ

เพราะฉะนั้น เราจึงวางตัวในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับทางด้านฝ่ายจีนรัสเซีย และทางด้านฝ่ายสหรัฐอเมริกา คือ “พูดง่ายๆว่ากำลังทำดีกับทุกฝ่าย” แต่แน่นอนว่า “การเล่นบททำดีกับทุกฝ่าย” อีกฝ่ายหนึ่งมองอย่างไร “เรื่องนี้คือคำถามที่สำคัญ” เพราะมันย่อมมีความเป็นไปได้ว่าอีกฝ่ายอาจตีความไปในทางตรงกันข้ามได้

และสำหรับในประเด็นนี้น่าจะตรงกับที่ "นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง" ของสิงค์โปร์ ได้เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร Foreign Affairs เมื่อ 2 ปีก่อน โดยระบุว่า อาเซียนและสิงค์โปร์กำลังเข้าสู่ภาวะที่ยากลำบากจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน เพราะภายใต้ความขัดแย้งนี้ หากเกิดวางตัวผิดพลาดไปใกล้ชิดอีกฝ่ายมากเกินไป จะต้องถูกเล่นงานจากอีกฝ่ายแน่นอน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ ก็ยังอยู่ภายใต้บริบทนี้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแต่จะวางตัวอย่างไร แต่มันต้องวางตัวแล้วทั้งสองฝ่ายเห็นว่าโอเคแล้วไหมด้วย และนี่คือ “โจทย์ที่ยากพอสมควรสำหรับรัฐบาลไทย” เพราะสถานการณ์ความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน กำลังบีบรัดให้ รัฐบาลไทยวางตัวยากขึ้นทุกทีๆ เพราะจีนเองก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลและมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับไทยสูงมาก ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯก็คืออภิมหาอำนาจ “ฉะนั้น ต่อจากนี้เป็นต้นไปในเรื่องของความขัดแย้ง การวางตัวของไทยจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่ใช่ง่ายๆเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง